เดือนรอมฎอน หรือ เดือนแห่งการถือศีลอด เป็นเดือนที่พี่น้องมุสลิมต้องปรับเวลาชีวิต โดยเฉพาะเวลาในการรับประทานอาหาร
เพราะไม่สามารถรับอาหารและน้ำได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก
แต่กิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตยังคงเหมือนเดิม หรือเกือบเหมือนเดิม ทั้งกิจการงานต่างๆ และการเล่าเรียน
นี่เองจึงเป็นสาเหตุให้ห้วงเดือนรอมฎอนมีเมนูอาหารมากมายที่ขายกันเฉพาะในเดือนนี้เท่านั้น ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเมนูอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานสำหรับละศีลอดและรับประทานก่อนรุ่งเช้า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่สะดวกในการประกอบอาหาร หรือออกหาซื้อวัตถุดิบมานั่งทำ
เดือนรอมฎอนปีที่แล้ว “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับร้าน “นกกระทาอบโอ่ง” ฝีมืออาสาสมัครมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร สะบ้าย้อย ตั้งขายกันริมถนนสายหลักสะบ้าย้อย-กาบัง บ้านคอลอมุดอ หมู่ 1 ต.จะแหน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
ผู้คนที่ได้รับรู้เรื่องราวพากันตื่นตาตื่นใจ และไปแวะเวียนหาชิม เพราะโดยมากรู้จักกันแต่ “ไก่อบโอ่ง”
ร้านของอาสาสมัครมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ได้รับความนิยมอย่างสูง ยอดขายพุ่งไปถึงวันละ 200 ตัว ทำรายได้งาม จากที่คิดจะทำกันเล่นๆ เลยต้องคิดใหม่ ถึงขั้นวางแผนทำฟาร์มนกกระทากันเลยทีเดียว
รอมฎอนปีนี้เมนู “นกกระทา” ยังมีมาให้ชิม แต่เป็นคนละร้านกับปีที่แล้ว และเปลี่ยนรูปแบบเป็น “นกกระทาย่าง” เปิดขายบริเวณปากซอยสิโรรส 8 ในเขตเทศบาลนครยะลา
ทางร้านย่างกันสดๆ ริมทาง ติดเตากันตั้งแต่บ่าย 2 โมง จากนั้นก็เริ่มย่าง ทำให้ควันไฟจากการย่างและกลิ่นโชยจากเนื้อนกกระทาเล่นไฟ เตะจมูกยั่วน้ำลายคนที่ผ่านไปมา อดใจไม่ไหวต้องจอดรถแวะซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน
ร้าน “นกกระทาย่าง” แห่งนี้ เป็นร้านแรกของ จ.ยะลา ลูกค้ามีทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่น ส่วนใหญ่ซื้อไปเพื่อเตรียมการละศีลอด (เปิดบวช) ในช่วงค่ำของทุกวัน
ลูกค้าหลายคนไปยืนดูพ่อค้าย่างนกด้วย เพราะดูได้เพลินๆ ทำให้ช่วยเจริญอาหาร พ่อค้านำนกกระทาที่หมักเอาไว้เสียบกับเหล็กย่าง วางบนเตาไฟ ใช้ไฟกลาง พลิกไปพลิกมาคล้ายๆ ไก่กอและ รอแค่ 15-20 นาทีก็สุกหอมกรุ่น
เมื่อนกสุก และมีลูกค้าสั่ง พ่อค้าก็จะนำนกกระทาออกจากเหล็กย่าง วางบนเขียงแล้วสับๆๆ ใส่ห่อ พร้อมน้ำจิ้ม ราคาขายตัวละ 35 บาท 3 ตัวร้อย
ซอลาฮุดดิน สุหลง เจ้าของร้านวัย 38 ปี ซึ่งเป็นชาวยะลา เล่าว่า ตัดสินใจขายนกกระทาย่าง เพราะในย่านชุมชนตลาดเก่ายังไม่มีใครขาย โดยสูตรเด็ดของทางร้านเป็นสูตรเฉพาะ ไม่เหมือนใคร
“นกกระทาของเราเน้นที่การหมัก เพราะว่าใช้เครื่องเทศหมักผสมกัน แล้วก็หมักนานถึง 14 ชั่วโมง ทำให้เครื่องเทศซึมเข้าไปในเนื้อของนกกระทา เวลาย่างจึงมีกลิ่นหอม และเมื่อได้ลิ้มชิมรสก็จะยิ่งอร่อย เพราะเครื่องเทศเข้าเนื้อ”
ซอลาฮุดดิน แย้มให้ฟังว่า แต่ละวันที่ร้านขายนกกระทาย่างได้ประมาณ 200 ตัว ทำรายได้ขั้นต่ำวันละ 6-7 พันบาท
ทีมข่าวคำนวณเล่นๆ ช่วงเดือนรอมฎอนเดือนเดียว ร้านนกกระทาย่างน่าจะทำรายได้ร่วมๆ 2 แสนบาทรวมทุน โดยต้นทุนนกระทาตัวละ 10 บาท และยังมีค่าเครื่องเทศสำหรับหมัก เตาย่าง และถ่านไฟอีกจำนวนหนึ่ง จัดว่ากำไรงามทีเดียว
สำหรับ “นกกระทา” หลายคนรู้จักในชื่อ “นกคุ่ม” ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า นกกระทามีลักษณะเหมือนไก่ขนาดเล็ก ตัวป้อมๆ สั้นๆ ปีกและหางสั้น บินได้ระยะใกล้ๆ คล้ายไก่ มักหาเมล็ดพืชและแมลงตามพื้นดินกินเป็นอาหาร “นกกระทา” เป็นนกที่คนนิยมเลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อและไข่ ในประเทศไทยก็มีการทำฟาร์มเลี้ยงนกกระทา ทั้งเพื่อขายเนื้อและไข่ ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจประเภทหนึ่ง