พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความเตือนภัยและเรียกร้องความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มออนไลน์ หลังเกิดกรณีลวงแบล็กเมล์นักเรียนชายวัยอยากลองรัก จนตัดสินใจฆ่าตัวเอง
@@ เหยื่อออนไลน์
1.นักเรียนชายชั้น ม.5 อายุเพียง 17 ปี ต้องมาจบชีวิตด้วยการยิงตัวเอง โดยเชื่อว่ามีแรงจูงใจมาจากการถูกข่มขู่ให้ผู้เสียชีวิตโอนเงินให้กับคนร้ายแลกกับการไม่นำคลิปวิดีโอลับของผู้เสียชีวิตไปเผยแพร่ จนกระทั่งเป็นสาเหตุให้ผู้เสียชีวิตคิดสั้นลงมือก่อเหตุยิงตัวเอง
2.การสืบสวนพบว่าในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ ได้มีเพื่อนของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ชายแต่ปลอมโพรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย ด้วยการนำภาพของผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาพูดคุยกับผู้ตายในเชิงชู้สาวหลายครั้ง ก่อนที่เพื่อนชายคนดังกล่าวได้หลอกลวง ด้วยการให้ผู้ตายสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองผ่านวิดีโอคอล จากนั้นได้อัดคลิปเอาไว้เป็นหลักฐาน
3.มีการโทรศัพท์มาข่มขู่เพื่อแลกกับการไม่ให้เปิดเผยภาพวิดีโอลับ ผู้ตายจึงเกิดความอับอาย และได้ขโมยเงินทางบ้าน เพื่อโอนเงินไปให้เพื่อนชายที่ใช้โพรไฟล์ปลอมมาหลอกจำนวนหลายสิบครั้ง จนกระทั่งผู้ตายเกิดความเครียดจนถึงขั้นขโมยอาวุธปืนพ่อมายิงตัวตาย
4.เหตุสลดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของการแบล็กเมล์ซึ่งเคยอยู่ในรูปของจดหมาย โทรศัพท์ จนกระทั่งใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการแบล็กเมล์ แสดงให้เห็นว่าการแบล็กเมล์ยังเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยแต่ใช้เครื่องมือในรูปแบบที่เปลี่ยนไป
@@ 3 ขั้นตอนลวง-แบล็กเมล์
5.ผู้ก่อเหตุใช้ขั้นตอนของการแบล็กเมล์ ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน
5.1 ปลอมตัวตนในโซเชียลมีเดีย (Social Media Masquerade) เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่าผู้ที่ติดต่อด้วยคือผู้หญิง เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการหลอกล่อลำดับถัดไป
5.2 ใช้กลอุบายหลอกล่อให้เกิดกิจกรรมทางเพศกับตัวตนปลอม จนถึงขั้นให้ผู้ตายสำเร็จความใคร่และบันทึกภาพเอาไว้ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการโน้มน้าวให้เหยื่อหลงเชื่อ ชักชวนให้เหยื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนเหยื่อตายใจและตกหลุมพรางในที่สุด
5.3 เป็นขั้นตอนของการแบล็กเมล์ ซึ่งผู้ก่อเหตุจะใช้วิธีโทรศัพท์ข่มขู่เพื่อที่จะเปิดเผยข้อมูลลับของเหยื่อที่บันทึกไว้เพื่อให้เกิดความอับอาย วิธีการนี้มักเรียกกันว่า Doxing ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นการเปิดเผยชื่อบุคคล ที่อยู่ สถานะทางการเงิน รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ของเหยื่อสู่สาธารณะ ซึ่งในกรณีนี้คือข้อมูลภาพของเหยื่อที่ได้มีการบันทึกไว้ อันจะสร้างความเสียหายหรือความอับอายให้กับเหยื่อ
6. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า นอกจากจะแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คนในเชิงเป็นคุณประโยชน์แล้ว โซเชียลมีเดียยังสร้างความทุกข์อย่างแสนหาหัสแก่คนบางคนจนไม่สามารถหาทางออกได้ และต้องจบชีวิตในที่สุด
@@ คำถามถึงเจ้าของแพลตฟอร์ม
7.เจ้าของแพลตฟอร์มลอยตัว เมื่อโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกประเทศทั่วโลก ผู้คนต่างใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะตามบุญตามกรรมโดยปราศจากการชี้แนะ จนกระทั่งสร้างปัญหามากมายให้กับคนทั้งโลกโดยไม่มีใครหยุดยั้งได้
เปรียบเหมือนผู้คนทั้งโลกขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ หรือขาดกติกามารยาทที่ชัดเจน เพียงแต่ยอมรับเงื่อนไขของเจ้าของแพลตฟอร์มก็สามารถลงทะเบียนใช้งานได้อย่างอิสระ และเจ้าของแพลตฟอร์มแทบไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของน้องที่เสียชีวิต
ทั้งๆ ที่แพลตฟอร์มต่างๆ มีการตรวจสอบความถูกต้อง (Fact checking facility) ของ Content แต่ก็มักไม่ได้ผลอย่างสมบูรณ์และไม่ครอบคลุมในแง่มุมอื่น โดยเฉพาะการตรวจสอบการปลอมแปลงตัวบุคคล ในกรณีการปลอมตัวจากเพศชายเป็นหญิง ซึ่งยังไม่สามารถตรวจสอบได้และไม่มีใครรับประกันว่าจะสามารถกระทำได้มากน้อยเพียงใด
8.การที่อินเทอร์เน็ตได้ถูกพัฒนาจาก web 1.0 มาสู่ web 2.0 หรือ Social web ซึ่งนอกจากจะทำให้ทุกคนมีพลังในการส่งเสียงให้คนทั้งโลกได้ยินแล้ว ยังสามารถทำร้ายได้ใครต่อใครได้อย่างง่ายดายห ากผู้นั้นไร้ภูมิคุ้มกันหรือรู้ไม่เท่าทันต่อบุคคลอื่นที่ใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเดียวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการหาประโยชน์ในทางมิชอบแก่ตัวเอง ดังที่พบเห็นอยู่เสมอๆ
----------
ขอบคุณ กราฟฟิกและภาพประกอบจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี