ปัตตานีเปิดสถานที่ดูดวงจันทร์แห่งใหม่ 7 จุด ชวนพี่น้องมุสลิมร่วมดูพระจันทร์ 2 เม.ย. กำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ขณะที่ชาวบ้านบ่นช่วงถือศิลอดข้าวของแพง ทั้งเจอโควิดซ้ำ ทำกระทบการประกอบศาสนกิจ
วันพุธที่ 23 มี.ค.65 นายซอลาฮุดดีน หะยียูโซ๊ะ เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้การดูดวงจันทร์ตามคำประกาศจุฬาราชมนตรีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะรับทราบข่าวการดูดวงจันทร์จาก “หอชมดวงจันทร์” บนภูเขาปาเระ (บูเก๊ะปาเระ) จาก อ.ยะหา จ.ยะลา เพียงแห่งเดียว แต่สำหรับในปีนี้การแจ้งผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน และวันที่ 1 เดือนเซาวาล (สิ้นสุดเดือนรอมฎอน) ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อการดูดวงจันทร์เอาไว้ถึง 7 แห่ง ประกอบด้วย
1.บนเขาน้ำตกทรายขาว หมู่ 2 ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
2.บนเขาช้างคลาน หมู่ 2 ต.ลูโบะยีโร อ.มายอ จ.ปัตตานี
3.แหลมตาซี (บ้านบูดี) หมู่ 2 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
4.เขาบางมะรวด หมู่ 2 ต.บางมะรวด อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
5.เขาสลินดงบายู เทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
6.สกายวอล์ค หอกระโดด สวนสมเด็จฯ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากเทศบาลเมืองปัตตานี
7.เขาบูโด บ้านเจาะกะพ้อ ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
โดยได้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบเป็นคณะกรรมการดูดวงจันทร์ ตามหนังสือคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี คำสั่งที่ 2/2565 ลงวันที่ 21 มี.ค.65 ไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อดูดวงจันทร์ ดังนี้
1.นายอาลี มะลี เป็นประธาน
2.นายมะมุง สามะ รองประธาน
3.นายมูหัมมัดเฟาชี ดอเลาะ กรรมการ
4.นายอับดุลมูไฮมีน สาและ กรรมการ
5.นายนิมาน อีซอ กรรมการ
6.นายอิสมาแอล อาแวกะจิ กรรมการ
7.นายดอเลาะ กานิง กรรมการ
8.นายมูหามะ กาเร็ง กรรมการ
9.นายเจะนูยี มะ กรรมการและเลขานุการ
10.นายฮัมมะปูซี ดัมแม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จะเสริมความรู้การดูดวงจันทร์ ด้วยการจัดอบรม “วิชาฟะลัก”ให้กับอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น กรรมการอิสลามประจำมัสยิด และผู้สนใจในวันที่ 30 มี.ค.65
สำหรับวันดูดวงจันทร์ในวันเสาร์ที่ 2 เม.ย. ตามประกาศจุฬาราชมนตรีนั้น คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ทั้ง 7 จุดว่าสามารถมองเห็นได้หรือไม่ ในเวลา 17.30 น. จนถึงเวลามักริบ เพื่อเป็นการแจ้งผลการดูดวงจันทร์ไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี ส่วนการประกาศกำหนดวันนั้น ขอให้ชาวไทยมุสลิมทุกท่านรอการประกาศแจ้งอย่างเป็นทางการโดยจุฬาราชมนตรี
@@ โควิดยาว - ข้าวของแพง ชาวบ้านถือศีลอดก่อนรอมฎอน
สำหรับเทศกาลถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีนี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อ 4 วันย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 20–23 มี.ค.65 ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหมด 14,112 คน เสียชีวิต 17 ราย โดยนักวิชาการคาดการณ์ว่า ในเดือน เม.ย.นี้ การแพร่ระบาดจะลดลง
ขณะเดียวกัน การถือศีลอดของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ยังต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจสินค้าทุกชนิดแห่กันขึ้นราคา จนทำประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ต่างกังวลว่าอาจกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจและการละศีลอดในแต่ละวัน (จัดเตรียมอาหารสำหรับเปิดปอซอ และลดศีลอด) จึงได้เตรียมวางแผนการประหยัดเท่าที่จะทำได้ และลดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงวอนรัฐบาลให้ช่วยประชาชน
นางรอมมือละ บูงอ อายุ 58 ปี ชาว จ.ยะลา กล่าวว่า ตอนนี้ก็ถือศีลอดอยู่ เพราะต้องประหยัด สินค้าทุกชนิดแพงมาก ราคาพุ่งสูงขึ้นทุกอย่าง โควิดก็หนัก แถมยังทำงานยากอีก ทางที่ดีที่ทำได้ตอนนี้คือให้คนในครอบครัวถือศีลอด จนถึงรอมฎอนก็ถือศีลอดต่อ การถือศีลอดดีที่สุด ประหยัดสุดๆ ไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็น เก็บเงินที่มีให้ลูกที่ยังเล็กได้กินขนม ลูกคนโตคุยรู้เรื่องก็ให้ถือศีลอดไปก่อน
“ทำแบบนี้นอกจากได้บุญแล้ว เราประหยัดได้ดีด้วย ไม่มีเงินก็ไม่ซื้อ ถือศีลอด เราก็ไม่ต้องกิน ง่ายนิดเดียว แต่ถ้าจะให้ดี ขอให้รัฐบาลหาคนเก่งมาแก้ปัญหานี้ด้วย อย่างน้อยก็ให้ความสนใจชาวบ้านบ้าง ทุกวันนี้โครงการต่างๆ ที่จะมาหาประชาชน ไม่ถึงประชาชน แค่ช่วยนายทุนทั้งนั้น”
นางรอมมือละ บอกต่อว่า สิ่งที่กลัวนอกจากเรื่องกิน คือ ถ้าโควิดระบาดหนักในเดือนหน้านี้ อาจกระทบต่อการไปละหมาดตาราเวี๊ยะอีก (ละหมาดที่มัสยิดในช่วงค่ำของเดือนรอมฎอน) เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก
นายหะยีเต๊ะ ดุลดอมะ ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า ชาวบ้านเจอโควิดก็หนักมากแล้ว มาเจอของราคาแพงอีก หมดทางหนีเลย ของแพงทุกอย่าง คือมันแพงจนน่าเกลียด ขึ้นราคาไม่สนใจชาวบ้านเลย เมื่อก่อนเงิน 100 บาท ซื้อกับข้าวกินกัน 1 วัน เราคนครอบครัวใหญ่ 7 คน ประหยัดๆ ก็พออยู่ได้ แต่ทุกวันนี้ 100 บาท พอแค่ซื้อไข่ ซื้อมาม่า ไม่รู้จะกินอะไรแล้ว รายได้รับจ้างกรีดยางวันละ 130 บาท ต้องทนกับของราคาแพงแบบนี้อีกนานแค่ไหน
“ปอซอนี้ ก็คงต้องกินตามมีตามเกิด มีก็กิน ไม่มีก็อด ของมันแพงจริงๆ แต่โดยปกติเดือนรอมฎอนจะมีผู้ใจบุญบริจาค ก็พอได้กินของดีๆ บ้าง ก็หวังว่าโควิดและสินค้าราคาสูงไม่ทำให้คนหยุดบริจาค เพราะการบริจาคและการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนนี้สำคัญ ขออย่าให้กระทบเลย”
นางกายะ สาและ แม่ค้าขายปลาแห้งในตลาด จ.ปัตตานี กล่าวว่า ของแพงจนอายที่จะขาย สงสารชาวบ้าน เพราะเราก็เป็นชาวบ้าน เดี๋ยวนี้ลูกค้าน้อยมากที่จะซื้อปลาเป็นกิโลฯ ตอนนี้ซื้อทีละตัวสองตัว เคยถามลูกค้าที่สนิทๆ ว่า ซื้อปลา 2 ตัวจะพอกินหรือ เขาบอกว่าปลาให้ลูกคนเล็กกิน ส่วนคนอื่นๆ หาผักต้มทำแกงจืดเอา ทุกวันนี้มีข้าวสารหุงก็บุญแล้ว บางวันเขาบอกว่า ต้องต้มข้าวกิน เพราะไม่มีอะไรให้กิน ปอซอนี้คงต้องอดทน กินเท่าที่มี ก็น่าจะผ่านไปด้วยดี