กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนเฝ้าระวัง 8 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันสภาพอากาศหนาวฉับพลัน ไม่ใช่ปรากฏการณ์ Polar Vortex หรือ “กระแสลมวนขั้วโลก” ตามที่มีกระแสตื่นกลัว การันตีไม่ถึงไทยแน่นอน
วันจันทร์ที่ 4 เม.ย.65 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 8/ 2565 เรื่องการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉบับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระบุว่า จากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงวันที่ 4 –7 เม.ย.65 พบว่า อิทธิพลของลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกหนักสะสม 3 วัน มากกว่า 150 มิลลิเมตรในหลายพื้นที่ จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 5- 8 เม.ย.65
ทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ฝนตกหนักสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงเคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล
3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
4.ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบ เตรียมความพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
@@ กรมอุตุฯ ยืนยันหนาวฉับพลันไม่เกี่ยว Polar Vortex
อีกเรื่องหนึ่งที่มีการวิจารณ์กันอย่างหนาหู ก็คือปรากฏการณ์อุณหภูมิในทุกภูมิภาคของประเทศไทยลดลง ทั้งที่เป็นช่วงฤดูร้อนเดือน เม.ย. โดยมีหลายฝ่ายสงสัยว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ Polar Vortex หรือ "กระแสลมวนขั้วโลก" เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศหรือไม่ เช่น ปรากฏการณ์หิมะตกในเขตร้อน เป็นต้น
ว่าที่ ร.ต.ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายเรื่องนี้ว่า กระแสลมวนขั้วโลกจะเกิดขึ้นทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะขั้วโลกเหนือ อากาศจะหมุนวนรอบแกนของโลก เป็นลักษณะคลื่น อยู่ประมาณ 4 ลูกคลื่นใหญ่ แต่ด้วยโลกเอียงและหมุนรอบตัวเอง ทำให้คลื่นอากาศหมุนไป ก็จะย้อนมาเขตละติจูดกลาง ไม่ได้อยู่เฉพาะบริเวณขั้วโลกอย่างเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศทวีปยุโรป จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา
โดยผลกระทบของคลื่นอากาศตัวนี้ยังไม่ถึงประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาติดเรื่องของความสูงลักษณะพื้นที่ เช่น ที่ราบสูงทิเบต หรือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเคลื่อนย้ายไปทางที่ราบของจีนตะวันออกและเข้าสู่ทางญี่ปุ่นและไปสหรัฐอเมริกา จึงทำให้อุณหภูมิติดลบได้ ยืนยันว่า ปรากฏการณ์ Polar Vortex จากขั้วโลกมาสู่ประเทศไทยโดยตรงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่จะหนุนให้ความกดอากาศอากาศสูงจากประเทศจีน ทำให้อากาศกระเพื่อมขึ้น ตรงจุดนี้อาจจะมีส่วน แต่อากาศลงมาโดยตรงไม่มีอย่างแน่นอน
ส่วนอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็วในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 25 มี.ค.59 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ 2-3 วันเท่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่า อุณหภูมิลดลง 5-7 องศาในภาคอีสาน ซึ่งมีตัวการ คือ หย่อมความกดอากาศต่ำในบริเวณอ่าวไทยที่ทำให้มวลอากาศเย็นลงมาเร็วขึ้น ถ้าลักษณะอากาศในฤดูร้อนเกิดการปะทะกับอากาศเย็น ก็จะเกิดเป็นพายุฤดูร้อนได้ ทำให้มีลมกระโชกแรง มีฝนตก ลูกเห็บตก ฟ้าผ่าร่วมด้วย
ส่วนภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อุณหภูมิก็ลดลง แต่ไม่เท่ากับทางภาคอีสาน และในวันนี้ (4 เม.ย.) มวลอากาศเย็นลูกนี้เริ่มอ่อนกำลังลง อุณหภูมิในไทยเริ่มสูงขึ้น ซึ่งภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน อากาศยังคงเย็นในช่วงเช้าจนถึงวันที่ 6 เม.ย. หลังจากนั้นอากาศก็จะร้อนขึ้นเหมือนเดิม และจะสะสมความร้อนเกิดเป็นพายุฤดูร้อนขึ้น และอากาศก็อาจจะเย็นลงอีก ส่วนภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทำให้ลมที่พัดพาดผ่านอ่าวไทย ซึ่งเป็นลมเย็น ก็จะทำให้มีฝนตกในพื้นที่เพิ่มขึ้น