ข่าวการเสียชีวิตของ “แตงโม” ดาราสาวชื่อดังที่กลายเป็นปริศนาว่า อาจไม่ใช่อุบัติเหตุตกเรือธรรมดาๆ ได้ปลุกกระแสการขุดค้นความจริงของบรรดา “นักสืบโซเชียลฯ” ผสานกับการรายงานข่าวแบบแข่งขันสูงของสื่อกระแสหลัก ทำให้หลายเรื่องล้ำหน้าการทำงานของตำรวจและพยานหลักฐานจริงเท่าที่ปรากฏเบื้องหน้าสาธารณชน
แน่นอนว่าการขุดคุ้ย ตรวจสอบ เช็คซ้ำ หรือ “รีเช็ค” ย่อมเป็นเรื่องดี แต่หากใช้อัตวิสัยหรือความสงสัยส่วนตนมากจนเกินไป ผสมกับความรู้สึกอย่างเอาชนะ หรืออคติเฉพาะตัว อาจทำให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง และอาจเข้าข่าย “ตีตรา” หรือ “พิพากษาล่วงหน้า” ทำร้ายทำลายชีวิตคนบางคนได้เหมือนกัน โดยเฉพาะหากข้อสันนิษฐานเหล่านั้นสวนทางกับความเป็นจริง
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความแนว “ตั้งสติ” โดยย้อนบทเรียนคดี แจ็ค เดอะริปเปอร์ ซึ่งเป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่องอันโด่งดังก้องโลกในอดีต ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่ข้อมูลข่าวสารที่ล้นทะลัก ทั้งจริงทั้งเท็จ จนทำให้สุดท้ายไม่สามารถจับฆาตกรตัวจริง เปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคดี “แตงโม” ณ พ.ศ.นี้
@@ ดาบสองคม “นักสืบโซเชียลฯ”
ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม ข่าวที่คนไทยให้ความสนใจนอกจากข่าวระดับโลกกรณีรัสเซียบุกยูเครนแล้ว คงไม่มีข่าวไหนที่ได้รับความสนใจมากเท่ากับข่าวการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโมที่มีเงื่อนงำจนทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความกังขาต่อการเสียชีวิตของเธอ จนทำให้เกิดการ การวิจารณ์ และแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย
นอกจากการเสนอข่าวอย่างถี่ยิบ ทั้งข่าวทีวี วิทยุและหนังสือพิมพ์แล้ว สื่อโซเชียลฯเป็นช่องทางที่มีการกล่าวถึงข่าวการเสียชีวิตของแตงโมตลอดเวลานับตั้งแต่การเสียชีวิตโดยเฉพาะการทำหน้าที่ของ “นักสืบโซเชียลฯ” ที่เสาะแสวงหาเบาะแสการเสียชีวิต การวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเสียชีวิต ตลอดจนการวิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนจะขัดกับข้อมูลที่ได้รับจากผู้ที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน ทั้งจากเสื้อผ้าที่ผู้เสียชีวิตสวมใส่ ลักษณะของเรือ รวมทั้งบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการเดินทางบนเรือลำเดียวกัน
ด้วยความสามารถของโซเชียลมีเดียและประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ทำให้กลไกการสืบค้นและขุดคุ้ยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเครื่องมือสืบค้นที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้การสืบค้นและขุดคุ้ยข้อมูลจากอดีตทำได้สะดวก รวดเร็ว มีรายละเอียด และมีความหลากหลายมากขึ้น นับตั้งแต่ข้อมูล ภาพนิ่ง คลิปวีดีโอ เนื้อหา รสนิยม หรือแม้กระทั่งอารมณ์ของผู้คน ก็สามารถถูกขุดคุ้ยหยิบขึ้นมาขยายความต่อได้อย่างไม่ยากเย็น
ดังนั้นความมีเงื่อนงำของการเสียชีวิตของแตงโมจึงถูกนำมาขยายความต่อบนโลกโซเชียลฯกันอย่างหลากหลายและในบางกรณีอาจเลยเถิดไปถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ร่วมอยู่ในเรือลำเดียวกัน
นอกจากนี้ การเผยแพร่ข้อมูลที่ขาดการกลั่นกรองบนสื่อออนไลน์ และไม่รู้ถึงที่มาของแหล่งข้อมูล อาจเป็นข้อมูลเท็จซึ่งอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ การทำหน้าที่ของนักสืบโซเชียลฯ ในลักษณะดังกล่าวจึงเป็น “ดาบสองคม” ต่อผู้ที่ทำหน้าที่นักสืบโซเชียลฯได้เช่นกัน แม้ว่าจะกระทำไปด้วยความหวังดีก็ตาม
@@ ข้อมูลทะลัก-สื่อทะลวง-เฟคนิวส์ละเลง
การสืบคดีที่มีเงื่อนงำจากบุคคลทั่วไป มิใช่เกิดเฉพาะกรณีนี้เท่านั้น ย้อนไปเมื่อ 130 ปีก่อน คดี “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเสมอในความซับซ้อนและความลึกลับของคดีฆาตกรรมของฆาตกรโหดซึ่งเชื่อกันว่าฆาตกร ชื่อ “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” ได้สังหารโหดหญิงสาวไปถึง 5 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยวิธีชำแหละและผ่าอย่างประณีต จนมีการสันนิษฐานว่าฆาตกรน่าจะเป็นผู้มีความรู้ทางการแพทย์หรือคนขายเนื้อซึ่งมีความชำนาญในการใช้มีดเป็นพิเศษ
สิ่งที่ปรากฏในช่วงเวลาที่เกิดการฆาตกรรมนับจากหญิงสาวรายแรกจนถึงรายสุดท้าย คือ พาดหัวข่าวใหญ่ต่อเนื่องของหนังสือพิมพ์ รวมทั้งข่าวลือจากปากผู้คนที่แพร่ไปทั่วลอนดอนอย่างรวดเร็วราวกับไฟลามทุ่ง ทำให้การฆาตกรรมที่โหดเหี้ยมผิดมนุษย์เป็นข่าวที่คนอังกฤษให้ความสนใจและติดตามข่าวอย่างใจจดใจจ่อ ชาวลอนดอนต่างเข้าคิวกันยาวเหยียดเพื่อซื้อหนังสือพิมพ์ติดตามความคืบหน้าของคดี
หลายคนทำตัวเป็นนักข่าวพลเมืองโดยการแจ้งเบาะแสการฆาตกรรม เป็นต้นว่า มีผู้เห็นผู้ชายที่ดูเหมือนมีอาการทางจิตถือมีดอยู่ในสถานที่เกิดเหตุในวันเดียวกับการฆาตกรรม บ้างก็ว่าเห็น พอลลี่ (แมรี แอนน์ นิโคล เหยื่อคนแรก) คุยกับชายที่มีสำเนียงต่างชาติก่อนเกิดเหตุ เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถนำไปสู่ข้อยุติของคดีได้
สำนักข่าวท้องถิ่นบางแห่งถึงกับพิมพ์ข่าวพิเศษเพื่อให้ผู้อ่านอัปเดตข่าวฆาตกรรมเป็นระยะ และยิ่งเขียนข่าวมาก ข้อมูลใหม่ๆ ก็ยิ่งลดลง พวกเขาจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะหาข้อมูลการสืบสวนของตำรวจให้มากที่สุด แต่เมื่อไม่ได้ผล สิ่งที่พวกเขามักกระทำคือ “ละเลงข่าวเฟกนิวส์” เสียเอง
ในช่วงการฆาตกรรมมีข่าวสารมากมายเกิดขึ้นในลอนดอน จดหมายทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามายังสำนักข่าวกลางของลอนดอนและสำนักงานตำรวจอย่างไม่ขาดสาย จดหมายจำนวนมากให้คำแนะนำ แจ้งเบาะแส รวมทั้งคาดคะเนเหตุการณ์ไปต่างๆ นานา หลายคนอาสาเป็นนักสืบสมัครเล่น ขณะที่จดหมายบางฉบับอ้างว่าเห็นฆาตกรซุ่มอยู่ในเงามืดทั่วลอนดอน
ข่าวบางกระแสอ้างทฤษฎีภูมิหลังของฆาตกรที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายจากแม่ของตัวเอง จึงต้องระบายออกด้วยการหาเหยื่อหญิงสาวเพื่อการแก้แค้น และข่าวบางกระแสคาดว่าฆาตกรคือหมอหรือนักผ่าตัดจากวิธีชำแหละศพเหยื่อ เป็นต้น
แต่มีจดหมายฉบับหนึ่งที่ต่างจากจดหมายทั่วไป เพราะมีการบรรยายถึงการสังหารเหยื่อ การเย้ยหยันเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยืนยันว่าเขาจะทำงานสังหารซึ่งเป็นงานที่เขารักต่อไป จดหมายฉบับนี้ ลงชื่อว่า “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” ฆาตกรนิรนามที่ไม่มีใครรู้จัก จึงมีชื่อว่า “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” นับแต่นั้นมา
@@ ปรากฏการณ์ไม่แยกแยะ “ความจริง ความเห็น ความเท็จ”
ข้อมูล ข่าวสาร จากการฆาตกรรมกรณีของ “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” แสดงให้เห็นว่า ทั้งข่าวลือจากผู้คนจดหมายแจ้งเบาะแสต่างๆ จากทั่วสารทิศ รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอทั้งข่าวจริงและความเห็นที่ไม่ได้แยกแยะ จึงทำให้ข่าวสารที่แพร่ในหมู่ชาวอังกฤษรวมไปถึงทั่วโลกที่ได้รับข่าวสาร มีทั้งความจริง ความเห็น และความเท็จ ปะปนกันไป ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการฉวยโอกาสของนักหนังสือพิมพ์จากสถานการณ์ที่ผู้คนให้ความสนใจกุข่าวขึ้นมาเสียเองเพื่อหวังผลทางธุรกิจ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียของ “แตงโม” แม้ว่าจะเป็นคดีคนละลักษณะและเวลาจะผ่านมานับร้อยปีแล้วก็ตาม เพียงแต่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียช่วยทำให้ ข่าวลือ ความเห็น และข้อมูลต่างๆ หลั่งไหลออกสู่สารธารณะได้เร็วขึ้นและกว้างขวางขึ้น
สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนั้น นอกจากข่าวปลอม ข่าวลวง และรายงานที่ขัดแย้งกันของสื่อที่ต่างคนต่างนำเสนอซึ่งสร้างความสับสนต่อผู้รับข่าวสารแล้ว ผลที่ตามมายังกระทบต่อรูปคดีอีกด้วย เพราะเมื่อสื่อฟันธงว่าฆาตกรคือชายชาวยิวอพยพ ความโน้มเอียงต่อความเชื่อว่าฆาตกรคือชาวยิวจึงค่อนข้างมีน้ำหนัก และทำให้การสืบสวนของตำรวจไขว้เขวด้วยการชี้นำของสื่อ และพุ่งเป้าไปยังชุมชนผู้อพยพ ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานใดๆ พิสูจน์ได้เลยว่าฆาตกรคือชาวยิวหรือผู้อพยพคนใด นอกจากการนำเสนอที่เลื่อนลอยของสื่อ
และผู้สงสัยที่ถูกจับกุมก็สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างไร้ข้อสงสัย จนทำให้ตำรวจต้องปล่อยตัวไปในที่สุด กระทั่งสุดท้าย ฆาตกรที่เรียกกันว่า “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” ก็กลายเป็นปริศนาดำมืด ไม่รู้ว่าเขาคือใคร
@@ ระวังความจริงถูกบดบัง
ข่าวและข้อมูลที่เต็มไปด้วยความเห็น การคาดเดา หรือแม้แต่ความเท็จที่เกิดขึ้นจากคดีฆาตกรรมของ “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” ในยุคที่ไร้อินเทอร์เน็ต คงเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้ต่างการแพร่กระจายข่าวสารการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ “แตงโม” ซึ่งเป็นโลกที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ และกำลังแข่งกันเผยแพร่สิ่งที่ตัวเองอยากนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียและถูกขยายความ บิดเบือน ตัดแต่ง และเผยแพร่ต่อครั้งแล้วครั้งเล่า จนอาจทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปอย่างสิ้นเชิง
ข่าวสารที่หลั่งไหลสู่สายตาของผู้คนจากคดีของ “แตงโม” จึงเต็มไปด้วยความเห็นทางอารมณ์ หรืออาจเลยไปถึงการเสกสรรปั้นแต่งจนกลายเป็น “ความจริงปนความเท็จ” จนทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อที่ทำให้ความจริงและการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกลดความสำคัญลงด้วยอิทธิพลของอารมณ์และความเชื่อส่วนบุคคล และชักนำให้ผู้คนเชื่อในสิ่งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์หรือข่างลือได้อย่างง่ายดาย
เพราะข้อเท็จจริงได้ถูกบดบังด้วยข่าวสารจากอารมณ์บนโลกโซเชียลฯจนเกือบหมดสิ้น และบ่อยครั้งมีการถูกนำไปขยายความและนำเสนอต่อโดยสื่อกระแสหลัก จนทำให้ผู้คนคล้อยตามทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครได้รู้ความจริง
----------------------------
ภาพแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ จากวิกิพีเดีย