คำถามสำคัญในวาระ 18 ปีไฟใต้ ณ วันที่ 4 ม.ค.65 ก็คือ สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นจริงหรือไม่?
จะว่าไปคำถามนี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้เสียงดังขึ้น เพราะรัฐบาลประกาศเป้าหมาย "ไฟใต้เป็น 0" เหตุรุนแรงยุติในปี 2570
มีข้อสังเกตจากบางฝ่ายเกี่ยวกับสถิติเหตุรุนแรงที่พุ่งสูงขึ้นในปี 64 (ซึ่งฝ่ายรัฐไม่ค่อยพูดถึงนัก) ทั้งๆ ที่ทิศทางเหตุรุนแรงตั้งแต่ปี 52-53 (หลังมีการเปิดปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมครั้งใหญ่ และใช้กฎหมายพิเศษเต็มรูปแบบในปี 51) อยู่ในทิศทาง "ขาลง" มาโดยตลอด กล่าวคือตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงถ้าไม่ทรงๆ ก็ลดลงต่อเนื่อง จากหลักพันเหลือเพียงหลักร้อย...
แต่ปี 64 เหตุรุนแรงกลับดีดขึ้น สอดคล้องกับสถิติเหตุการณ์ปิดล้อม ยิงปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
สองเรื่องนี้ส่งผลต่อเนื่องถึงกันหรือไม่? เป็นโจทย์ที่น่าคิด...
เฉพาะปี 64 มีเหตุการณ์ปิดล้อม ยิงปะทะ และวิสามัญฯ รวม 11 เหตุการณ์ มีผู้ก่อเหตุรุนแรง/แนวร่วม/ผู้ต้องหา และผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เสียชีวิต 22 ศพ
19 มี.ค.64 ปะทะที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี วิสามัญฯ 1 ศพ
23 เม.ย.64 ปะทะที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส วิสามัญฯ 1 ศพ
4 พ.ค.64 ปะทะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา วิสามัญฯ 2 ศพ
11 พ.ค.64 ปะทะที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส วิสามัญฯ 1 ศพ
21 มิ.ย.64 ปะทะในรีสอร์ทริมทะเล พื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี วิสามัญฯ 2 ศพ
5–11 ก.ค.64 ปิดล้อมยิงปะทะในพื้นที่ 2 ตำบล อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วิสามัญฯ 4 ศพ
2 ส.ค.64 ปิดล้อมยิงปะทะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี วิสามัญฯ 1 ศพ (นายรอซาลี หลำโสะ)
30 ส.ค.64 ปะทะที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วิสามัญฯ 1 ศพ
28 ก.ย.-15 ต.ค.64 ปิดล้อมยิงปะทะที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส วิสามัญฯ 6 ศพ
3 ธ.ค.64 ปะทะที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส วิสามัญฯ 1 ศพ
24–25 ธ.ค.64 ปิดล้อมยิงปะทะที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี วิสามัญฯ 2 ศพ
รวมปิดล้อม ยิงปะทะ 11 ครั้ง เสียชีวิต 22 ศพ (บางเหตุการณ์มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บด้วยเช่นกัน)
ย้อนกลับไปปี 63 เฉพาะครึ่งปีหลัง มีปะทะใหญ่อีก 2 ครั้ง
14-16 ส.ค.63 ปิดล้อม ยิงปะทะในพื้นที่ ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี วิสามัญฯ 7 ศพ (ป่าละเมิดจุดเกิดเหตุเป็น support site)
6-7 ก.ย.63 ปะทะในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา วิสามัญฯ 2 ศพ
@@ ข้อสังเกตเหตุปิดล้อม-ยิงปะทะ-วิสามัญฯ
1.ทุกเหตุการณ์ไม่มีใครยอมมอบตัว
2.การยอมสู้ตาย ทำให้ได้ใจชาวบ้าน มองว่ามีอุดมการณ์ต่อสู้กับรัฐ
3.ฝ่ายรัฐนำกำลังเข้าปฏิบัติการจำนวนมาก ทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมกับคนตาย
4.ครอบครัว บุตรภรรยา เกือบทั้งหมดไม่พอใจ มีบ้างที่ยอมรับได้ เพราะลูกชายหรือสามีเลือกเดินทางสายนี้
5.มีการปลุกกระแสในพื้นที่ว่าคนที่สู้จนตัวตายเป็น "นักรบของพระเจ้า"
6.แม้ชายแดนใต้ไม่มีระเบิดพลีชีพ แต่การสู้จนตัวตาย ก็คล้ายๆ ปฏิบัติการพลีชีพอย่างหนึ่ง
7.ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะถือว่าเป็นฝ่ายที่กระทำผิดกฎหมาย
8.คนในพื้นที่สงสารผู้สูญเสีย มีคนตั้งกลุ่มรับบริจาคช่วยเหลือครอบครัว (ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ) ได้เงินหลักแสนทุกเคส
9.มีเรื่องเล่าความไม่เป็นธรรมกระจายทั่วพื้นที่
10.มีการปิดพื้นที่ไม่ให้ใครเข้าหลังเกิดเหตุ ทำให้มีกระแสลือเรื่องความไม่โปร่งใสในปฏิบัติการ
@@ คำชี้แจงจากฝ่ายความมั่นคง
1.ได้ทำทุกวิถีทางแล้ว ทั้งเกลี้ยกล่อม เจรจา ให้มอบตัว แต่ผู้ที่ถูกปิดล้อมไม่มีใครยอมวางอาวุธ
2.ผู้ถูกปิดล้อมยิงต่อสู้/ยิงเปิดทางหลบหนี ทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้อาวุธ
3.ต้องใช้กำลังพลจำนวนมากเพื่อรักษาความปลอดภัย และป้องกันเหตุแทรกซ้อน
4.ยืนยันปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ดำเนินการจากเบาไปหาหนัก
@@ ความมั่นคงอยู่เหนือความยุติธรรม?
แกนนำพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ชายแดนใต้มากที่สุดอย่างพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ตั้งประเด็นเอาไว้น่าสนใจ
- การปิดล้อมตรวจค้นทุกครั้ง ไม่เคยจับเป็นได้เลย จับตายทั้งหมด
- ในมุมของประชาชนมีข้อมูลอีกชุดหนึ่ง
- ประชาชนส่วนหนึ่งมองผู้ที่เสียชีวิตเป็นนักรบ เป็นวีรบุรุษ ทำให้เกิดการไม่ยอมรับการวิสามัญฯ
- ควรให้องค์กรอิสระที่ไม่ได้ถือปืนปิดล้อม เข้าไปมีบทบาทในการตรวจที่เกิดเหตุ เช่น ศาล อัยการ แพทย์ เพื่อให้มีกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสว่ามีการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
- ตราบใดที่ยังไม่มีหลักนิติธรรม มองประชาชนเป็นศัตรู จะแก้ไฟใต้ได้ยาก
- มีการสร้างกระแสความไม่พอใจมากขึ้น ความรู้สึกของประชาชนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
พ.ต.อ.ทวี บอกด้วยว่า การที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ภาคใต้สงบในปี 2570 นั้น จริงๆ แล้วควรทำให้สงบในปีนี้เลย หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่ที่ผ่านมาที่สถิติเหตุรุนแรงลดลง เพราะเปลี่ยนวิธีนับ และใช้ความอยู่รอดของหน่วยงานความมั่นคงอยู่เหนือความยุติธรรม
"ผมมองว่าในปี 2570 ถ้ายังทำลักษณะเช่นนี้ สถานการณ์จะยังไม่จบ เพราะมีความพยายามใช้กฎหมายความมั่นคงอยู่เหนือความยุติธรรม มันอาจจะแรงขึ้นก็ได้ เพราะคนกลุ่มนี้ (บุตรหลานคนถูกวิสามัญฯ) ก็จะโตขึ้น จากอายุ 15 เป็นอายุ 20 กว่า แล้วก็จะมีความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็น่าเป็นห่วง แต่ก็ต้องให้กำลังใจ ทุกคนต้องกลับมาทบทวน เพราะว่าวันนี้การแก้ปัญหาโครงสร้างของภาคใต้เป็นรัฐซ้อนรัฐ เช่นการตั้งคณะผู้แทนพิเศษฯ ทั้งที่หน่วยงานอย่าง ศอ.บต.และ กอ.รมน.ก็บูรณาการอยู่แล้ว ทำไมต้องตั้งคณะผู้แทนพิเศษฯ ขึ้นมาใช้งบประมาณอีก"
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา แต่กลับทำให้ จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ และปัตตานียากจนที่สุดรองลงมา โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แท้ที่จริงแล้วคือจุดที่ยากจนที่สุดหรือไม่ ทำไมเราไม่เอาความจริงทางสังคมมาพูดกัน
@@ ตาบอดคลำช้าง
ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ตั้งข้อสังเกตเอาไว้น่าสนใจเช่นกัน
- ที่ผ่านมาคนแก้ปัญหาภาคใต้เหมือนตาบอดคลำช้าง
- เหมือนจะรู้ปัญหา แต่ที่จริงไม่รู้
- ใช้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หาประโยชน์เรื่องงบประมาณ และมีการทุจริตคอร์รัปชั่น
"ผ่านมา 18 ปีแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น นั่นแสดงว่าฝีมือยังไม่ดีพอ คนที่แก้ปัญหายังไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ ที่พูดกันว่าเข้าใจปัญหา แก้ตรงประเด็น ความจริงไม่ได้เข้าใจปัญหานะ วิธีการใช้เงินก็ใช้ผิด ทำให้ภาคใต้เป็นที่หากิน พูดง่ายๆ คือเป็นที่หากินเรื่องงบประมาณโดยเฉพาะ เพราะว่าเมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น การดำเนินการด้านงบประมาณในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ใช้วิธีพิเศษ ไม่ต้องประมูล ฉะนั้นถ้าไม่มี 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ต้องไปหางานทำ (หมายถึงงานจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้ผู้รับผิดชอบ) เรื่องนี้ไปถามผู้รับเหมาได้เลย ทุกคนบ่นตลอดว่าต้องจ่าย หลายคนพูดว่างบประมาณที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่นับงบความมั่นคงนะ งบพัฒนาถ้าถึงมือประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเก่งแล้ว นี่คือปัญหาใหญ่ พื้นที่ใดที่มีการโกง มีการคอร์รัปชั่น ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้"
ดูเหมือนปัญหาการบริหารจัดการด้านงบประมาณ ก็สะท้อนความไม่เป็นธรรม และอาจเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้ไฟใต้สงบยาก เฉกเช่นเดียวกับการวิสามัญฆาตกรรม!