เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นหมื่นครั้ง
จึงไม่แปลกหากหลายคนจำไม่ได้แล้วว่า เหยื่อกระสุนมีคนระดับสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.รวมอยู่ด้วย
ผู้เคราะห์ร้ายคือ นายฟัครุดดีน บอตอ ส.ว.นราธิวาส และยังเป็นเจ้าของโรงเรียนดารุสสาลาม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังของ อ.ระแงะ
เหตุเกิดช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 ส.ค.49 บริเวณใกล้ๆ หน้าโรงเรียนที่เขาเป็นเจ้าของ ริมถนนเทศบาล 8 ในเขตเทศบาลตำบลตันหยงมัส ซึ่งเป็นพื้นที่เขตชุมชนเมือง ไม่ใช่ดินแดนชนบทห่างไกล แต่คนร้ายก็ยิงเขาได้อย่างอุกอาจ รถจักรยานยนต์ล้มคว่ำ
อาวุธปืนที่คนร้ายใช้ เป็นปืนสั้นขนาด 11 ม.ม. กระสุนเจาะเข้าที่ต้นคอด้านขวา ทะลุแก้มซ้าย อาการสาหัส
เหตุร้ายผ่านมากว่า 15 ปี นายฟัครุดดีน จากอายุ 52 ขณะเกิดเหตุ วันนี้อายุ 67 ปี เขาไม่ได้เผชิญแค่ผลพวงจากความรุนแรงที่ทำให้เขาเดินไม่ได้ กลายเป็นคนพิการเท่านั้น แต่คดีความของเขาก็แทบไม่คืบหน้าเลย
@@ เนิ่นนานบนศาลทหาร...
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการจับกุมมือปืน ซึ่งเป็น “ทหารประจำการ” ทำให้คดีของเขาต้องขึ้นศาลทหาร และใช้เวลาพิจารณาคดียาวนานมาก นับตั้งแต่เกิดเหตุก็ 15 ปีแล้ว คดีเพิ่งผ่านศาลชั้นต้น ซึ่งศาลยกฟ้อง ทำให้ ฟัครุดดีน ยื่นอุทธรณ์ เฉพาะชั้นอุทธรณ์ก็ 5 ปี และทุกอย่างก็เงียบหายไป
“ผมฝากรัฐบาลให้ช่วยติดตามคดีนี้ด้วยว่าไปถึงไหนแล้ว ทำไมอุทธรณ์มาหลายปีเหลือเกิน ผมจำได้ 4-5 ปีแล้วที่อุทธรณ์ คดีเงียบหายเลย” ฟัครุดดีน บอกด้วยน้ำเสียงทดท้อ
เขาย้อนอดีตให้ฟังว่า ตั้งแต่โดนยิงจนถึงวันนี้ นานกว่า 15 ปี เกือบจะ 16 ปีแล้ว เดิมทีไม่ได้ติดใจอะไรที่คดีต้องขึ้นศาลทหาร แต่ระยะหลังรู้สึกว่าต้องคิดแล้ว เพราะการพิจารณามันยาวนานเหลือเกิน คิดเฉพาะตั้งแต่ยื่นอุทธรณ์ก็ 4-5 ปีที่ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย
“ผมก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันนานเหลือเกิน จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลให้ช่วยติดตาม และอยากขอให้ศาลอุทธรณ์ช่วยพิจารณาคดีผมให้เร็วด้วย อย่าให้ถึง 20 ปีเลย มันจะเป็นประวัติศาสตร์”
ความทุกข์ทรมานของ ฟัครุดดีน ไม่ใช่แค่ที่เขากลายเป็นเหยื่อต้องถูกยิงปางตายเท่านั้น แต่เขาต้องกลายเป็นคนพิการ ขยับเขยื้อนตัวแทบไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นเกือบตลอดเวลา ซ้ำยังต้องรอการพิจารณาคดีที่ยาวนานเกินไป
“ผมเจ็บปวดมาก ต้องใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ ต้องเลี้ยงลูกด้วยสภาพอย่างนี้ โชคดีที่ลูกคนโตได้ดอกเตอร์แล้ว คนที่สองสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย คนที่สามเป็นพยาบาล คนที่สี่และคนที่ห้ากำลังเรียนแพทย์ ผมต้องช่วยตัวเองตลอด ราชการไม่มีเข้ามาเยี่ยมหรือเข้ามาช่วยอะไรเลย”
@@ แก้ธรรมนูญศาลทหาร...
ชะตากรรมของ ฟัครุดดีน ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายในสภา เมื่อต้นเดือน ก.พ.65 ระหว่างเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ เพื่อให้คดีที่ทหารกระทำผิดต่อพลเรือน ต้องขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ขึ้นศาลทหาร เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกิจการของกองทัพ โดยในการอภิปราย ส.ส.นราธิวาส ได้ยกตัวอย่างคดียิง นายฟัครุคดีน บอตอ
“อดีต ส.ว.ฟัครุดดีน ถูกลอบยิงบาดเจ็บขณะขี่รถจักรยานยนต์ออกไปทานน้ำชาที่ตลาดตันหยงมัส อ.ระแงะ ท้ายที่สุดมีการจับผู้กระทำความผิด 1 คน เป็นพลทหาร แต่ต้องนำตัวไปดำเนินคดีในศาลทหาร ตั้งอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี”
“ปรากฏว่าในคดีนั้น ส.ว.ฟัครุดดีน ในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นพลเรือน จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ไม่ได้ เพราะธรรมนูญศาลทหารห้ามไว้ จึงเสียสิทธิในการที่จะตั้งทนายความว่าความเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการทหาร ทั้งๆ ที่เป็นผู้เสียหาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทุกวันนี้ยังต้องนั่งรถเข็น ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ”
“ผ่านมาแล้ว 15 ปี ซึ่งคดีน่าจะจบไปแล้ว แต่เชื่อไหมครับ ขึ้นศาลทหารกระบวนการพิจารณาในชั้นต้นใช้เวลา 7-8 ปีโดยประมาณ ถ้าเป็นศาลพลเรือน การพิจารณาคดีอย่างช้า 1 ปีในศาลชั้นต้น แต่คดีที่มีการจับกุมพี่น้องประชาชน แล้วตั้งข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาคดีไม่เกิน 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีไม่เกิน 7-8 เดือน แต่คดีของท่านฟัครุดดีน ใช้เวลาในศาลทหารนานมาก สุดท้ายศาลยกฟ้อง หลังจากที่ศาลทหารยกฟ้อง คดีก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ของศาลทหาร ถึงปี 2565 ยังไม่ลงมาเลยว่าตัดสินอย่างไร” ส.ส.นราธิวาส อภิปรายตอนหนึ่งในสภา
@@ ความเป็นธรรมหล่นหาย...
การขับเคลื่อนให้แก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ ทำให้ ส.ว.ฟัครุดดีน ฝากขอบคุณพรรคประชาชาติที่ได้ติดตามเรื่อง และนำไปอภิปรายในสภา เพราะคดีของเขาถือเป็นคดีตัวอย่างของคำกล่าวที่ว่า “ความล่าช้า คือความอยุติธรรม”
“เวลาประชาชนมีปัญหาเพราะทหาร ทำไมต้องขึ้นศาลทหาร ทำไมไม่ให้ขึ้นศาลปกติ ไม่มีความเป็นธรรมเลย มันเป็นปัญหาบ้านเรา เพราะคนที่มาแก้ปัญหาไม่มีความเข้าใจปัญหา มันจึงทำให้อดีตและปัจจุบัน มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นเสมอที่นี่ ถ้าประชาชนสู้กับเจ้าหน้าที่ น้อยมากที่จะชนะ “
“อย่างคดีของผม ผมแปลกใจมาก ขึ้นศาลทหาร จำเลยใส่ชุดทหาร ผู้พิพากษาใส่ชุดทหารเหมือนกัน แล้วมาตัดสินประชาชน ผมเลยอุทธรณ์เพื่อหาความเป็นธรรมให้ตัวเอง”
@@ ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง ไฟใต้ไร้แววดับ...
นายฟัครุดดีน ระบายความในใจถึงปัญหาภาพรวมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
“ปัญหาที่นี่เกิดจากความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ลองดูที่ จ.นราธิวาส บนสะพานยังมีด่านเลย ในเมืองนราธิวาส ที่สี่แยกเจาะไอร้อง สี่แยกยังมีด่าน ทหารเต็ม ที่ตันหยงมัส อ.ระแงะ ตั้งด่านหน้าวัดเลย หน้า อบต. หน้าโรงเรียน มีด่านทหาร ทำไมหน้าวัดต้องมีด่านทหารด้วย ทำไมบนสะพานต้องมีทหารอยู่ แสดงว่าไม่มีความเข้าใจ แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ตรงที่มีปัญหาไม่แก้ ไปแก้ตรงไม่มีปัญหา จะไปจับใครบนสะพาน”
“ฝากถึงรัฐบาลช่วยแก้ปัญหานี้ด้วย นี่คือปัญหา มันไม่ใช่ปัญหาโจรหรอก แต่เป็นปัญหาเจ้าหน้าที่ที่ไม่เข้าใจปัญหา จริงๆ แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยตรัสสอนไว้ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ คือแนวทางที่ถูกต้องและสามารถใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ได้ดีที่สุด แต่เจ้าหน้าที่ที่ลงมาทำงาน เข้าใจหรือไม่...ไม่เข้าใจเลย เข้าถึงมั้ย...ไม่เข้าถึงปัญหาเลย แค่สามอย่างนี้ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พอแล้วที่จะแก้ปัญหาที่นี่”
“การละเมิดสิทธิ์ประชาชนในพื้นที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด ไม่มีน้อยลงเลย ประชาชนถูกกระทำตลอด อยากฝากถึงรัฐบาลลงมาช่วยแก้ปัญหานี้ด้วย ทุกคดีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดนี้ ปัญหานี้ใครจะแก้ ผมไปศาลปัตตานี ไปเจอกัยการ เขาร้องไห้สงสารผม บอกว่าอาจารย์เป็นคนดี คนที่ยิงเขายิงอาจารย์ทำไม”
“ผมบอกว่า ถ้าอยากรู้รายละเอียดเรื่องนี้ต้องถาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (อดีตรองผู้บังคับการกองปราบ และอดีตอธิบดีดีเอสไอ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ) ท่านเป็นคนจับจำเลย เป็นทหาร ตอนนี้เห็นว่าไปเป็นภารโรงที่ไหนสักแห่ง หลังจากออกจากทหารไปเป็นภารโรง ก็ขอให้รัฐบาลช่วยลงมาดูแลเรื่องนี้ด้วย ช่วยติดตามคดีนี้ด้วยว่าไปถึงไหนแล้ว ทำไมอุทธรณ์หลายปีเหลือเกิน คดีเงียบไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย”
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ดังจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสุดท้ายอาจกลายเป็นแค่เสียงก้องที่ค่อยๆ แผ่วเบา และเงียบหายไปอีกครา...