สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี (กอจ.ปัตตานี) สำรวจประชากร “หญิงหม้ายมุสลิมะห์” ที่ตกเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวใน จ.ปัตตานี และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าสามีเสียชีวิตและถูกหย่าร้าง ถูกปล่อยให้เลี้ยงลูกโดยลำพัง มีสภาวะตกงาน และเจอพิษเศรษฐกิจรุมเร้าจำนวนมาก
สิ่งที่ กอจ.ทำ คือแบบสำแบบสำรวจหญิงหม้ายมุสลิมะห์ (Ibu tungal) ที่มีภูมิลำเนาใน จ.ปัตตานี ที่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และกำลังเลี้ยงดูบุตรด้วยตัวเอง บุตรกำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้การลงทะเบียนแบบออนไลน์ โดยแม่เลี้ยงเดี่ยวกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า และพิษโควิด อยู่ในอาการเครียดจำนวนมาก
วัตถุประสงค์ของการสำรวจก็เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว
จากข้อมูลโดยรวมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนเด็กกำพร้าไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ฉะนั้นแม่เลี้ยงเดี่ยวจึงมีจำนวนไม่น้อย
@@ ยอดลงทะเบียนรอบแรก 620 หญิงหม้าย
เมื่อปลายเดือน มี.ค.65 กอจ.ปัตตานีเชิญกลุ่มหญิงหม้ายที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 252 ราย มาร่วมเสวนาและรับฟังปัญหา พร้อมมอบปัจจัยเบื้องต้นก่อนรอมฏอน และส่วนที่เหลือหลังรายอฮัจญ์ปีนี้ด้วย โดยข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค.65 มีผู้ลงทะเบียนจำนวน 620 ราย
เกณฑ์การคัดเลือกหญิงหม้ายมุสลิมะห์ในพื้นที่ จ.ปัตตานี คือ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกกำลังเรียนในช่วงระดับอนุบาล-มหาวิทยาลัย การลงทะเบียนรอบแรกคือ 1.มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป สามีเสียชีวิต หรือหย่าร้าง จำนวน 195 คน, ไม่มีงานทำ จำนวน 56 คน, ให้ยายเลี้ยงหลาน ตัวเองเป็นโรคไต สามีทิ้ง จำนวน 2 คน, ลูกเรียนฮาฟิส (เรียนอัลกุรอาน) จำนวน 2 คน รวม 252 คน
@@ สามีตาย-หย่าร้าง ลูกสูงสุด 4 คน
สาเหตุของการเป็นหม้ายมากที่สุดเกิดจากสามีเสียชีวิต 64% หย่าร้าง 33.7% และสาเหตุอื่นๆ
มีอาชีพรับจ้างทั่วไป 49.7% อาชีพอิสระ 13.5% ที่เหลือคือไม่มีงานทำ, อาชีพเกษตรกร, รับราชการ, พนักงานบริษัท ตามลำดับ
เฉพาะ จ.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานีมีจำนวนหญิงหม้ายมากที่สุด 22.6% ตามมาด้วย อ.สายบุรี 18.2% อ.หนองจิก 13.1% ที่เหลือกระจายอยู่ในอำเภออื่นๆ
จำนวนบุตรที่มีสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มหญิงหม้ายมุสลิมะห์ คือ 2 คน 31.3% 3 คน 27.2% และ 4 คน 17.1%
กิจกรรมนี้มีการอบรม “บทบาทแม่เลี้ยงเดี่ยวกับการดูแลบุตรให้อบอุ่นเมื่อขาดผู้นำครอบครัว” โดยมีองค์กรและหน่วยงานที่ร่วมจัดกิจกรรม เช่น มูลนิธิคนช่วยคน, เครือข่ายอาสาสมัครอัสลาม, สภาเครือข่ายมนุษยธรรม, สำนักจุฬาราชมนตรี เป็นต้น
@@ ช่วยกลุ่มแรก 252 ราย ลูก 3-4 คน
นายซอลาฮุดดีน หะยียูโซะ เลขานุการ กอจ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการสำรวจแม่เลี้ยงเดี่ยวมุสลิมะห์จากการลงทะเบียนของ กอจ.ทั้งหมดจำนวน 620 คน เชิญอบมรมชุดแรกจำนวน 252 ราย เป็นคนที่มีลูกจำนวน 3 และ 4 คน และไม่มีงานทำ กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น
ดร.แวดือราแม มะมิงจิ ประธาน กอจ.ปัตตานี กล่าวว่า นับจากนี้ทาง กอจ.จะดูแลตลอด โดยมีองค์กรต่างๆ มาบริจาคและให้ความช่วยเหลือสม่ำเสมอ ซึ่ง กอจ.ปัตตานีช่วยอำนวยความสะดวกและจัดกิจกรรม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกของผู้หญิงที่เราช่วยเหลือเพื่อให้มีความเข้มแข็งในการดูแลลูกๆ ด้วยความอดทน และจะมีการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบต่อไป
“ส่วนที่เหลือคือคนที่มีลูกจำนวน 1 และ 2 คน จะให้การช่วยเหลือหลังรายอฮัจญ์ปีนี้ คำว่า ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ คือคนที่ดูแลลูกคนเดียวหลังจากสามีเสียชีวิตหรือหย่าร้างกันไป ใครที่มีลูกก็มาลงทะเบียนได้ เรามองทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ได้มองแค่ยากจนอย่างเดียว ข้าราชการหรือกลุ่มไหนก็ครอบคลุม สามารถลงทะเบียนได้หมด เพื่อเป็นกำลังใจในการเลี้ยงลูก ส่วนรายละเอียดในการแยกประเภทว่าสามีเสียชีวิตด้วยเหตุใดกำลังรวบรวมอยู่ ยังไม่สมบูรณ์เ พราะยังมีคนที่ยังไม่ลงทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง”
@@ ชีวิตจริง เจ็บจริง ของหญิงมุสลิมะห์
นางนะ เจ๊ะบราเฮง อายุ 53 ปี จากบ้านเกาะเปาะ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก สามีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมา 6 ปี มีลูกทั้งหมด 7 คน ลูกคนเล็กอายุ 11 ปี คนโตอายุ 30 ปี ทำงานที่มาเลเซีย เธอเลี้ยงลูกด้วยตัวเองมาตลอดหลังจากสามีเสียชีวิต โดยเธอประกอบอาชีพกรีดยาง ซึ่งมีอยู่ 2 ไร่ กรีดเสร็จก็ไปทำงานแกะหัวปลาที่แพอรุณ ในนิคมอุตสาหกรรมปัตตานีทุกวัน เพื่อหารายได้อีกทาง
“แกะหัวปลามา 4-5 ปี กรีดยางทุกวันที่กรีดได้เพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงลูก แต่ของแพงขึ้นทุกวัน เรามีรายได้เท่าเดิม เขาให้ความช่วยเหลือแค่ไหนก็พอใจ อยากให้มีต่อเนื่อง”
@@ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” อยู่ใต้ร่มเงาอัลลอฮ์
ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ อิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย บอกว่า งานนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นการรวมคนที่อัลลอฮ์ให้ความรักและความสำคัญ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่กับบรรดาแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังท่ามกลางสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง
“คนอ่อนแอมักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ส่งเสียงไปก็ไม่มีใครได้ยิน สังคมจะเผชิญความเลวร้ายมากขึ้น บางครอบครัวมีครบพ่อแม่ลูก แต่ลูกๆ อาจถูกละเลย เมื่อเด็กขาดความอบอุ่นทั้งพ่อและแม่ จะเกเรมากขึ้น เมื่อผู้หญิงมีรายได้มากขึ้นจะไม่เชื่อฟังสามี สถิติหย่าร้างมากขึ้นไม่ใช่สิ่งน่าแปลกใจ ผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่ต้องแสวงหาความยุติธรรม กอจ.ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของมุสลิมะห์ให้มากขึ้น ยิ่งเป็นมุสลิมะห์ที่เข้ารับอิสลาม เจอสามีไม่รับผิดชอบครอบครัว ใช้กำลังทำร้าย ยิ่งเลวร้าย มุสลิมเดิมมีหน้าที่นำเสนอความสวยงามของอิสลาม แนะนำให้เข้าใจความเป็นมุสลิม จะได้ไม่ต้องมีคำว่าโชคดีที่รู้จักอิสลามก่อนรู้จักมุสลิม”
ดร.วิสุทธิ์ บอกถึงคน 3 ประเภทที่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลลอฮ์ คือ
1.คนที่รักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างเครือญาติ อิสลามคือทางสายกลาง รักษาสัมพันธภาพในขอบเขตที่อิสลามกำหนด แม้ครอบครัวเดิมมิใช่มุสลิม
2.คนที่สามีเสียชีวิตหรือหย่าร้างโดยที่สามียังมีชีวิต เลี้ยงดูลูกตามลำพังจนเติบโตโดยไม่แต่งงาน
และ 3.คนที่เชิญคนมาทานอาหารโดยไม่เลือกกลุ่มคน
“โดยเฉพาะกลุ่ม 2 ที่มีจำนวนมากขึ้น ควรมีการดูแลกันตั้งแต่ในชุมชนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เดือนรอมฏอนก็ช่วยกันทีหนึ่ง แล้วไปช่วยอีกทีรอมฏอนปีหน้า กอจ.ปัตตานีเป็นตัวอย่างที่นำเข้าระบบออนไลน์เป็นที่แรกของเมืองไทย เพื่อการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การอดทนเลี้ยงลูกมีผลตอบแทนที่ไม่มีขีดจำกัด ไม่มีวันสูญเปล่า เด็กได้รู้จักทั้งสุขและทุกข์เพื่อเข้มแข็งต่ออุปสรรคเมื่อโตขึ้น มอบหมาย (ตะวักกัล) ต่ออัลลอฮ์เต็มความสามารถ”
@@ เมื่อผ่านความลำบาก จะได้มาซึ่งความง่าย
ด้าน ผศ.ดร.โรฮานา สาแม็ง จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี บอกถึงการปรับตัวของแม่เลี้ยงเดี่ยวในยุคโควิดว่า สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงรับได้ทุกบททดสอบ คือยกระดับนัฟซู (อารมณ์) ของตนเองสู่นัฟซูที่สันติ
“ในยุคที่เด็กและวัยรุ่นเสียคนง่ายมากจากเทคโนโลยีรอบตัว หากไม่มีอิหม่าน (ความศรัทธา) มาควบคุม การไม่ขาดละหมาด ห่างไกลจากสิ่งไม่ดี และจิตใจแข็งแรง จึงต้องมีทั้งแม่และลูก แม่เลี้ยงเดี่ยวคือคนที่ไม่มีที่ปรึกษา รับบททดสอบอยู่คนเดียว แต่แม่ทำได้ การเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพคือการพูดคุย (นาซีฮัต) บอกรักลูกบ่อยๆ พลังของการกอดสำคัญมากๆ”
“ให้แม่เป็นดั่งต้นไม้ที่ดี รากฐานมั่นคง แตกกิ่งก้านใบแผ่กว้าง ออกดอกผลทุกฤดู เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก เราไม่มีสามี แต่ก็ยังรักษาความดีของเรา ดูแลลูกให้เป็นประชาชาติที่ดี เป็นหน้าที่ของเรา ด้วยสูตรสำเร็จคือ เมื่อผ่านความลำบากจะได้มาซึ่งความง่ายดาย เมื่อว่างอีกงานก็ทำอีกงาน และทำให้สำเร็จ”