หลังจากสำนักงาน กกต.ได้ออกประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานทะเบียนราษฎร และการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยส่งหนังสือ “ด่วนที่สุด” แจ้งไปยัง ผอ.กกต.จังหวัด เมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 นั้น
กระแสยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็โหมกระพือขึ้นทันที เพราะ กกต.คำนวณจำนวน “ส.ส.พึงมี” ของแต่ละจังหวัด ตามหลักฐานจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
และส่งข้อมูลให้ กกต.จังหวัด เตรียมการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ของตนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 แบบ สำหรับจังหวัดที่มี ส.ส.พึงมี เกิน 1 คน
สำหรับจำนวน “ส.ส.พึงมี” ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน แม้จะเพียง 1 เก้าอี้ แต่ก็ถือว่ามีนัยทางการเมือง กล่าวคือ
จ.นราธิวาส เดิม ส.ส. 4 คน จาก 4 เขตเลือกตั้ง เพิ่มเป็น 5 คน จาก 5 เขตเลือกตั้ง
จ.ปัตตานี เดิม ส.ส. 4 คน จาก 4 เขตเลือกตั้ง แบ่งเขตใหม่ยังเท่าเดิม
จ.ยะลา เดิม ส.ส. 3 คน จาก 3 เขตเลือกตั้ง แบ่งเขตใหม่ยังคงเท่าเดิม
สรุปจำนวน “ส.ส.พึงมี” ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มขึ้นจาก 11 คน เป็น 12 คน
แต่หากไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลอยู่ครบเทอม ทำให้ต้องไปหย่อนบัตรกันปีหน้า ก็มีโอกาสที่จำนวนประชากรจะเปลี่ยนแปลงได้อีก
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่หมายปองของพรรคการเมืองหลายพรรค โดยหากย้อนไปดูการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จะพบว่ามีพรรคการเมือง 4 พรรคที่ได้ ส.ส.ในพื้นที่นี้ ประกอบด้วย
พรรคประชาชาติ 6 คน
พรรคพลังประชารัฐ 3 คน
พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
พรรคภูมิใจไทย 1 คน
รวม 11 คน
ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้ง 4 พรรคต่างหมายมั่นปั้นมือว่า จะกวาดที่นั่ง ส.ส.แบบยกภาค ยก 3 จังหวัด หรืออย่างน้อยก็เกือบทั้งหมด โดยพรรคที่ประกาศแล้วก็เช่น พรรคประชาชาติ ตั้งเป้าอย่างน้อย 10 ที่นั่งจาก 12 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย กับพรรคพลังประชารัฐ ตั้งเป้ากวาดทุกที่นั่ง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีคำประกาศที่ชัดเจนจากผู้บริหารพรรค แต่มีข่าวว่าพื้นที่เขต 1 ปัตตานี น่าจะมีปัญหา เพราะ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ผูกขาดของเขตนี้ ซึ่งเป็นลูกหม้อประชาธิปัตย์ กำลังหาพรรคใหม่สังกัด จากปัญหาความขัดแย้งและความเห็นที่ไม่ตรงกันในพรรค
ประเด็นที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางอ้อม ก็คือ เมื่อวาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่เป็น “เลือดใหม่” ไม่ใช่อดีต ส.ส. จำนวน 3 คน หนึ่งในนั้นคือ นายราชิต สุดพุ่ม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
นายราชิต เป็นอดีตนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และอดีตปลัดจังหวัด ตำแหน่งทางราชการก่อนเกษียณ คือเป็นผู้ว่าฯปัตตานี ได้รับรางวัลนายอำเภอดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2550 และเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น รางวัลครุฑทองคำ ประจำปี 2550 เช่นกัน
นายราชิต เป็นผู้ว่าฯปัตตานี คนที่ 51 เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 30 ก.ย.2564
สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช เดิมมี ส.ส.ได้ 8 คน จาก 8 เขตเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมี ส.ส.ได้ 9 คน เท่ากับ จ.สงขลา ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 คนเช่นกัน ถือเป็น 2 จังหวัดในภาคใต้ที่มีจำนวน “ส.ส.พึงมี” สูงที่สุด