กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมไม่ค่อยจะใส่ใจกันเท่าใดนัก สำหรับผลการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “พูดคุยดับไฟใต้” ที่มาเลเซีย
สังเกตจากการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือเกาะติดนำเสนอกันอย่างครึกโครมเหมือนเมื่อหลายปีก่อน
แต่จะสรุปแบบนั้นเลยก็คงไม่ถูกนัก เพราะหัวข้อของการพบปะพูดคุย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 แล้วสำหรับโต๊ะพูดคุยวงนี้ (รัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาฯสมช. กับ บีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน) ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือ ลดความรุนแรง, การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง
และกระบวนการที่จะเดินกันต่อ ก็ยังคล้ายๆ เดิม คือ ขอความร่วมมือลดความรุนแรงทั้งสองฝ่าย, ตั้งคณะทำงานร่วม หรือ Joint working group (JWG) ขึ้นมาวางกลไกการสร้างการมีส่วนร่วม และตั้งคณะทำงานศึกษา หรือ Joint study group เพื่อศึกษาประเด็นที่เป็นทางออกทางการเมือง
ทั้งหมดนี้เป็นงานระยะยาว เพราะ พล.อ.วัลลภ บอกว่า ราวๆ 1 ปีนับจากนี้ จะเห็นความคืบหน้าเรื่องการลดความรุนแรง กับการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ และอีก 2 ปี น่าจะเห็นความคืบหน้าของการแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน
การพูดคุยหนนี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ (เพราะมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก) หลังเสร็จภารกิจ คณะพูดคุยของรัฐบาลไทยกลับมา โดยผ่านทางภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อกักตัว จึงได้เปิดแถลงข่าวที่ริมหาดกะรนของภูเก็ต เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ม.ค. บทสรุปของการแถลงก็เป็นไปอย่างที่เล่าอย่างย่อให้ฟัง
ในฐานะที่ทำข่าวเกี่ยวกับชายแดนใต้มานานพอสมควร ได้เคยผ่านตาการพบปะพูดคุย และการวางกรอบการทำงาน ตลอดถึงการตั้ง JWG โดยเฉพาะแนวทางการลดความรุนแรงในพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง หากนับเฉพาะโต๊ะพูดคุย ก็เปลี่ยนมาแล้ว 3-4 ชุดในห้วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา คือ
- ชุดที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาฯสมช. เป็นหัวหน้า พูดคุยกับบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ เกิดขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 56-57)
- ชุดที่ พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกฯ เป็นหัวหน้า พูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ที่รวมกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่มมาร่วมพูดคุย เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 (ช่วงปี 58-61)
- ชุดที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้า พูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ต่อเนื่องจากชุดของ พล.อ.อักษรา เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลประยุทธ์ 1 กับ 2 (ปี 61-62)
- ชุดที่ พล.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้า พูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน นัดพบปะอย่างเป็นทางการครั้งแรก ม.ค.63 จากนั้นติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การพูดคุยหยุดชะงักไป และกลับมานัดพบปะกันใหม่เมื่อ 11-12 ม.ค.65
นี่คือเส้นทางที่เดินวนไปเวียนมา จะสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลไทยเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยมาแล้วถึง 4 ครั้ง ทั้งๆ ที่การพูดคุยและทำข้อตกลงระหว่างกันเป็นเรื่องระยะยาว และต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจค่อนข้างสูง
ดูจากข้อตกลงล่าสุดที่ พล.อ.วัลลภ บอกว่าอีก 1-2 ปีจะเริ่มเห็นความคืบหน้า คำถามคือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ถึงวันนั้นหรือเปล่า ถ้าอยู่ไม่ถึง มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา โดยเฉพาะหากเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนคณะพูดคุยใหม่ หรือกลับไปใช้บริการชุดแรก (สามทหารเสือ พล.ท.ภราดร, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก) ซึ่งเคยเปิดโต๊ะพูดคุยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
ปัญหาสำคัญของกระบวนการนี้ในบ้านเราคือ คณะพูดคุยเป็นตัวแทนของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ตัวแทนของ “รัฐไทย” ที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ปัญหานี้ทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสการพัฒนากระบวนการสันติภาพไปอย่างน่าเสียดาย พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรคืบหน้าเลย
แต่ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็คือ ทุกครั้งที่มีการพูดคุย ฝ่ายที่เป็นคู่เจรจาของรัฐบาลไทย ได้มีโอกาสเปิดเผยตัวตน ยกระดับองค์กร (ขบวนการ) และยกสถานะขึ้นเป็นคู่เจรจากับรัฐบาลไทยทุกครั้ง รวมถึงได้เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ตลอดจนเงื่อนไขต่อรองที่บางเรื่องก็มองไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในองค์รวมตรงไหน (ไม่ใช่แค่รัฐบาล)
อย่างการพูดคุยครั้งล่าสุดกับบีอาร์เอ็น ที่นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน ก็มีข้อสังเกตและข้อน่ากังวลจากนักวิชาการไทยที่เกาะติดกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯมาตลอด ซึ่งแต่ละประเด็นนับว่าน่าสนใจ
1.รัฐบาลไทยเรียกกระบวนการนี้ว่า “พูดคุยสันติสุข” แต่แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น ซึ่งใช้ภาษามลายู เรียกกระบวนการนี้ว่า “การเจรจาสันติภาพ” และยกระดับ “บีอาร์เอ็น” หรือ “แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี” เป็นคู่เจรจากับรัฐบาลไทย
2.ประเด็นที่จะตกลงกัน 3 เรื่อง เกิดคำถามว่า ฝ่ายรัฐบาลไทยได้ประโยชน์อะไร
หนึ่ง การลดความรุนแรง ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่หลักประกันว่าบีอาร์เอ็นจะหยุดก่อเหตุร้าย เพราะก่อนหน้านี้บีอาร์เอ็นเคยประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวมาแล้ว และยังไม่เปลี่ยนคำประกาศ แต่บีอาร์เอ็นก็ยังคงก่อเหตุมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความตกลงลดความรุนแรงจึงน่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายบีอาร์เอ็น ในการใช้บีบให้กองทัพลดกิจกรรมทางทหารลงมากกว่า
สอง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ประเด็นนี้เท่ากับเปิดโอกาสให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ ติดต่อพบปะกับประชาชนได้อย่างเสรี ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ โดยจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ( immunity) หนำซ้ำฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องคอยอำนวยความสะดวกให้คนของบีอาร์เอ็นระหว่างลงพื้นที่ด้วย
สาม การแสวงหาทางออกทางการเมือง ข้อนี้ตีความได้อย่างเดียวว่า บีอาร์เอ็นจะรุกเรื่อง “เขตปกครองตนเอง” รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเอื้อต่องานการเมืองของบีอาร์เอ็นเอง แม้คณะพูดคุยจะย้ำกับฝ่ายไทยว่า จะเคารพรัฐธรรมนูญไทย คือ ไม่แยกดินแดนก็ตาม แต่ตราบใดที่ธรรมนูญของบีอาร์เอ็นยังระบุชัดเจนถึงเป้าหมายเอกราช การได้เขตปกครองพิเศษก่อน ย่อมเป็นการกรุยทางไปสู่ความเป็นเอกราชได้โดยง่าย
3.การพูดคุยรอบนี้มีการอนุญาตให้ผู้แทนจากประเทศที่สาม 2 คน (2 ชาติ?) มาร่วมในวงพูดคุย คล้ายๆ เป็นสักขีพยานด้วย (ในเอกสารแถลงการณ์ของ BRN ก็มีระบุไว้) รวมทั้งยังมีการหารือวงในว่าจะเปลี่ยนสถานะของมาเลเซีย จาก “ผู้อำนวยความสะดวก” เป็น “คนกลาง” เท่ากับยกสถานะให้มาเลเซียสามารถเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดประเด็นขัดแย้งได้อีกด้วย
4.มีผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และเข้าใจกลยุทธ์การเจรจาต่อรอง เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย หรือตรวจสอบการทำข้อตกลงด้วยหรือไม่
5.เมื่อบีอาร์เอ็นอ้างในแถลงการณ์ว่า กระบวนการนี้เป็นการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นเท่านั้น เท่ากับเป็นการกีดกันกลุ่มขบวนการอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ทั้งในและนอกพื้นที่ไม่ให้เข้าร่วมกระบวนการด้วย แล้วจะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นจริงที่ปลายทางได้หรือไม่ เพราะอีกหลายกลุ่มไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยเจรจา
นี่คือข้อสังเกตและคำถามจาก “ผู้รู้” ที่มีความห่วงใย ซึ่งรัฐบาลสมควรที่จะใส่ใจและพิจารณาอย่างจริงจัง
ที่สำคัญจะว่าไป ไฟใต้รอบนี้เกิดมาแล้วเกือบ 20 ปี (ครบวาระ 18 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนไปเมื่อวันที่ 4 ม.ค.65) ปัญหาภาคใต้ ตลอดจนแนวทางแก้ไขต่างๆ เพื่อทำให้เกิดสันติสุข เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายรับรู้ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9
หรือหากจะย้อนไปไกลกว่านั้น ก็ยังมีพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่เป็นรัฐประศาสโนบายสำหรับผู้ปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี รวมไปถึงคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญ ที่มองผ่านเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีเมื่อปี พ.ศ.2518 ด้วย
ปัญหาจึงมีแต่เพียงว่ารัฐบาลชุดต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำแล้วหรือยัง?
ถ้าพื้นที่นี้จำเป็นต้องเป็น “เขตปกครองพิเศษ” และเป็นความต้องการของประชาชน เช่น “เขตปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม” ทำไมรัฐบาลไม่เดินหน้าทำไปเลย ไม่เห็นต้องรอถามกลุ่มขบวนการใดก่อน
เมื่อเร็วๆ นี้ คปต. (คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) เห็นชอบให้เสนอรัฐบาลตั้ง “ศูนย์พัฒนาทักษะภาษา” เพื่อสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยจะจัดตั้งขึ้นนำร่อง 184 ศูนย์ แต่เป็นศูนย์พัฒนาทักษะภาษาไทย เหตุใดจึงไม่ใช้ศูนย์นี้พัฒนาทักษะภาษามลายู ให้สามารถใช้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะได้เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการทำงานในประเทศเพื่อนบ้านไทยที่ใช้ภาษามลายู ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอาจรวมถึงบรูไนด้วย
น่าจะดีกว่านั้นอีกหากยกระดับการพัฒนาทักษะภาษาอาหรับ เพื่อเชื่อมสามจังหวัดใต้ของไทยกับโลกอาหรับในตะวันออกกลาง ซึ่งจะสามารถสรรค์สร้างโอกาสได้อีกมากมายมหาศาล
เรื่องลดความรุนแรง ยุติเหตุร้าย ยุทธศาสตร์ที่จัดทำโดยรัฐบาลชุดนี้เอง เพิ่งจะบอกว่าปี 2570 เหตุรุนแรงยุติ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าทำไมไม่ยุติปีนี้เลย ฉะนั้นถ้าเราตอบโจทย์ชาวบ้านได้ ด้วยการเป็นผู้นำ “สันติวิธี” หยุดวิสามัญฆาตกรรม และมุ่งมั่นพัฒนาจริงๆ ภายใต้หลักการมีส่วนร่วม (ไม่ใช่ทำแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ) ก็น่าจะสร้างความหวังใหม่ๆ ให้คนในพื้นที่ได้
ที่สำคัญการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องไม่มี งบประมาณด้านการพัฒนาทุกบาททุกสตางค์ต้องถึงมือคนพื้นที่จริงๆ
ถ้าเราตั้งต้นใหม่ แก้ปัญหาด้วยกรอบคิดแบบพลเรือน ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เน้นงานพัฒนา (แบบฟังความเห็นชาวบ้าน) แล้วก็เปิดเวทีรับฟังไปเรื่อยๆ ให้คนมาพูดคุยปัญหา ทำให้คนที่เลือกใช้ความรุนแรงเป็นพวกตกขอบ เพราะคนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตบ้านตัวเอง ทำไมดินแดนแห่งนี้จะสงบไม่ได้
แต่เมื่อรัฐบาลทุกชุดไม่ทำแบบนี้ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ วันนี้เราจึงต้องไปพุดคุยกับคนที่ใช้ความรุนแรง คนที่ฝ่ายรัฐเองประณามว่าทำผิดกฎหมาย แต่เป็นคนที่เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมาเลเซียว่า เพราะพวกเขานี่แหละที่ทำให้รัฐไทยยอมรับฟัง และเขาคือตัวแทนของประชาชนชาวปาตานี
ระวังบทจบของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เขตปกครองพิเศษ!