คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แถลงย้ำความสำเร็จพบปะ “บีอาร์เอ็น” เดินหน้าตั้ง “คณะทำงานร่วม” เพื่อลดความรุนแรง สร้างการมีส่วนร่วมประชาชน พร้อมชงทีมศึกษาทางออกทางการเมือง คาด 2 ปีได้เห็นแน่
ที่โรงแรม Le Meridian Phuket Beach Resort จ.ภูเก็ต คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้เปิดแถลงข่าวสรุปผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ หลังจากร่วมประชุมหารือกับคณะผู้แทนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ BRN ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค.65
ผู้ที่ร่วมแถลง ประกอบด้วย พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 พล.ท.สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมคณะ
พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝั่งไทย และคณะผู้แทน BRN นำโดย อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มานและคณะ โดยมี นายตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์อีก 2 คน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย มีท่าทีที่มีมิตรไมตรีต่อกัน
ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิดทำให้กระบวนการพูดคุยประสบปัญหาในการเดินทางไปประชุม การพูดคุยพบปะไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้การพูดคุยเกิดการชะลอไป แต่ทั้งสองฝ่ายได้พยายามสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขผ่านทั้งออนไลน์ รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้าต่อเนื่อง จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการประชุมแบบ Face to Face ที่ประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค.65 โดยผลการหารือจากการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
@@ ขีดกรอบ 3 ประเด็น - ตั้งคณะทำงานร่วม – ชงทีมศึกษาทางออกการเมือง
ประเด็นแรก คือ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยหารือและเห็นพ้องกันในเรื่องหลักการทั่วไปในกรอบสารัตถะ 3 เรื่อง คือ
1. การลดความรุนแรง
2. การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่
3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง
ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และครอบคลุมทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือการอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าอันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืนต่อไป
ประเด็นที่ 2 การจัดตั้งกลไกเพื่อมาขับเคลื่อนประเด็นสารัตถะของการพูดคุย โดยมีการพิจารณาจัดตั้งผู้ประสานงาน Joint working group ขึ้นมาในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการลดความรุนแรงและการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่
ส่วนประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและละเอียดค่อนข้างมาก ก็จะใช้ลักษณะการจัดตั้ง Joint study group เข้ามาเพื่อศึกษาในรายละเอียด หาแนวทางที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การจัดตั้งดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแบบกึ่งทางการ ที่สามารถพบปะหารือติดต่อพูดคุยกันได้โดยตรง เพื่อกำจัดจุดอ่อนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ที่ทำการประชุมอย่างเป็นทางการทำได้ค่อนข้างยาก การจัดตั้งลักษณะนี้ก็จะช่วยผลักดันให้ประเด็นสารัตถะต่างๆ คืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
@@ ลดความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย - คุย 2-3 เดือนต่อครั้ง
ประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยได้หยิบยกขึ้นมา คือ การลดกิจกรรมความรุนแรงลงของทั้ง 2 ฝ่ายโดยความสมัครใจ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุยที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้นที่ โดยคณะพูดคุยฝั่งไทยและกองทัพภาคที่ 4 ได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้ไว้บางส่วนแล้ว
อย่างไรก็ตาม การพูดคุยครั้งต่อไป ได้มีการหารือในที่ประชุมว่าจะมีการพูดคุยกัน 2-3 เดือนต่อครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วย
@@ อีก 2 ปีคืบหน้าแสวงหาทางออกการเมือง
พล.อ.วัลลภ กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะพูดคุยได้มุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนผลักดันให้กระบวนการพูดคุยเป็นหนทางที่สามารถสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่กลุ่มขบวนการ BRN รวมถึงภาคประชาชน เพื่อมาแสวงหาทางออกร่วมกันต่อไป
โดยตลอดในห้วง 2 ปีที่มีการพูดคุยกับกลุ่ม BRN จากช่วงแรกที่มีความไม่วางวางใจกัน จนถึงขณะนี้เริ่มมีความเชื่อมั่นกันพอสมควร ผลจากการพูดคุยครั้งนี้ ถือว่ามีความก้าวหน้าที่ดีมาก นำมาสู่การกำหนดหัวข้อประเด็นสารัตถะกันได้ ถือเป็นความก้าวสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
โดยหนึ่งปีหลังจากนี้คาดว่าจะมองเห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ หลังจากนี้ คณะพูดคุยจะต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ คาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะเห็นความคืบหน้าในการพูดคุยเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมืองได้ต่อไป