เด้งฟ้าผ่า! นายอำเภอรามัน ยะลา ช่วยราชการกรมการปกครอง เผยเหตุถูกร้องเรียนปมงบข้าวกล่องผู้ป่วยโควิด แถมถูกกล่าวหาอมเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ – อส. หลังมีกำลังพลยิงตัวตาย ด้านกำนัน –ผู้ใหญ่บ้าน โวยถูกบังคับให้ลงชื่อในหนังสือยื่นผู้ว่าฯ สนับสนุนนายอำเภออยู่ต่อ
วันพฤหัสบดีที่ 24 มี.ค.65 นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง มีคำสั่งกรมการปกครองที่ 554/2565 เรื่อง ให้ข้าราชการช่วยราชการ ระบุว่า เพื่อประโยชน์ของทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงให้ นายณัฎฐ์กร บุญโรภาคย์ ตำแหน่ง นายอำเภอ (ผู้อำนวยการสูง) อ.รามัน จ.ยะลา ไปช่วยราชการที่กรมการปกครอง โดยมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ที่วิทยาลัยการปกครอง เป็นการประจำ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.65 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของทีมข่าว พบว่า คำสั่งย้าย สืบเนื่องจากในพื้นที่ อ.รามัน มีการร้องเรียนจากชาวบ้านในเรื่องของข้าวกล่องสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่สัมผัสเสี่ยง ทั้งที่กักตัวอยู่ที่บ้านและในโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งการร้องเรียนในประเด็นอมเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ อส. (อาสารักษาดินแดน) จนคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่ อส.รายหนึ่ง เกิดอาการเครียด และยิงตัวเองต่อหน้าลูก
นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อวันพุธที่ 23 มี.ค. มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากถูกข้าราชการบางรายบังคับให้ลงชื่อในหนังสือที่มีเนื้อหาสนับสนุนให้ข้าราชการรายนั้นทำหน้าที่ใน อ.รามัน ต่อไป และมีบุคคลบังคับให้ไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อให้กำลังใจนายอำเภอรามัน กรณีถูกร้องเรียนด้วย
ชาวบ้านในพื้นที่ อ.รามัน เล่าว่า เห็นด้วยกับคำสั่งย้าย จะได้เปิดทางให้มีการสอบสวนเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่มีการร้องเรียน โดยเฉพาะงบประมาณเกี่ยวกับโควิด
เจ้าหน้าที่ อส.รายหนึ่งใน อ.รามัน กล่าวว่า เรื่องอมเบี้ยเลี้ยง อส. คนที่ยิงตัวเองตายนั้น หากดูในรายละเอียดทางบัญชี ดูเหมือนไม่ผิดปกติ แต่สิ่งที่ปรากฎชัดคือ ค่าเบี้ยเลี้ยง ไม่มีแสดงในข้อมูลการโอนเงินเข้าบัญชี สิ่งที่ปรากฎจะมีค่าตอบแทน เงินเพิ่มค่าครองชีพ (พคช.) เงินค่าเสี่ยงภัย (สปพ.) ส่วนค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าสเบียงสนาม จะไม่ปรากฎในเอกสารทางบัญชีธนาคาร
โดยเงินค่าตอบแทนจะไม่ปรากฎการโอนเข้าบัญชีในชื่อ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งมี อส.เป็นหัวหน้าชุด) โดยตรง แต่มีการนำเงินสดไปให้และให้ไม่ครบจำนวนหรือยอดที่ต้องได้รับ
นอกจากนั้นในหลักฐานบันทึกปากคำ (ปค.14 ) ที่มีการสอบสวน อส. ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) กรณีรับค่าตอบแทนครบถ้วนหรือไม่ ปรากฏว่ามีกำนันลงนามรับรองเพียงคนเดียว แต่กำนันอีก 15 ตำบล ไม่มีใครรับรองว่าส่งเงินให้ครบถ้วน (อ.รามัน มี 16 ตำบล 88 หมู่บ้าน)
“มีกำนันรายหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนสนิทของนายอำเภอ เซ็นรับรองให้นายตัวเองอยู่คนเดียว เป็นเรื่องตลกหรือไม่ เมื่อวานกำนันคนนี้ก็ไปยื่นเรื่องให้กำลังใจนายอำเภอ บอกว่าคนรามันรักเขา แต่จริงๆ แล้วในพื้นที่อยากให้ตรวจสอบ ทั้งเบี้ยเลี้ยกำลังพล และเบี้ยโควิด รวมถึงอีกหลายรายการที่กำลังดังในพื้นที่” เจ้าหน้าที่ อส. กล่าว