ผุดโครงการวิจัย หวังสร้างอาชีพ “บุคคลออทิสติก” ในพื้นที่ชายแดนใต้ให้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม ลดความกังวลของผู้ปกครอง ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยในไทยกว่า 3 แสนคน เข้าสู่ระบบรักษาเพียง 3% มีงานทำไม่ถึง 200 คน
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการส่งเสริมพลังครอบครัวและชุมชนในการดูแลเด็กและวัยรุ่นออทิสติกใน 5 จังหวัดชายแดนใต้“ โดยมี อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกมูลนิธิออทิสติกไทย และนายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ดร.พาตีเมาะ นิมา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ พร้อมด้วยผู้ปกครองและเด็กๆ ออทิสติกจาก จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา สตูล พัทลุง และ ตรัง เข้าร่วมการวิจัย และทำกิจกรรม
โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาช่องทางในการเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้รับการศึกษาที่เหมาะสม นำไปสู่การมีอาชีพ มีงานทำ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องบุคคลออทิสติกถูกปรามาสว่า ทำงานไม่ได้ ไม่เคยมีหน่วยงานใดที่เห็นความสำคัญของเด็กออทิสติกเรื่องการจ้างงาน ทำให้ผู้ปกครองมีความกังวลว่าหากตัวเองจากไป จะไม่มีใครเลี้ยงลูกต่อ และบางครอบครัวยังส่งผลต่อสภาพจิตใจ รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงต่อเนื่อง
@@ ป่วย 3 แสน รักษา 3 พัน มีงาน 200
ข้อมูลพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวเด็กออทิสติก ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางครอบครัวผู้ปกครองต้องลาออกจากงานมาดูแลลูก รายได้ลด กลายเป็นปัญหาครอบครัวในที่สุด
สำหรับเด็กออทิสติกเป็นเด็กสมาธิสั้น สติปัญญาต่ำ ดื้อ ชน และมีพฤติกรรมไม่เหมือนกับเด็กทั่วไป มีปัญหาความบกพร่องในพฤติกรรมการแสดงออก พัฒนาด้านภาษาช้า และการเข้าสังคมที่ไม่เหมาะสม โดยโรคออทิสติก (Autistic Disorder ) เป็นความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือด้ านสังคม ด้านการพูดหรือด้านภาษา และพฤติกรรม
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติกกว่า 300,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยออทิสติกเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3 พันกว่าคนที่เข้าสู่ระบบการรักษา และมีเด็กออทิสติกไม่ถึง 200 คนที่มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเอง
@@ ต้องมีงาน มีรายได้ ดูแลตัวเอง
ดร.พาตีเมาะ นิมา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มีการสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้เปิดหลักสูตรและมีความพร้อมให้เด็กออทิสติกสามารถเข้ารับการศึกษาต่อในด้านอาชีพ โดยมีพ่อแม่ค่อยช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กออทิสติกมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว
“เรามีความหวังมากกับเด็กกลุ่มนี้ ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ก็สามารถดูแลเขาได้ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ จะหวังให้พี่น้องมาดูแลก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาก็มีภาระอื่นที่ต้องดูแล สิ่งสำคัญคือให้เด็กออทิสติกอยู่ในสังคมต่อไปได้ ให้เขาสามารถพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดเหมือนกับคนทั่วไป”
@@ แม่จากไป...ใครจะดูแล
นางรอฮีมะ เจะอาลี แม่ของเด็กออทิสติก เล่าว่า ตอนนี้หวังให้ลูกเรียนให้จบ ป.6 แล้วมีงานทำ มีรายได้ของตนเอง เพราะกังวลมาก ถ้าตนไม่อยู่แล้ว ลูกจะอยู่ได้อย่างไร
“ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อ มีแม่คนเดียวที่เลี้ยง จะพึ่งพี่น้องของฉันก็ไม่ได้ เพราะเขาก็มีครอบครัวที่จะต้องเลี้ยงดู ที่ผ่านมามีเหนื่อยบ้างที่เลี้ยงลูกในสภาพนี้ แต่ก็ต้องทำ เพราะเป็นลูกของเรา จะให้ไปหวังคนอื่นก็ไม่ได้ ต้องยอมรับและต้องดูแลลูกให้ดีที่สุด”
เช่นเดียวกับ นางนิยะ ระเด่นอะหมัด แม่ของเด็กออทิสติกอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า หวังมากที่จะให้ลูกมีงานทำ เพราะตอนนี้แม่ก็ไม่ไหวแล้ว ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว พ่อของเด็กก็จากไปแล้ว ตอนนี้ลูกก็อายุ 20 ปี เขามีความสามารถหลายๆ อย่าง ทำได้ทุกอย่าง แล้วแต่ใครใช้ก็ทำได้หมด ก็อยากให้มีงานทำ