อดีตประธานเบอร์ซาตู ที่มีบทบาทรวบรวมกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มเพื่อเจรจาดับไฟใต้กับรัฐบาลไทยเมื่อหลายทศวรรษก่อน เสียชีวิตแล้วอย่างสงบในวัย 82 ปีที่ประเทศมาเลเซีย
ทิ้งคำฝากสุดท้ายผ่านการให้สัมภาษณ์ “ศูนย์ข่าวอิศรา” แนะนำให้จัดพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในประเทศไทย โดยเชิญทุกกลุ่มเข้าร่วมเจรจาแสวงหาทางออกอย่างให้เกียรติ เท่าเทียม และสันติ
ข่าวร้ายจากมาเลเซียถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันอังคารที่ 8 มี.ค.65 ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ได้เสียชีวิตแล้วอย่างสงบในวัย 82 ปี
“กลุ่มเบอร์ซาตู” ก่อตั้งเมื่อปี 2532 ถือเป็น "องค์กรร่ม" (Umbrella Organization) ที่รวบรวมนักต่อสู้และผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อปลดปล่อยดินแดนปัตตานีทุกกลุ่ม เข้าเจรจากับรัฐบาลไทย โดยมี ดร.วันกาเดร์ เป็นประธาน โดยเขาได้รับการยอมรับในเรื่องความรู้ความสามารถ และการศึกษา แม้สุดท้ายการเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
อดีตแกนนำที่ร่วมขบวนการหลายคน ยืนยันว่า ดร.วันกาเดร์ เสียชีวิตจริง แต่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ในขณะที่หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า ดร.วันกาเดร์ เสียชีวิตเพราะหกล้มในห้องน้ำที่บ้านของลูกสาว ในเมืองปุตราจายา เมืองใหม่และเมืองศูนย์ราชการของประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน
ดร.วันกาเดร์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยครั้งสุดท้ายกับสถานีโทรทัศน์ช่อง NOW26 ในเครือเนชั่นทีวี และศูนย์ข่าวอิศรา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 59 ขณะนั้นอายุ 76 ปี
โดย ดร.วันกาเดร์ เรียกร้องให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดน และผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม หันมาพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย เพราะสู้ไปก็มีแต่ความสูญเสีย โดยเสนอให้รัฐบาลไทยปรับวิธีการใหม่ โดยให้เปิดการพูดคุยในประเทศไทย เพราะเป็นบ้านของทุกคน แทนที่จะไปใช้ประเทศอื่นเป็นสถานที่นัดพบเหมือนการพูดคุยเจรจาครั้งที่ผ่านๆ มา (รวมถึงครั้งปัจจุบันด้วย) และให้เชิญทุกกลุ่มเข้าร่วม ไม่ควรเลือกคุยกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อความเท่าเทียม เป็นธรรม และยึดแนวทางสันติวิธี
@@ เปิดประวัติ ดร.วัน
ดร.วันกาเดร์ เป็นที่รู้จักของสื่อไทยในฐานะประธานเบอร์ซาตู หรือขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี ซึ่งเคยเป็น "องค์กรร่ม" ของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน 4 ขบวนการ ได้แก่ บีอาร์เอ็น (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติมลายูปัตตานี) พูโล (องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี) บีไอพีพี (ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี) และมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การต่อสู้เป็นเอกภาพ มีพลังและมีทิศทางสอดคล้องกัน
"เบอร์ซาตู" ก่อตั้งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2532 แต่มีข่าวบางกระแสระบุว่า การก่อกำเนิดเบอร์ซาตูมีเป้าหมายเพื่อเจรจากับรัฐบาลไทยมากกว่า แต่ไม่ว่าจะก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์ใด สุดท้ายเบอร์ซาตูก็ลดบทบาทของตัวเองลงไปเพราะปัญหาความขัดแย้งภายใน ขณะที่ข่าวบางแหล่งก็ว่าเป็นเพราะแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเบอร์ซาตู ไม่เชื่อมั่นเชื่อใจ ดร.วันกาเดร์
ทั้งนี้ ดร.วันกาเดร์ ยังมีสถานะเป็นอดีตประธานขบวนการบีไอพีพีด้วย
ประวัติของ ดร.วันกาเดร์ เป็นชาว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยกำเนิด จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ อ.สายบุรี มัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศจังหวัดปัตตานี จากนั้นได้เดินทางไปพำนักและศึกษาต่อในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา กระทั่งกลับมารับราชการที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กระทรวงมหาดไทย
มีข่าวว่าช่วงหนึ่ง ดร.วันกาเดร์ ทำงานให้ซีไอเอ (สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ) และได้เดินทางออกจากประเทศไทยอีกครั้งในปี พ.ศ.2518 เพื่อไปศึกษาต่อที่ปีนัง และเข้าเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยของมาเลเซียหลายแห่ง เขาเคยลี้ภัยไปประเทศสวีเดนอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้รู้จักแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทยที่ไปพำนักและเคลื่อนไหวอยู่ในแถบยุโรปหลายคน กระทั่งก่อตั้งองค์กรเบอร์ซาตูขึ้นมาเพื่อรวบรวมกลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทยให้เป็นเอกภาพ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวดังกล่าว
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ดร.วันกาเดร์ พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซียอย่างเงียบๆ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียสั่งห้ามการให้สัมภาษณ์ แต่เจ้าตัวไม่มีหมายจับจากรัฐบาลไทย จึงสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ และได้ตัดสินใจขึ้นเวทีอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ในประเทศไทย ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ย.56 ซึ่งถือเป็นการเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดครั้งแรกตั้งแต่เดินทางออกไป และไปร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยในต่างแดน
เดือน พ.ย.59 ดร.วันกาเดร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยครั้งสุดท้ายที่ จ.นราธิวาส บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ได้เคยเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทยมาอย่างยาวนานหลายสิบปี โดยเขาบอกว่าแนวคิดแยกดินแดนหมดสมัยไปแล้ว การใช้ความรุนแรงเข่นฆ่ากันไม่ได้ก่อประโยชน์อะไร นอกจาก “ตายเปล่า” พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลไทยเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจาขึ้นในประเทศ เพื่อสร้างสันติสุขชายแดนใต้อย่างแท้จริง
การพูดคุยมีหลายขั้นหลายตอน แต่อย่าไปคิดว่าคุยแค่กลุ่มเดียวจะแก้ปัญหา เพราะเห็นมาหลายปีแล้ว ฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิธี มาพูดคุยในบ้านเรา (ประเทศไทย) และเชิญทุกกลุ่มมาพูดคุยกันอย่างจริงใจ ให้เกียรติ และเท่าเทียม
--------------------
ภาพธงเบอร์ซาตู จากวิกิพีเดีย