เป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมไทยและสังคมโลกจ้องเขม็งแบบตาไม่กระพริบ สำหรับสถานการณ์ที่ยูเครน หลังรัสเซียส่งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์โอบล้อมเอาไว้แทบทุกด้าน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงไทย วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ในความเป็นจริงแล้วการส่งกำลังเข้ายึดยูเครนทำได้ยากมาก ไม่เหมือนแคว้นไครเมียที่อยู่ทางตอนใต้ เพราะถ้ารัสเซียบุกยูเครนจริง เชื่อว่าจะไม่สามารถยึดครองพื้นที่ได้ถาวร และจะกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ ถูกรุมจากฝ่ายสหรัฐ และชาติพันธมิตรเนโต้
การประเมินสถานการณ์ในชั้นนี้จึงเชื่อว่า รัสเซียจะไม่บุกยูเครน เว้นแต่ว่า “เนโต้” รับยูเครนเป็นสมาชิก หรือมีการนำอาวุธที่มีอำนาจทำลายสูงเข้าไปติดตั้งในยูเครน
นอกจากนั้น หากวิเคราะห์การตัดสินใจของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะไม่ตัดสินใจด้วยอารมณ์ หากตัดสินใจแล้วไม่ชนะ หรือทำแล้วไม่ได้เปรียบ จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด ต้องไม่ลืมว่า ปูติน คือ อดีต ผอ.เคจีบี ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับของรัสเซีย ฉะนั้นจึงมีการใช้ข้อมูลข่าวกรองเป็นพื้นฐานประกอบการตัดสินใจเสมอ และปูตินยังมีทีมที่ปรึกษาจำนวนมาก พิจารณาเป็นหมู่คณะ ไม่ตัดสินใจคนเดียว
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเกิดสงคราม จะไม่จำกัดเขตเฉพาะที่ยูเครน แต่จะลุกลามไปที่ยุโรป และประเทศแถบภาคพื้นแปซิฟิกด้วย เนื่องจากรัสเซียและพันธมิตรในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตจะร่วมกันสกัดกั้นกองกำลังของเนโต้ โดยเฉพาะสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งจะกระทบกับราคาน้ำมัน เส้นทางการขนส่งทางทะเลและทางบกทั้งหมด
ที่สำคัญอาจทำให้ “กลุ่มก่อการร้าย” ฉวยโอกาสโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐ
สำหรับ “เนโต้” หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ เป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลของชาติยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ประเทศ ตั้งขึ้นมาถ่วงดุลกับ “กลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ” ของสหภาพโซเวียตในอดีต ซึ่งถือเป็นค่ายคอมมิวนิสต์
จริงๆ เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายแล้วหลังสงครามเย็น เนโต้ควรยุบเลิกไป แต่กลับไม่ยอมยุบเลิก โดยอ้างภารกิจต่อสู้กับการก่อการร้าย แต่ในทางปฏิบัติมีการรุกขยายสมาชิกเข้าไปยังชาติยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศอดีตสหภาพโซเวียตบางประเทศ ทำให้รัสเซียรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกปิดล้อมจากเนโต้
โดยเฉพาะการดึงยูเครนเข้าเป็นสมาชิกเนโต้ เพราะรัสเซียถือว่ายูเครนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซีย นี่คือต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด
จากการพูดคุยกับผู้รู้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง มองว่า สถานการณ์ในยูเครน มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายประการ คือ
1.ยุทธศาสตร์ของรัสเซียต่อยูเครน 2.ท่าทีของเนโต้ และ 3.ท่าทีของยูเครน
หนึ่ง ยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ถือว่ายูเครนเป็นเขต vital interest (มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซีย ในกรณีเนโต้ซึ่งเป็นภัยคุกคามรับยูเครนเป็นสมาชิก) ส่วนยุทธศาสตร์ทางนิวเคลียร์ของรัสเซีย เน้น first strike คือจะเป็นฝ่ายโจมตีก่อน ไม่รอให้ถูกโจมตีแล้วค่อยตอบโต้
เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่เรียกว่า decisive factor หรือ “ปัจจัยชี้ขาดการตัดสินใจ” จึงอยู่ที่เนโต้รับยูเครนเป็นสมาชิก หรือกระทำการเสมือนยูเครนเป็นสมาชิกเนโต้แล้ว เช่น การส่งกำลังทหารหรือส่งอาวุธยุทธโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายสูงอันจะเป็นภัยต่อรัสเซียเข้าไปในยูเครน ถ้ารัสซียเล็งเห็นภัยคุกคามเช่นนั้น ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่รัสเซียจะปฏิบัติการโจมตียูเครนและกองกำลังเนโต้ที่กระจายอยู่ในประเทศยุโรปตะวันออกที่เข้าสังกัดเนโต้แล้ว เช่น โปแลนด์ รวมทั้งเสี่ยงที่รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ (ขีปนาวุธติดหัวรบนิเคลียร์ขนาดเล็ก)
สอง ท่าทีของเนโต้ ที่เห็นได้ชัดคือสหรัฐกับอังกฤษที่ส่งกำลังเข้าไปประจำการในประเทศสมาชิกเนโต้ในยุโรปตะวันออกแล้วบางประเทศ รวมถึงส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปสนับสนุนยูเครน
แต่ดูจากอาวุธที่ส่งเข้าไป ยังไม่ถือว่ามีอานุภาพร้ายแรง แต่เป็นอาวุธเชิงตั้งรับในดินแดนตน ขณะที่เนโต้อีกหลายประเทศพยายามหาทางระงับยับยั้งการเกิดสงคราม ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้สหรัฐและอังกฤษตัดสินใจกระทำการโดยลำพังที่เสี่ยงต่อการเกิดสงครามกับรัสเซีย เช่น การส่งกำลังทหารหรืออาวุธทันสมัยเชิงรุกเข้าไปติดตั้งในยูเครน
ส่วนการที่ยูเครนขอให้สหรัฐติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ไม่ใช่อาวุธเชิงรุก แต่เป็นเชิงรับที่ใช้ป้องกันหาถูกรัสเซียโจมตี
สาม ยูเครน แม้แสดงท่าทีชัดเจนอยากเป็นสมาชิกเนโต้ ก็เป็นเพราะต้องการให้เนโต้ช่วยป้องปรามการถูกรุกรานจากรัสเซีย แต่ยูเครนในขณะนี้กังวลการเกิดสงครามมากที่สุด เพราะยูเครนจะกลายเป็นพื้นที่สงครามซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อยูเครนทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง
โดยสรุป ตราบใดที่เนโต้ยังไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก หรือเนโต้มิได้ส่งกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปในยูเครน รวมถึงประเทศสมาชิกเนโต้ในยุโรปตะวันออกที่มีพรมแดนติดรัสเซีย ก็น่าเชื่อว่ารัสเซียจะยังไม่ปฏิบัติการบุกยูเครน แต่จะคงกำลังเอาไว้บริเวณพรมแดนรัสเชียเช่นนี้ต่อไป เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสร้างแรงกดดันต่อเนโต้และยูเครน
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงยังอาจเกิดจากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น ความผิดพลาดของงานข่าวกรองที่อาจแจ้งเตือนว่า ฝ่ายตรงข้ามกำลังจะเปิดการปฏิบัติการทางทหาร จนทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจปฏิบัติการโจมตีก่อนเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ.