ไม่ชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงหรือไม่ ระหว่างสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับโต๊ะพูดคุยสันติสุข
แต่บรรยากาศในพื้นที่ร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับในช่วงใกล้วันนัดพูดคุยฯ
ข่าวว่าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็น นัดพบปะกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันอังคารที่ 11 ม.ค.65 โดยมี ตันสรี อับดุลราฮิม มูฮำหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก
พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายรัฐบาลไทย ออกมายืนยันข่าวนี้ และรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ
"ทั้งสองฝ่ายพร้อมนัดพูดคุยกันจริงในวันที่ 11-12 ม.ค.นี้ และยังคุยกันเรื่องเดิม" พล.ท.ธิรา กล่าว
ก่อนจะขยายความว่า "เรื่องเดิม" คือเรื่องอะไร พล.ท.ธิรา อธิบายถึงโครงสร้างคณะพูดคุยฯก่อน
"ทั้ง 2 ฝ่ายนัดพูดคุยพร้อมกัน ก็จะมีคณะฝั่งเรา (รัฐบาลไทย) 7 คน นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝั่งเขา (ฝ่ายบีอาร์เอ็น) มี 7 คนเช่นกัน มี อุสตาซหีพนี มะเร็ะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก มีผู้สังเกตการณ์"
หลังจากเปิดตัวคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นชุดนี้ เมื่อเดือน ม.ค.63 มีการพูดคุยกันมาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนจะชะงักไปเพราะโควิด-19
"คณะนี้ได้คุยกันมา 2 ครั้ง เป็นการคุยแบบสร้างความไว้วางใจ คุยกันในต่างประเทศ เราไม่คุยภาษาไทย เราคุยแล้วแปล ก็แปลกันอยู่แบบนั้น คุยแล้วกลุ่มที่ตะขิดตะขวงใจก็ขอเวลานอก เมื่อพร้อมก็คุยนัดเวลาคุยต่อ"
คณะพูดคุยฯชุดนี้ไม่ใช่กลุ่ม "มารา ปาตานี" ที่พูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 58-59 ก่อนจะเลิกรากันไป หลายคนบอกว่าคณะพูดคุยฯชุดใหม่เป็นตัวจริง ซึ่ง พล.ท.ธิรา แบ่งรับแบ่งสู้ในประเด็นนี้
"กลุ่มนี้จะเป็นตัวจริงหรือตัวปลอมเราไม่รู้ แต่เมื่ออุปมาอุปไมยเขาบอกว่าใช่ แล้วในทำเนียบรายชื่อ คนเหล่านี้ก็ใช่ ก็ถือว่าจบ ก็คุยกันมา ช่วงที่ผ่านมามีโควิดระบาดเราก็คุย เป็นการคุยผ่านโซเชียลฯ ผ่านซูม นอกจากนี้ในระดับพื้นที่เราก็คุย มี สล.3 (คณะประสานงานระดับพื้นที่) ดำเนินงานตรงนี้ แบ่งเป็นคณะๆ ไป แล้ววันที่ 11-12 ม.ค. เราก็นัดกันคุยอีกรอบ"
แล้วก็มาถึงเรื่องที่จะคุยกัน ซึ่ง พล.ท.ธิรา บอกว่าเป็น "เรื่องเดิมๆ"
"เขาขอให้ยกเลิกด่าน (หมายถึงด่านตรวจตามท้องถนน) เราก็บอกว่ายกเลิกได้ เพราะด่านเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการสกัดคุณ ถ้าคุณไม่ก่อเหตุ ด่านก็ไม่เกิด" แม่ทัพน้อยที่ 4 กล่าวแบบตรงไปตรงมา
และว่า "ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย (หมายถึงการปิดล้อมตรวจค้น) เราก็ใช้วิธีจากเบาไปหาหนัก เชิญผู้นำมาคุย แล้วบอกว่าให้ออกมานะ ตอนนี้เจ้าหน้าที่ล้อมไว้หมดแล้ว เราทำแบบนั้นจริงๆ ในหนังทำอย่างไร ของจริงอย่างนั้นเลย"
"เราจะไม่คุยนอกเหนือไปจากนี้ มีเอกสาร มีข้อเสนอเรียบร้อย คุยกัน รับร่างมั้ย หรือจะไม่ลงนาม แค่เห็นชอบมั้ย ถ้าคุยแล้วไม่พอใจอะไรก็เปลี่ยน ถ้าไม่พอใจผู้สังเกตการณ์ ก็เปลี่ยน ทราบมาคราวๆ ว่านัดกันครั้งนี้ ฝ่ายกองกำลัง หรือฝ่ายทหาร (ของบีอาร์เอ็น) จะมาคุยด้วย แต่จะมาหรือไม่มาเราก็ไปบังคับใครไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเราเจอกับแบบสมัครใจคุย"
พล.ท.ธิรา ย้ำว่า ต้องคุยกับบีอาร์เอ็น แต่ไม่ได้หมายความจะคุยแค่บีอาร์เอ็น
"ที่เรากำลังคุยอยู่ไม่ใช่แค่บีอาร์เอ็นเท่านั้น แต่รากเหง้าของปัญหาคือบีอาร์เอ็น ไม่พูดถึงไม่ได้"
ดูเหมือนประเด็นเรื่องการวางกำลังในพื้นที่ และขอเรียกร้องเรื่องให้ถอนกำลังทหารออกไป จะยังเป็นความต้องการของฝ่ายที่เข้ามาพูดคุยบนโต๊ะเจรจา เพราะแม่ทัพน้อยที่ 4 ก็เปรยถึงการวางกำลังในพื้นที่เช่นกัน
"ตอนนี้ถ้าเป็นในเมืองก็จะเป็นตำรวจ ในหมู่บ้านใช้กองกำลังของมหาดไทย (อส. และกองกำลังภาคประชาชน) รอบนอกในป่าก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร" แม่ทัพน้อยที่ 4 กล่าวในที่สุด
กระบวนการการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่แน่ๆ คือข้อตกลงสันติภาพคงไม่เกิดได้ง่ายๆ แน่...