ส.ส.ประชาชาติ ยื่นกระทู้ถามนายกฯ ปมตั้ง “ผู้แทนพิเศษดับไฟใต้” พร้อมที่ปรึกษา ค่าตอบแทนปีละกว่า 18 ล้าน ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาชายแดนใต้ แถมสิ้นเปลืองงบประมาณ บทบาทซ้ำซ้อนหน่วยปกติ กรรมการบางคนไม่ลงพื้นที่ ชาวบ้านจนเหมือนเดิม ด้าน รมช.กลาโหม แจง
เก็บตกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.65 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.เขต 4 นราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการตั้ง “ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการผู้แทนพิเศษฯ ชุดใหม่ เป็นผู้ตอบกระทู้
@@ สารพัดองค์กรดับไฟใต้...เพิ่มใหม่ “ผู้แทนพิเศษฯ”
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานาน มีโครงสร้างการบริหารของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหามากมาย เช่น คปต., คปต.ส่วนหน้า, กอ.รมน., กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ที่เป็นหน่วยงานพิเศษทั้งสิ้น และล่าสุดมีเพิ่มอีกคณะหนึ่ง คือ คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เพิ่งมีการแต่งตั้งล่าสุด ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.64 โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
คณะผู้แทนพิเศษฯนี้ จริงๆแล้ว เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 57 โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย.59 คสช.หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษฯขึ้น โดยมีหน้าที่ประสานงาน เสนอแนะ และกำกับดูแลหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีงบประมาณแยกต่างหาก เดิมมีกรรมการจำนวน 10 กว่าคน ครั้งต่อมาที่ตั้งต่อเนื่อง ก็ลดจำนวนลงมาเรื่อยๆ (ชุดปัจจุบันเหลือ 6 คน เป็นประธาน 1 กรรมการด้านต่างๆ 5 คน 5 ด้าน)
@@ งบปีะละ 10 กว่าล้าน - ที่ปรึกษาอีก 8 ล้าน
“คณะผู้แทนพิเศษฯใช้งบประมาณแผ่นดินทุกปี ผมไปตรวจสอบตัวเลขปรากฏว่า คณะผู้แทนพิเศษฯ มีงบประมาณเป็นค่าตอบแทนปีละ 10 กว่าล้านบาท ผู้แทนพิเศษฯแต่ละคนยังมีค่าตอบแทนของที่ปรึกษาปีล่าสุด 8 ล้านกว่าบาท และก่อนหน้านี้ได้ยินเสียงบ่นถึงคณะผู้แทนพิเศษฯว่า ไปปัดแข้งปัดขาหน่วยงานในพื้นที่ และคณะผู้แทนพิเศษฯบางคนไม่เคยลงพื้นที่เลย จึงเกรงว่าผู้แทนพิเศษฯที่ตั้งขึ้นมาล่าสุด จะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น โครงสร้างยิ่งเยอะ การบังคับบัญชายิ่งมาก การไม่บูรณาการหน่วยงานให้เป็นหนึ่ง มันจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แถมสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงขอถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ที่ผ่านมาคณะผู้แทนพิเศษฯ มีบทบาทและมีผลงานที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง?” ส.ส.กมลศักดิ์ ยิงคำถามกลางสภา
@@ “บิ๊กช้าง” แจงผลงาน “การศึกษา-การพัฒนา”
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ลุกขึ้นตอบว่า คณะผู้แทนพิเศษฯ ที่ได้แต่งตั้งขึ้นนั้น ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการทุกภาคส่วนทั้งในส่วนของภาครัฐเองและเอกชนที่ทำงานอยู่ในจังหวัดชายแดนแดนภาคใต้ มีการบูรณาการการทำงาน การประชุม การเสนอแนวทางการดำเนินการไปสู่ คปต. (คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) ถ้ามีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงใด จะเป็นการสั่งการในระดับนโยบายลงไป การดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมานั้นสามารถดำเนินการได้เป็นไปตามตัวชี้วัดของแผนงานโครงการ ทั้งในมิติด้านความมั่นคงและการพัฒนา
ผลงานของคณะผู้แทนพิเศษที่เป็นรูปธรรม ขอยกตัวอย่าง 2 ด้าน เช่น ด้านการพัฒนาและการศึกษา ได้ประสานงานขับเคลื่อนโครงการตำบลมั่งคั่งยั่งยืน ขจัดความยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องเศรษฐกิจ ประสานงานส่งเสริมการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และการบริการ
ด้านการศึกษา ได้พัฒนาโรงเรียนประจำไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนกลุ่มเปราะบางมีการศึกษาสายอาชีพ สร้างงานให้นักเรียนมีงานรองรับ ขับเคลื่อนอัตลักษณ์ชุมชนกำปงตักวา งานความปลอดภัย และความร่วมมือผู้แทนพิเศษฯ ได้ประสานงานภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา สนับสนุนสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข ขับเคลื่อนสภาสันติสุขให้มีความเข้มแข็ง
รมช.กลาโหม กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของผู้แทนพิเศษฯ ครั้งล่าสุดนั้น มีแนวทางดำเนินการอย่างไร ขอเรียนว่าที่ผ่านมาเป็นการขับเคลื่อน แต่ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ได้ปรับรูปแบบเป็นคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านต่างๆ จะมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนและให้ข้อเสนอแนะต่อ คปต. ที่สำคัญคือการดำเนินการจะไปดูในแผนงานยุทธศาสตร์ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำหนด คณะผู้แทนพิเศษฯ จะนำมาขับเคลื่อนเป็นเรื่องๆ ไป
@@ ส.ส.ข้องใจคนชายแดนใต้จนเหมือนเดิม
จากนั้น ส.ส.กมลศักดิ์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ได้ฟังคำชี้แจงจาก รมช.กลาโหม ในส่วนของผลงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติงานของหน่วยปกติ หรือกลไกปกติที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ บทบาทสำคัญของผู้แทนพิเศษฯ โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา ยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน เพราะตัวเลขการศึกษาของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังต่ำ อยู่ท้ายสุดของประเทศ และที่บอกว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตั้งแต่มีคณะผู้แทนพิเศษฯ มาเมื่อปี 59 จนถึงครั้งที่ 4 ปี 65 คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังจนอยู่ ผลงานที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ยังไม่เห็นเป็นที่ชัดเจน
โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณในด้านการศึกษา สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการศึกษาสามัญ โรงเรียนเอกชน ปอเนาะ ตาดีกา มีสำนักงานพื้นที่การศึกษาเอกชนเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ตนตรวจสอบข้อมูลงบประมาณที่ทางฝ่ายบริหารบอกว่าจะแก้ปัญหาอย่างที่ได้ตอบคำถาม ในส่วนของโรงเรียนจริยธรรมอิสลาม พรรคประชาชาติเรียกร้องมาตลอดให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องอาหารกลางวัน วันเสาร์-อาทิตย์ แต่สำนักงานการศึกษาเอกชนในแต่ละอำเภอได้รับงบประมาณปีละไม่ถึงแสนบาท แล้วจะไปดูแลลูกหลานของพี่น้องในพื้นที่ได้อย่างไร หวังว่าผู้แทนพิเศษฯจะนำประเด็นเหล่านี้ เสนอแนะไปยังรัฐบาลให้เพิ่มงบประมาณ และมีความจริงใจกับเรื่องเหล่านี้เสียที