“ทีมข่าวอิศรา” เปิดรายละเอียดคำพิพากษาศาลปกครองยะลา ชี้ขาดประเด็นพิพาท “ฮิญาบอนุบาลปัตตานี” หลังผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมต่อสู้เรื่องนี้นาน 4 ปี ประเด็นพลิกคดีคือไม่พบหลักฐานคำสั่งเจ้าอาวาสวัดนพวงศารามห้ามนักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนา และที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนไม่ได้อยู่บนที่ธรณีสงฆ์ทั้งหมด
@@ อดีตผอ.อนุญาต - รร.กลับลำ - ศธ.แก้ระเบียบปิดช่อง
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย คดีหมายเลขดำที่ 9/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 17/2565 ระหว่างผู้ฟ้องคดี คือ ผู้ปกครองและนักเรียนรวม 20 คน กับผู้ถูกฟ้องคดี คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และโรงเรียนอนุบาลปัตตานี( ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ซึ่งศาลปกครองได้รับโอนมาจากศาลปกครองสงขลา
ในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คนเป็นนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานีที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เนื่องจากเดิมระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ให้สิทธินักเรียนทุกคนสามารถนำแนวปฏิบัติในการแต่งกายตามหลักการทางศาสนามาใช้ประกอบการแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามที่หนดได้ โดยมีผู้ปกครองผู้ฟ้องคดีบางรายร้องผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดปัตตานี ขอให้มีการอนุญาตให้นักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามสามารถแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามได้
ทางสำนักงานยุติธรรมจังหวัดปัตตานี ได้แจ้งผลการพิจารณามาในวันที่ 30 เม.ย.61 ว่า ที่ดินของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เป็นที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดนพวงศาราม การใช้พื้นที่ต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมวิถีพุทธ และกฎระเบียบของวัดและความยินยอมของเจ้าอาวาส ซึ่งทางเจ้าอาวาสขอให้การแต่งกายของนักเรียนเป็นไปตามขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมายาวนาน แต่โรงเรียนได้ให้มีสถานที่ละหมาดและทำพิธีได้ตามศาสนาของนักเรียนไทยมุสลิม
ในการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2561 ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานีในขณะนั้น ได้อนุญาตด้วยวาจาให้นักเรียนหญิงสวมฮิญาบ และนักเรียนชายสามารถสวมใส่กางเกงขายาวตามหลักศาสนาได้ โดยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมาทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 มิ.ย.61 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยข้อ 3 กำหนดให้ยกเลิกความในวรรคท้ายของข้อ 12 ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2561 และกำหนดให้นักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อาจเลือกแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามวรรคหนึ่งหรือตามแบบที่สถานศึกษากำหนดได้ตามความสมัครใจ ยกเว้นสถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา การแต่งเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา
ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้เห็นชอบให้โรงเรียนออกระเบียบว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ.2561 กำหนดให้การแต่งกายของนักเรียนจะต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561
และ ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานีได้มีหนังสือโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ที่ ศธ 14091.145/709 ลงวันที่ 17 ส.ค.61 ถึงผู้ปกครองนักเรียน ส่งระเบียบดังกล่าว รวมทั้งประกาศว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกาย บันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองและประกาศวัดนพวงศาราม เรื่อง ระเบียบปฏิบัติวัดนพวงศาราม ลงวันที่ 11 ก.ค.61 ให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบและดูแลให้นักเรียนปฏิบัติตาม โดยระเบียบข้างต้นกำหนดเครื่องแบบและการแต่งกายของนักเรียนที่ไม่เปิดช่องให้สามารถแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามได้ และได้กำหนดบทลงโทษและการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียนกรณีต่างๆ รวมทั้งกรณีฝ่าฝืนระเบียบไว้ด้วย
จากการออกระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานีฉบับดังกล่าว ทางโรงเรียนได้กล่าวตักเตือนด้วยวาจาแก่นักเรียนหญิงที่สวมฮิญาบ และให้นักเรียนลงลายมือชื่อรับทราบ ทำให้นักเรียนดังกล่าวมีความกังวลใจและสับสนต่อระเบียบของโรงเรียน ทั้งได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ เนื่องจากไม่เคยมีการแถลงข่าวว่า ยกเลิกการอนุญาตให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามหลักศาสนาออกสู่สาธารณะ
ทำให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ปกครองและนักเรียน ทำหนังสือ ลงวันที่ 17 ก.ย.61 รวม 3 ฉบับ ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานี และ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 เพื่ออุทธรณ์การออกระเบียบการแต่งกายของโรงเรียน ซึ่ง ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 24 ก.ย.61 แจ้งกลับมายังผู้ปกครองและนักเรียนว่า คณะกรรมการโรงเรียนและและวัดนพวงศารามมีความเห็นว่า ระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี มิได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2461 แต่อย่างใด
แต่ผู้ปกครองและนักเรียนทั้ง 20 คน เห็นว่า การออกระเบียบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากโรงเรียนเทศบาล 4 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ของวัดนพวงศารามเช่นเดียวกับโรงเรียนอนุบาลปัตตานีไม่ได้ห้ามนักเรียนสวมฮิญาบ
นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชการอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาและปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งดังนี้
@@ 2 ประเด็นขอศาลปกครองชี้ขาด
1.เพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ. 2561 อันเนื่องมาจากการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ที่แก้ไขและยกเลิกความในข้อ 12 วรรคสอง ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2561
2.ให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ออกระเบียบเครื่องแต่งกายสำหรับนักเรียนมุสลิมตามหลักศาสนาอิสลามและประกาศเป็นสาธารณะเพื่อการรับรู้รับทราบ และลดการดูแคลนจากประชาชนทั่วไป
ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวสำหรับนักเรียนมุสลิมชายและนักเรียนมุสลิมหญิงที่แต่งเครื่องแบบนักเรียนตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อชะลอการบังคับใช้ระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติการลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ.2561 จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ศาลปกครองสงขลามีคำสั่ง ลงวันที่ 29 ต.ค.61 ให้ทุเลาการบังคับตามระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานีดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
@@ ยื่นฟ้องเพิกถอนระเบียบ ศธ. เกินกำหนดเวลา
คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.61 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.61 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คนยื่นฟ้องคดีข้อหานี้ภายในระยะเวลาการฟ้องคดี หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎ ประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่า กฏไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะด้วยเหตุใด วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีย่อมต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือวันที่มีการประกาศโดยวิธีการอื่น และกฎนั้นมีผลใช้บังคับแล้ว
ฉะนั้น จึงถือว่าวันที่ 14 มิ.ย.61 เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คน รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ซึ่งต้องยื่นฟ้องคดี เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พศ.2561 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 14 มิ.ย.61 ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ภายในวันที่ 12 ก.ย.61 แต่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คน มาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 11 ต.ค.61 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ศาลจึงไม่อาจวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของกรณีตามฟ้องในข้อหานี้ได้
@@ อนุบาลปัตตานีออกระเบียบโดยชอบ
ประเด็นที่ 2 ระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้การแต่งกายของนักเรียนจะต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 อันมีสภาพเป็นกฎที่ออกโดยโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เป็นระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยกรณีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า โรงเรียนอนุบาลปัตตานี มีอำนาจในการออกระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ.2561 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โรงเรียนอนุบาลปัตตานี โดย ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานีในฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ได้ออกระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียนพ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการออกระเบียบเพื่อบริหารกิจการของสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการเพื่อใช้เป็นกรอบหรือเครื่องมือในการควบคุมดูแลความประพฤติของนักเรียนเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561
เนื่องจากโรงเรียนอนุบาลปัตตานีเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของวัดนพวงศาราม ตามหนังสือสัญญายืมที่ธรณีสงฆ์ วัดนพวงศาราม สร้างโรงเรียนอนุบาล ลงวันที่ 21 ก.พ.10 และเป็นระเบียบที่ออกมาใช้บังคับแก่นักเรียนของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีเพื่อให้นักเรียนได้ประพฤติปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียนอันเป็นการออกระเบียบตามความนัยมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จึงถือได้ว่า โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ออกระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมายในแง่ของกระบวนการและผู้มีอำนาจออกระเบียบ
ส่วนที่โรงเรียนกล่าวอ้างว่า ได้มีการว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คน และได้มีหนังสือโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ที่ ศ5 4091.145/6 880 ลงวันที่ 17 ต.ค.61 แจ้งกรณีกระทำผิดระเบียบของโรงเรียนไปยังผู้ปกครองของผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คน หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือแจ้งให้ผู้ปกครองทราบถึงพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดี มิได้เป็นหนังสือทำทัณฑ์บนหรือการตัดคะแนนหรือการลงโทษใดๆ ที่กระทบถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คนจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี และเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับนักเรียนในโรงเรียนอนุบาลปัตตานีทุกคน รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คนด้วย ที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี
@@ ผู้ฟ้องอ้างถูกจำกัดสิทธิ อยู่ในอำนาจศาลวินิจฉัย
แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนถูกจำกัดสิทธิในการแต่งเครื่องแบบจากผลของข้อบังคับตามระเบียบดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คนขอให้ศาลปกครองกำหนดคำบังคับโดยพิพากษาเพิกถอนระเบียบดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คน จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
@@ ไม่มีหลักฐานเจ้าอาวาสสั่งห้ามแต่งกายตามหลักศาสนา
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า ระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษและการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ.2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องแบบและการแต่งกายของนักเรียน ออกมาใช้บังคับโดยขัดต่อพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 หรือไม่
เห็นว่า การออกระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานีอันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 20 คน ไม่สามารถแต่งกายตามความเชื่อตามหลักศาสนาในสถานศึกษาได้ เนื่องจากโรงเรียนอนุบาลปัตตานีเป็นโรงเรียนที่ขอใช้ที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์จากวัดนพวงศาราม ตามหนังสือสัญญายืมที่ธรณีสงฆ์ที่ถือว่าเจ้าอาวาสเป็นตัวแทนวัด และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายการอนุญาตให้ดำเนินการใดๆ ในเขตวัด ตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสตามมาตรา 39 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประกอบกับมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.54 มติที่ 46/2554 ได้กำหนดแนวปฏิบัติของโรงเรียนในเขตวัดไว้ 4 ประการ ได้แก่
(1) โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ การใช้พื้นที่ต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีไทยและวิถีพุทธ และกฎระเบียบของวัด (2) ให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมในการพิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารของโรงเรียนหรือหน่วยราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ (3) ควรให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา หลักคุณธรรม จริยธรรมทุกระดับชั้น (4) โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดขอใช้พื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์จักต้องหารือและได้รับความยินยอมจากเจ้าอาวาส และคณะสงฆ์ผู้ปกครองทุกระดับจนถึงเจ้าคณะจังหวัดก่อน
แต่ด้วยสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในคดีคือ สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนขาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ด้วยหลักการแห่งกฎหมายนี้ เมื่อพิจารณาประกอบหนังสือสัญญายืมที่ธรณีสงฆ์เพื่อสร้างโรงเรียนที่อ้างเป็นเหตุต้องปฏิบัติจนนำไปสู่การออกระเบียบที่เป็นเหตุพิพาทแล้ว หนังสือสัญญายืมที่วัดนพวงศารามดังกล่าวระบุเพียงว่า ที่ดินของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง ได้ยินยอมให้ทางราชการก็ดี เอกชนก็ดีก่อสร้างหรือจัดผลประโยชน์ในที่ของวัด ให้เจ้าอาวาสมีอำนาจปกครองสอดส่องดูแลให้เป็นไปตามกฎ พระราชบัญญัติทุกๆ ประการตามสัญญา แต่ไม่ปรากฎข้อความหรือถ้อยคำใดที่กำหนดว่า เจ้าอาวาสมีอำนาจออกระเบียบห้ามนักเรียนของโรงเรียนอนุบาลแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามหลักการศาสนาที่ตนนับถือ
เมื่อไม่ปรากฏภายหลังการทำสัญญาว่าเจ้าอาวาสวัดนพวงศารามได้เคยสั่งการหรืออ้างข้อสัญญาให้ ผอ.โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ห้ามนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามหลักศาสนาของตนมาก่อน อันจะถือได้ว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงที่คู่สัญญาได้ปฏิบัติต่อกันต่อๆ มาหลังทำสัญญา ถือว่ามีช่องว่างของข้อสัญญา จึงต้องแปลความไปในทางสุจริตและปรกติประเพณีเกี่ยวกับสิทธิในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของผู้ยืมรวมทั้งวัตถุประสงค์ในการยืมนั้นเป็นสำคัญ หากคู่สัญญามีเจตนาที่จะห้ามนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามแต่งกายตามความเชื่อตามหลักศาสนาของตนในสถานศึกษา คู่สัญญาย่อมจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนตั้งแต่ทำสัญญายืมใช้สถานที่ดังกล่าว
@@ ที่ตั้งโรงเรียนไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ทั้งหมด
นอกจากนั้นพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีตามข้อเท็จจริงปัจจุบันประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วนประกอบกัน คือ 1.เป็นที่ดินที่ธรณีสงฆ์ 2.เป็นที่ดินที่มีผู้บริจาค และ 3.เป็นที่ดินที่โรงเรียนจัดซื้อเพิ่มเติม ไม่ได้เป็นโรงเรียนที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ทั้งหมด จึงเห็นว่า โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่มีหน้าที่ผูกพันตามข้อสัญญาที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อจำกัดสิทธิในการแต่งกายของนักเรียนตามข้อเสนอแนะของเจ้าอาวาสวัดนพวงศารามตามที่นำมาอ้างเป็นเหตุในการออกระเบียบที่พิพาทนี้
ต่อข้อถกเถียงที่อาจจะมีว่า การที่โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสิทธิพิเศษแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามความเชื่อของตนให้แตกต่างจากนักเรียนคนอื่นได้ ย่อมเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักความเป็นกลางทางศาสนานั้น เห็นว่า โรงเรียนในฐานะหน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติต่อพลเมืองของตนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือศาสนาใด ให้ทุกศาสนาสามารถปฏิบัติหรือแต่งกายตามระเบียบร่วมกันภายใต้การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ตราบใดที่การแสดงออกเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนานั้นยังอยู่ในกรอบของกฎหมายก็ต้องเคารพถึงสิทธิของกันและกัน
พิพากษาเพิกถอนระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ.2561 หมวดที่ 3 ว่าด้วยการแต่งเครื่องแบบและการแต่งกายของนักเรียนในส่วนที่มิได้กำหนดลักษณะเครื่องแบบและการแต่งกายตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลามได้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ลงนามในระเบียบดังกล่าวโดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนอนุบาลปัตตานี คำขออื่นให้ยก