นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ชุดใหม่ โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม นั่งเป็นประธาน เหมือนชุดที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนหน้านี้
ขณะที่ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตที่ปรึกษา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษฯ ดูแลงานด้านการต่างประเทศ
การแต่งตั้ง “ผู้แทนพิเศษฯ” ชุดใหม่ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 19/2564 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมวด 1 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คผบ.จชต.) ได้
ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และคณะกรรมการ 5 คน เว้นแต่จำเป็นอาจแต่งตั้งเพิ่มได้แต่ละด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการต่างประเทศ 3.ด้านการศึกษา 4.ด้านเศรษฐกิจ และ 5.ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี เว้นแต่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรเป็นอย่างอื่น
ต่อมาวันที่ 12 พ.ย.64 นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการผู้แทนพิเศษฯ โดยให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) เร่งดำเนินการเสนอรายชื่อคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.64 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เห็นชอบอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ ตามที่ทาง พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นำเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับการทาบทามมาเป็นกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ และได้รับการตอบรับแล้ว ทั้งหมด 5 รายชื่อ ประกอบด้วย
1.ด้านความมั่นคง พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ (อดีตแม่ทัพภาคที่ 4)
2.ด้านการต่างประเทศ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร
3.ด้านเศรษฐกิจ นายเชื่อง ชาตอริยะกุล (อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้)
4.ด้านการศึกษา นายการุณ สกุลประดิษฐ์ (อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ)
5.ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม นายดลเดช พัฒนรัฐ (อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัดในภาคใต้)
@@ ย้อนความเป็นมา "ผู้แทนพิเศษ"
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนวัตกรรม "องค์กรดับไฟใต้" ที่ตั้งขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้าควบคุมอำนาจการปกครองในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อปี 57 และตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศ
โดยโครงสร้าง ”ผู้แทนพิเศษ" เกิดขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2559 เรื่องการปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 14 ก.ย.59 เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้
หน้าที่คือประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีและราชการส่วนกลางกับหน่วยงานในพื้นที่ ประสานงานกับรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในเขตตรวจราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประสานงานกับ คปต. หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, จังหวัด ส่วนราชการ และภาคส่วนต่างๆ ในการเชื่อมโยงงานให้เกิดการบูรณาการ และปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติและการพัฒนา ตลอดจนให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการ
หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้รายงานปัญหา อุปสรรค ตลอดจนเสนอแนวทางการป้องกันหรือแก้ปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะๆ
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดแรก ตั้งขึ้นโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2559 ลงวันที่ 6 ต.ค.59 มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น เป็นหัวหน้า และมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นรองหัวหน้า
และมีผู้แทนพิเศษอีก 11 คน รวมเป็น 13 คน ประกอบด้วย พล.อ.จำลอง คุณสงค์, พล.อ.ปราการ ชลยุทธ, พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์, พล.อ.สกล ชื่นตระกูล, พล.อ.อักษรา เกิดผล, พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์, พล.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ, นายพรชาต บุนนาค, นายจำนัล เหมือนดำ และ นายภาณุ อุทัยรัตน์
ผู้แทนพิเศษทั้ง 11 คนส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหารระดับสูงของแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งแม่ทัพ รองแม่ทัพ, อดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.
ต่อมา 14 ธ.ค.60 มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของผู้แทนพิเศษ โดยให้ พล.อ.อุดมเดช พ้นจากหัวหน้าผู้แทนพิเศษ และให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษแทน และเติม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เข้ามาเป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษ
โดยการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้น มาจากการปรับคณะรัฐมนตรี ที่ให้ พล.อ.อุดมเดช พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และตั้ง พล.อ.ชัยชาญ เข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมแทน
ต่อมาช่วงปลายปี 61 มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในคณะผู้แทนพิเศษอีก 1 ครั้ง คือมีการแต่งตั้ง นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนพิเศษ แทน นายพรชาต บุนนาค ที่ป่วย และเสียชีวิต
กระทั่งวันที่ 16 ก.ย.62 มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษชุดใหม่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.62 โดยผู้แทนพิเศษชุดนี้มีเพียง 7 คน มี พล.อ.ชัยชาญ เป็นหัวหน้า มี พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นรองหัวหน้า และมี พล.อ.ปราการ ชลยุทธ, พล.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์, พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์, นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม และนายจำนัล เหมือนดำ เป็นผู้แทนพิเศษ
วันที่ 15 ม.ค.63 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องเพิ่มเติมองค์ประกอบผู้แทนพิเศษ อีก 2 คน คือ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล
โดย พล.อ.วัลลภ เป็นอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ พล.อ.สุทัศน์ เป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาเป็นผู้แทนพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะผู้แทนพิเศษชุดนี้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 วันที่ 30 ก.ย.64 และได้ยุติบทบาทลง เพื่อปรับโครงสร้างคณะผู้แทนพิเศษใหม่ กระทั่งล่าสุดมีการแต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษชุดใหม่ออกมา
ต้องรอดูว่าผลงานจะไฉไลกว่าเดิมหรือไม่?!?