การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันแรก 17 ก.พ.65 มีผู้อภิปรายของฝ่ายค้านพูดถึงปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัญหารัฐประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกิน และปัญหาความยากจนที่ติดอันดับประเทศ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายตอนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาที่ดินของรัฐบาลชุดนี้ เป็นการบุกรุก เป็นการละเมิด เป็นการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งเป็นที่ดินของประชาชนทั้งหมด อย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2504 แล้วก็มีการประกาศเขตอุทยานเมื่อปี 41- 42 หลังจากประกาศเขตอุทยานก็มีเสียงร้องระงมเลยว่า มีที่ดิน 4.7 ล้านไร่ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุด เป็นการประกาศทับที่ประชาชน
โดยเฉพาะชุมชนใน จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ได้รับผลกระทบมาก ชาวบ้านอยู่มา 300 ปี ก็ถูกประกาศทับที่ดินทำกินไปหมด (อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี) แต่สมัยรัฐบาล นายกฯชวน หลีกภัย ได้ออกมติ ครม. ไม่ให้ไปจับกุมพี่น้องประชาชน ให้รอการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งก็มีการพิสูจน์สิทธิ์เรื่อยมาจนมาถึงปี 62 รัฐบาลชุดนี้ก็มาออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นการตัดสินใจของท่านนายกฯที่ผิดมาก
“การพิสูจน์สิทธิ์หลายแห่ง โดยเฉพาะใน จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา เราพบว่าประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ รัฐประกาศทับที่ชาวบ้าน ประกาศทับที่ของประชาชน แล้วรัฐเองพยายามจะแก้ความขัดแย้ง ก็เชิญประชาชนมาหลายครั้ง แจกประกาศให้รู้ว่า ที่ผ่านมารัฐมาบุกรุก นายกฯได้เสนอกฎหมาย รัฐบาลได้เสนอกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯเข้ามา ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนเดินไปที่ทำเนียบรัฐบาลบอกว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับประชาชน เขามาแสดงตัวถึง 22 ปีแล้ว รัฐก็พิสูจน์สิทธิ์ไม่ได้ ที่ดินนิดเดียว เขาอยู่มานานแล้ว อยู่รักษาป่า แต่ พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่ ถือว่าเป็นอำนาจนิยม ทั้งหมด 4.7 ล้านไร่ที่ปรากฏ แต่ตอนหลังตัวเลขนี้ไม่ถึงแล้ว เพราะบางคนตาย ไม่ไปแสดงตัวก็ ลดลง เนื่องจากกระบวนการนานมาก กลายเป็นว่าที่ทั้งหมดเป็นที่อุทยาน การพิสูจน์จบไปทั้งที่เรามีกฎหมาย”
“ถ้าคนมาอยู่ก่อนป่า 300 ปีอยู่มาก่อนอยู่แล้ว เขาควรจะได้เอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนด หรือได้สิทธิต่างๆ นี่คือหลักฐานชัดเจนว่าประชาชนจำนวนหนึ่งอยู่มาก่อน คือรัฐไปรุกประชาชน แต่นายกฯก็ยังใช้กฎหมายที่เป็นอำนาจนิยม ไปให้ประชาชนจากที่เป็นผู้แสดงสิทธิ์ จะได้เห็นแสวงสว่างปลายอุโมงค์เหมือนที่ดินเขากระโดง สุดท้ายก็หมดสิทธิ์ ซึ่งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนใช้วิธีเดินด้วยเท้า แล้วเอาจีพีเอสมาจับทำเป็นแผนที่ ทุกคนชื่นชมมากว่าประชาชนสู้ สู้จนบางคนเดินไม่ไหวแล้ว แต่วันดีคืนดีอันนี้คือการรุกครั้งใหญ่ของรัฐบาล ก็ไปยึดที่ 4.7 ล้านไร่”
เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวด้วยว่า ประเทศใดถ้าปฏิรูปที่ดินไม่ได้ ประเทศนั้นอย่าหวังว่าประชาชนจะอยู่ได้เลย เพราะที่ดินคือยุ้งฉางของเกษตรกร เกษตรกรคือยุ้งฉางของประเทศ ที่ไหนมีที่ดิน ถ้าคนไปทำประโยชน์ในที่ดิน มันก็คือเงิน มันก็คือจะงอกงามมาเป็นผลผลิต
@@ แก้จนไม่ได้ เพราะรัฐซ้อนรัฐ
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงปัญหาความยากจนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การทำลายประเทศที่รุนแรงที่สุด คือทำลายคนไม่ให้มีความรู้ ส.ส.พรรคประชาชาติไปเยี่ยมที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา พบว่าในบ้าน 1 หลัง มีเด็กซึมเศร้าจำนวนมาก เพราะการเรียนต้องใช้มือถือ ไม่มีมือถือทั้งบ้าน หรือหลายๆ บ้านอาจจะมีมือถือ 1 เครื่อง แล้วต้องมาแย่งกัน
“ท่านไม่ใส่ใจหรือครับ เด็กเรียนหนังสือไม่ได้เพราะไม่มีมือถือ เวลาแก้ปัญหาภาคใต้ ท่านลองไปดูงบประมาณ ภาคใต้ตอนนี้เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ในสามจังหวัดคือในปัตตานี 100 คน มี 24 คนเป็นคนยากจน”
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาความยากจนของนายกรัฐมนตรี คือ ใช้ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาแก้ปัญหา แต่ทำไมสามจังหวัดยังเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ทั้งที่มีทรัพยากรมากมาย
“ผมคิดว่าท่านมีรัฐซ้อนรัฐ มี กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งก็ไปทำหน้าที่บูรณาการหมด ท่านมี ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งตอนหลังก็ต้องมาทำตามยุทธศาสตร์ความมั่นคง ท่านมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้ที่มีท่านรองนายกฯประวิตร ดูแล (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เท่านั้นท่านยังไม่พอ ท่านยังมีที่ปรึกษาพิเศษ มีผู้แทนพิเศษ เป็น ครม.ส่วนหน้า”
“ผู้แทนพิเศษได้รับเงินเดือน บางคนเป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็ยังมีเงินให้กับผู้แทนพิเศษอีก ผู้แทนพิเศษมีไม่กี่คน ใช้งบ 7 ล้านบาท และก็เป็นเงินของที่ปรึกษาของที่ปรึกษาอีก 8 ล้านบาท นี่คือรัฐซ้อนรัฐ การที่ไม่ไว้ใจประชาชน ไม่ไว้ใจสติปัญญาของคนที่เกิดในพื้นที่นั้น จึงทำให้เข้าสู่ความยากจนที่สุด”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้นายกฯและคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนความคิดว่า ความมั่นคงกับความสุขของประชาชนท่านต้องให้เป็นคำนิยามเดียวกัน ไม่อย่างนั้นจะเป็นความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของข้าราชการ และเป็นความจนยิ่งกว่าจนของประชาชน