สถานการณ์ของท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ไม่ใช่แค่ไม่มีเที่ยวบินมาลง เพราะสายการบินนกแอร์ทำแผนการตลาดผิดพลาดเท่านั้น แต่ล่าสุดยังพบปัญหาใหม่ คือไม่มีงบประมาณอุดหนุนในการเปิดให้บริการสนามบินเลยด้วยซ้ำ
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รับเอกสารซึ่งเป็นหนังสือราชการที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารงานท่าอากาศยานเบตง ให้กับกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการเปิดใช้และให้บริการสนามบินเบตง
หนังสือฉบับนี้ลงวันที่ 16 มี.ค.65 ลงนามโดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 วันหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ “ดอนเมือง - เบตง - ดอนเมือง” ซึ่งถือเป็นการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.65
หนังสือฉบับนี้เท้าความไปยังต้นเรื่อง เมื่อวันที่ 13 ม.ค.65 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการ สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายให้กรมท่าอากาศยาน สำหรับเปิดให้บริการสนามบินเบตงในช่วง 2 ปีแรก คือ ปี 2565 กับปี 2566 ในกรอบวงเงินไม่เกิน 19 ล้านบาท หรือปีละ 9.5 ล้านบาท
โดยในปีแรกให้กรมท่าอากาศยานใช้งบของหน่วยงานตัวเอง โดยปรับแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่าย หากไม่พอให้ขอรับการสนับสนุน “งบกลาง” ส่วนปีต่อไปให้กรมท่าอากาศยานจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
ต่อมา กรมท่าอากาศยานได้มีหนังสือประสานมายัง ศอ.บต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ กพต. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ วงเงิน 19 ล้นบาท เนื่องจากกรมท่าอากาศยานไม่สามารถเจียดจ่ายงบจากกองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานได้ เพราะได้มีแผนงาน โครงการ และกิจกรรมรองรับไว้ครบถ้วนแล้ว
เมื่อเรื่องราวเป็นเช่นนี้ ศอ.บต.จึงทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุน “งบกลาง” สำนักนายกรัฐมนตรี หรืองบประมาณจากแหล่งอื่นใด เพื่อให้กรมท่าอากาศยานดำเนินการเปิดใช้บริการสนามบินเบตงในช่วง 2 ปีแรกได้ต่อไป
ขณะเดียวกัน ศอ.บต.ได้ทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ทำหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปยังผู้อำนวยการสำนักงบประมาณด้วย พร้อมทั้งรายงานให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐนมตรี ในฐานะประธาน กพต. ให้ทราบและพิจารณาผลักดันอีกทางหนึ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ และเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าสนามบินแห่งนี้ยังไม่มีงบประมาณดำเนินการ และยังไม่ชัดว่า จะหางบมาจากแหล่งใด
สำหรับสนามบินเบตง ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 58 ใช้งบประมาณราว 1,900 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 62 แต่ก็ไม่สามารถเปิดทำการบินได้ กระทั่งนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเป็นประธานในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.65 แต่หลังจากนั้นทางสายการบินนกแอร์ก็ยกเลิกไฟลท์บินทั้งหมด จากที่เคยวางไว้สัปดาห์ละ 3 ไฟลท์ ราคาค่าตั๋วมากกว่า 3,000 บาทต่อเที่ยว
อำเภอเบตง เป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล ที่ต้งการยกระดับการพัฒนาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ เมืองแห่งอาหาร เมืองแห่งพลังงาน และเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และเป็นเมืองที่สามารถส่งผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังอำเภอข้างเคียงในพื้นที่ จ.ยะลาได้ต่อไป
@@ เพื่อไทยฉะรัฐบาลหัวแข็ง เตือนแล้วไม่ฟัง
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาสนามบินเบตง และไฟลท์บินที่ถูกยกเลิกทั้งหมดว่า การลงทุนสร้างสนามบินเบตง 1,900 ล้านบาท อนุมัติโครงการในยุครัฐบาล คสช. รวมไปถึงการตัดสินใจจัดงานเพื่อเริ่มเปิดใช้สนามบินในช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ทักท้วงหลายครั้ง แต่รัฐบาลไม่เคยฟัง ทำหูทวนลม หรือจริงๆ แล้วรัฐบาลคาดหวังเพียงได้ใช้เงินงบประมาณไปกับการลงทุนเพื่อสร้างภาพและรักษาหน้าตาของตัวรัฐบาลเองกันแน่
เพราะเหตุผลเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้อำเภอเบตงที่นำมาชี้แจงนั้น ก็ไร้ซึ่งการวางแผนแม่บทส่งเสริมการท่องเที่ยว การลงทุน หรือการเตรียมการร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม
นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์เคยยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ผ่านกรมท่าอากาศยาน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.63 โดยมีข้อเรียกร้องเพื่อบรรเทาต้นทุน 7 ข้อ แลกเปลี่ยนกับการยอมเปิดเส้นทางบินตามความต้องการของรัฐบาล ประกอบด้วย การสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าการตลาด ค่าธรรมเนียมการบิน ค่าบริการภาคพื้นสนามบิน ค่าบริการเติมน้ำมัน เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการประกันจำนวนผู้โดยสารจากรัฐ (Hard Block) จำนวน 60-75% ของจำนวนความจุผู้โดยสาร
ข้อเสนอเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า การเปิดการบินลงสนามบินเบตงเป็นการทำธุรกิจที่ขาดทุนมาตั้งแต่ต้น
@@ แนะเร่งหารือเอกชน อย่าปล่อยตามยถากรรม
“รัฐบาลควรนำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่สักว่าจะเปิดสนามบินแล้วปล่อยทิ้งตามยถากรรม เพราะเมื่อสนามบินเปิดใช้แล้ว ย่อมมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้รัฐเร่งหารือกับเอกชน ทั้งภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจน การใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสายการบินเป็นแนวทางที่ทำได้ แต่ต้องสามารถอธิบายมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะคืนกลับมาภายใต้โครงการเดียวกันได้ด้วย” นายชนินทร์ กล่าว
รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ทิ้งท้ายอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลิกบริหารประเทศตามยถากรรม หรือตอบประชาชนว่าถ้าเปิดประเทศได้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง หยุดมโนว่าเปิดแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่ไม่มีการคาดการณ์ตัวเลขความคุ้มทุนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ เลย การลงทุนที่ไม่มีแผนแม่บทรองรับ หรือขาดการประสานความร่วมมือของภาคส่วนอื่นๆ ย่อมไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลตามที่หวังไว้
อย่าให้ประชาชนต้องตำหนิเลยว่า สนามบินเบตง 1,900 ล้านสร้างขึ้นมาเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำพิธีเปิดสนามบิน บินได้ไฟลท์เดียวแล้วปิดสนามเลย เห็นแก่เงินภาษีประชาชนบ้าง
@@ กรุ๊ปทัวร์เหมารถแห่เที่ยวเบตงคึกคัก ไม่ง้อไฟลท์บิน
วันเดียวกัน ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา แม้จะยังไม่มีการเปิดเที่ยวบินสำหรับประชาชนทั่วไปสายการบินนกแอร์ แต่บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่ยังคงมีความคึกคัก เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยรถตู้โดยสารเหมาแบบ “กรุ๊ปทัวร์” มาเป็นหมู่คณะ และแบบครอบครัวจากกรุงเทพฯ เข้ามาท่องเที่ยวใน อ.เบตง ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีนักท่องเที่ยววันละนับพันคน
ทั้งยังได้มีการจองโปรแกรมท่องเที่ยวกับผู้ประกอบการอย่างคึกคัก ทั้งรถนำเที่ยวท้องถิ่นแบบเช้าไป-เย็นกลับ และพักค้างคืนตามรีสอร์ตต่างๆ เพื่อสัมผัสธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้บรรยากาศในตัวเมืองเบตง โดยเฉพาะจุดเช็กอิน ไม่ว่าจะเป็นตู้ไปรษณีย์ยักษ์ สัญลักษณ์ประจำเมืองเบตง รวมไปถึงร้านอาหารต่างๆ อย่างบักกุ๊ดเต๋เบตง อาหารจีนดั้งเดิม มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมเยือนและถ่ายรูปเช็กอินกันอย่างเนืองแน่น
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า เดินทางจากกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. แวะเที่ยวมาเรื่อยๆ ระหว่างทางจอดแวะถ่ายรูปบริเวณสะพานข้ามเขื่อนบางลาง บริเวณบ้านคอกช้าง อ.ธารโต และตลอดเส้นทางมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกก และดูแลความปลอดภัย จึงไม่อันตรายอย่างที่คิด
สำหรับสะพานข้ามเขื่อนบางลาง สร้างขึ้นมาเพื่อย่นระยะทางในการเดินทางจากเดิมที่จะต้องเลาะไปตามไหล่เขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ยะลา–เบตง เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะพักถ่ายรูปและยืดเส้นยืดสายก่อนจะเดินทางต่อ อ.เบตง