กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ถูกนำมาผูกโยงกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะมีความเคลื่อนไหวจากผู้เห็นต่างจากรัฐ คัดค้าน “เมกะโปรเจค” ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
โดยเฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และโรงไฟฟ้าเทพา ทั้งสองโครงการอยู่ในพื้นที่ อ.จะนะ กับ อ.เทพา จ.สงขลา สองอำเภอรอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงเช่นกัน
แม้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จะเป็นกระบวนการเปิดเผย แต่หลายเสียงจากในพื้นที่ยังคงเห็นว่า ได้รับโอกาสการมีส่วนร่วมน้อยเกินไป
ส่วนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ พื้นที่ในสื่อก็มักจะเป็นเสียงจากกลุ่มผู้คัดค้าน
พระสิริจริยาลังการ เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง รองเจ้าคณะภาค 18 ในฐานะตัวแทนชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงทัศนะเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องโครงการพัฒนาของรัฐ และโต๊ะพูดคุยสันติสุขฯ ที่คนพื้นที่เหมือนถูกลืม
“อยากเห็นการพัฒนาเรื่องการค้าขายระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทำให้เป็นจุดใหญ่ๆ มีจุดพักสินค้า พระอาจารย์คิดแบบนี้นะ” พระสิริจริยาลังการ กล่าวในเบื้องต้น ก่อนขยายความ...
“อย่างโครงการที่จะนะสมควรทำ แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ต้องหาวิธีแก้ หาวิธีช่วยเขา เข้าไปแก้ให้เขา ต้องไปดูว่าเขาได้รับผลกระทบเรื่องไหน เข้าไปช่วยเลย เอาเป็นจุดๆ ไป เพราะถ้าเราเอาจุดเดียวมาเป็นปัญหาใหญ่ มันไม่ได้ ต้องดูว่าจุดที่เขาเรียกร้องอยู่มีผลกระทบจริงๆ กี่เรื่อง วิถีชีวิตกระทบอย่างไร เข้าไปจัดการให้เป็นพิเศษเลย ดูคนตรงนั้น จุดตรงนั้น วิถีชีวิตตรงนั้น ให้เป็นพิเศษว่าจะเอาอย่างไร ให้อยู่กับเมืองอุตสาหกรรมที่มันจะเอื้อต่อคนหมู่มาก และเอื้อต่อการค้าไทย-มาเลเซียได้ เพราะจะนะเป็นเมืองหน้าด่าน”
รองเจ้าคณะภาค 18 สรุปว่า ถ้าทำโครงการแบบนี้ได้ รับรองว่าสามจังหวัดนี้รุ่งเรือง คือพอคนมีอาชีพ เรื่องอื่นๆ ก็จะหายไป
นัยแห่งความหมายที่ พระสิริจริยาลังการ พยายามสื่อว่า “เรื่องอื่นๆ ก็จะหายไป” นั่นก็คือปัญหาความไม่สงบและการใช้ความรุนแรงที่มีมาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ
“คำว่าความสงบ การสูญเสียในชีวิต ยังไม่เห็นว่าจะจบได้อย่างไร เพราะกลุ่มที่มีอุดมการณ์ก็ยังมีอยู่ ยังเป็นกองกำลังที่ใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรงในการทำลาย เหล่านี้มันยังมีอยู่ ยังไม่จบ ยังปราบไม่ได้ ปราบด้วยวิธีไหนยังไม่หมด ยังไม่จบ เพียงแต่ว่าถ้ามีโครงการพัฒนา เศรษฐกิจอาจจะดีขึ้น”
“จังหวัดชายแดนภาคใต้ติดกับมาเลเซีย เห็นรัฐบาลกำลังพยายามจับเรื่องการค้าชายแดน ทำอะไรต่างๆ ที่มันจะเอื้อต่อการค้าการขาย พระอาจารย์ว่าถ้าทำสำเร็จตรงนี้ หรือทำให้เดินไปได้ ถ้าเศรษฐกิจดี ปัญหาตรงนี้อาจหมดไปได้”
รองเจ้าคณะภาค 18 บอกอีกว่า การสร้างนิคมอุตสาหกรรมต้องเกิดขึ้น ส่วนผลกระทบที่จะเกิดตามมา ก็ต้องแก้กันไป
“พระอาจารย์มองว่า ถ้าตรงนี้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็จะส่งผลถึงปากท้องชาวบ้าน แล้วชายแดนด่านเบตง (ยะลา) ด่านสุไหงโก-ลก ด่านตากใบ (นราธิวาส) ด่านจังโหลน (อ.สะเดา จ.สงขลา) ถ้าของไทยเราทำให้ดี ทำให้มีมาตรฐาน เรื่องการค้าการขาย นำเข้ามา มาเลเซียก็นำเข้าด้วย รถทั้งนั้นเลย รถบรรทุก รถอะไรเข้ามา ทำตรงนี้ให้มันง่ายๆ ต่อการผ่านด่าน วิ่งเข้ามาแบบรถยนต์ในบ้านเราเลย อย่างนี้รับรองว่าเศรษฐกิจดี ไม่ต้องห่วงเลย”
“สถานการณ์สงบหรือไม่สงบ แต่ถ้าเศรษฐกิจเป็นแบบที่ว่านี้ มีสินค้าเข้าๆ ออกๆ มาเลเซียเข้าไทย และจากไทยเข้ามาเลเซีย เป็นอย่างนี้ จังหวัดชายแดนภาคใต้รุ่งเรืองแน่นอน”
พระสิริจริยาลังการ ยอมรับว่า ปัญหาชายแดนใต้ สำคัญมากที่ความมั่นคง แต่ถ้าทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ก็จะช่วยเกื้อหนุนให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงลดลงไปเอง
“ถ้าตั้งใจทำตรงนี้ มีความหนักแน่นในการทำเศรษฐกิจให้คล่อง ทุกอย่างจะดีไปเอง”
ส่วนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ รองเจ้าคณะภาค 18 แห่งวัดตานีนรสโมสร เมืองปัตตานี ตั้งข้อสังเกตเรื่องการมีส่วนร่วม รวมถึงการรับรู้ของประชาชน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเคยมาพบและเล่าให้ฟังเพียงครั้งเดียวช่วงที่เริ่มต้นกระบวนการพูดคุยใหม่ๆ ( 2 ปีที่แล้ว) จากนั้นก็ไม่เคยมา ทั้งๆ ที่น่าจะมาเล่าให้ฟังบ้าง พระจะได้สื่อสารต่อไปยังประชาชน