“บิ๊กตู่” ยินดี หารือนายกฯมาเลเซียเห็นผล เปิดช่องเดินทางพิเศษ 2 ประเทศสำหรับผู้ฉีดวัคซีนครบ ดีเดย์กลางเดือนนี้ ด้าน ครม.อนุมัติงบ 107 ล้านบาท โครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้
วันอังคารที่ 8 มี.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีหลังรับทราบการรายงานว่า การเปิดช่องทางพิเศษแบบ Vaccinated Travel Lane (VTL) ระหว่างไทยและมาเลเซีย จะเริ่มแล้วอย่างเป็นรูปธรรมในกลางเดือน มี.ค.นี้
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งหารือเกี่ยวกับวิธีการเพื่อเปิดช่องทางเดินทางพิเศษระหว่างไทยและมาเลเซียสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วโดยไม่ต้องกักกันโรคแบบ VTL ซึ่งทั้งสองฝ่ายตอบรับในการหารือกันอย่างดี
สำหรับการเดินทางทางอากาศ คาดว่า เที่ยวบินและเส้นทางที่จะใช้สำหรับ VTL ซึ่งสายการบินที่กำหนดจากทั้งสองประเทศอาจจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินสูงสุดถึง 6 เที่ยวบินต่อวันในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพฯ และสูงสุด 4 เที่ยวบินต่อวันสำหรับเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ภูเก็ต ในขณะที่เส้นทางเพิ่มเติมอาจเพิ่มได้ตามรายละเอียดของข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ มาตรการเดินทางเข้ามาเลเซียทางอากาศ น่าจะคล้ายกับมาตรการ VTL ที่มาเลเซียทำกับสิงคโปร์ ซึ่งได้กำหนดว่า ผู้เดินทางที่เข้าประเทศมาเลเซียจะต้องทำการทดสอบ RT-PCR สำหรับ Covid-19 ไม่เกิน 2 วันก่อนออกเดินทาง และอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดินทางถึง จึงจะได้เข้าประเทศโดยไม่มีการกักกัน
“การเจรจาเพื่อเปิดการเดินทางโดยช่องทางพิเศษนี้ เป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่งภายหลังการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ในโอกาสที่นายกฯมาเลย์เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันที่จะผลักดันเปิดช่องทางเดินทางนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระชับความร่วมมือของทั้งสองประเทศในการเปิดพรมแดนระหว่างกันอีกครั้ง คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศฟื้นตัว ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และสร้างกิจกรรมทางสังคมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเขตเศรษฐกิจชายแดน หลังจากประสบกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19” โฆษกรัฐบาล กล่าว
@@ เทงบ 107 ล้าน ดันโครงการสร้างอาชีพเด็กเหยื่อไฟใต้
วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติ “โครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้” กรอบวงเงินงบประมาณ 107.6 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 – 2568 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้เรียนรู้วิชาชีพและสร้างทักษะการประกอบอาชีพที่มั่นคง
โครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1.ช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและครอบครัวผู้มีรายได้น้อย
2.สร้างโอกาสให้เยาวชนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้เรียนรู้วิชาชีพอย่างมีคุณภาพ
3.ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้มีโอกาสสร้างทักษะในการประกอบอาชีพที่มั่นคง
วิธีการ คือดำเนินการในลักษณะการจัดตั้งโรงเรียนประจำในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เฉพาะสงขลา ใน อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย รวม 4 แห่ง ได้แก่
-วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี
-วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา
-วิทยาลัยการอาชีพสุไหง-โกลก
-วิทยาลัยเทคนิคจะนะ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการจะเปิดรับนักเรียน/นักศึกษาในระดับ ปวช. จำนวน 135 คนต่อชั้นเรียน และระดับ ปวส. จำนวน 247 คนต่อชั้นเรียน ซึ่งเป็นนักเรียน/นักศึกษาที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้อุปการะ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคุณสมบัติ อาทิ
-ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยใช้ข้อมูลจากผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ
-เป็นนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
-มีภูมิลำเนาใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี)
สำหรับโครงการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ศึกษาต่อด้านวิชาชีพอย่างทั่วถึง และมีทักษะประกอบอาชีพที่มั่นคง ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 – 2563 ที่ผ่านมา มีนักเรียน/นักศึกษาเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 858 คน แบ่งเป็นระดับ ปวช .จำนวน 318 คน และระดับ ปวส.จำนวน 540 คน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น