ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) งัดเอกสารโต้ปมถูกกล่าวหา “ลักไก่” ผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ไม่เป็นไปตามมติ ครม.และกฎหมาย ตามเอกสารสรุปผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธาน สมัยยังดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์
บทสรุปจากเอกสารรายงานผลการตรวจสอบโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทบไม่เคยได้รับการประสานงานจาก ศอ.บต. หรือมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานโครงการ โดยเฉพาะแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ตามที่ ศอ.บต.เคยให้ข้อมูล เช่น
- กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยได้รับการประสานจาก ศอ.บต.ให้จัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
- สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ; สศช.) แจ้งว่า ไม่เคยได้รับเรื่องการขอให้พิจารณาความเหมาะสมของแผนงานโครงการตามที่ ศอ.บต.อ้าง
- สภาพัฒน์ แจ้งด้วยว่า ไม่เคยร่วมจัดทำโครงการเมืองต้นแบบ เมืองที่ 4 ที่ อ.จะนะ
- การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชน และอื่นๆ
- มีปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ หากดำเนินการต่อไปอย่างไม่รอบคอบ จะกระทบต่อความสามัคคีและความสงบสุขของประชาชน
นี่คือข้อมูลเอกสารจากคณะกรรมการตรวจสอบโครงการฯ ชุด “ผู้กองธรรมนัส”
@@ โชว์ผลสอบ “กสม.-ผู้ตรวจการฯ” ไร้มลทิน!
ล่าสุด ศอ.บต.เผยแพร่หนังสือที่ทำถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.64 สรุปความคืบหน้าของการขับเคลื่อนโครงการทั้งหมด
- กรณีที่กลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” และองค์กรเครือข่าย เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ และร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ศอ.บต.จัดกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีมาตรฐาน ปรากฏว่า กสม.สั่ง “ยุติเรื่อง” เพราะตรวจสอบแล้วไม่มีมูลตามที่กล่าวหา
- กรณีมีการกล่าวหาร้องเรียน ศอ.บต.ต่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” อ้างว่า ศอ.บต.ไม่เปิดกระบวนการรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ปรากฏว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ก็สั่ง “ยุติเรื่อง” เช่นกัน เพราะเห็นว่า ศอ.บต.ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นหลากหลายช่องทาง ตามที่กำหนดในระเบียบกฎหมายครบถ้วนแล้ว
@@ เตรียมจ้างองค์กรผู้เชี่ยวชาญทำ “แผนแม่บท”
ส่วนความคืบหน้าโครงการ ศอ.บต.สรุปเอาไว้ 4 ด้าน
1.เริ่มจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่แล้ว โดยได้เข้าพบ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เมื่อเดือน มี.ค.64 เตรียมว่าจ้างสถาบันการศึกษา หรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญมาดำเนินการ ขณะนี้ “แผนแม่บทพัฒนาพื้นที่” อยู่ในขั้นตอนจัดทำ TOR พร้อมประสานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อว่าจ้างเป็นที่ปรึกษา
2.ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศึกษาความเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ ขณะนี้ตรวจรับรายงานฉบับฉบับสมบูรณ์ไปแล้ว
3.การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน อบจ.สงขลากำลังประชุมรับฟังความเห็นประชาชน แต่ติดสถานการณ์โควิด
4.จับมือกับ วช. (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) พัฒนาองค์ความรู้การพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดทำร่างข้อเสนอธรรมนูญระดับตำบลในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา” มีรายงานฉบับสมบูรณ์ ระยะที่ 1 ออกมาแล้ว
โดย “ธรรมนูญระดับตำบล” จะช่วยสร้าง “กติการ่วม” ให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงยอมรับร่วมกัน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาโครงการที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
@@ เปิดบันทึกการประชุมปี 61 “สภาพัฒน์ - ก.อุตฯ” แห่หนุนโครงการ
เอกสารอีกชุดหนึ่งที่ ศอ.บต.เผยแพร่ ก็คือ รายงานและบันทึกการประชุมหารือการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองจะนะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.61
วงประชุมในดังกล่าวมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้ง สภาพัฒน์ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ หลายสิบคน หลายสิบหน่วยงาน
นอกจากนั้นยังมีการสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของแต่ละหน่วยงานเอาไว้ด้วย เช่น
-สภาพัฒน์ เสนอแนะว่า การดำเนินการในระยะต่อไปขอให้มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจ โดนเฉพาะเรื่องที่ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร จากโครงการ และการบริหารจัดการของรัฐสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ, ควรสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมราง เช่น การผลิตหัวรถจักร เนื่องจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศมีแผนพัฒนาระบบรางทั้งหมด ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงในทางเศรษฐศาสตร์ที่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ฯลฯ เป็นต้น
-กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นด้วยกับโครงการ พร้อมข้อเสนอแนะให้มีอุตสาหกรรมย่อยและกระจายสู่ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ในอีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่, ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า (ทาเรือสงขลาแห่งที่ 2) เกิดขึ้นควบคู่ไป พร้อมกับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางคลังสินค้าอาหารฮาลาล ที่นำเข้ามาพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพื่อส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศและให้เชื่อมโยงการทำงานกับนิคมอุตสาหกรรมบานา จ.ปัตตานี
นอกจากนั้น วันที่ 29 ต.ค.61 ศอ.บต.ยังร่วมกับทุกภาคส่วน จัดประชุมวางแผนการบริหารจัดการร่วมเขตเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ “พัฒนาไร้รอยต่อ...มิติใหม่แห่งการพัฒนาชายแดนใต้” เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญของการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 190 คน ร่วมวิพากษ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน
ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้การสนับสนุนการดำเนินการขับเคลื่อนความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และให้จัดทำแนวทางการพัฒนา หรือ Road Map ที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดกลไกการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ โดยประสานความร่วมมือจากทุกส่วนราชการทำงานร่วมกัน
@@ ยังไม่ถึงขั้นตอนทำ “แผนแม่บท” - สภาพัฒน์ให้ ศอ.บต.ดำเนินการ
ผู้บริหารที่มีอำนาจใน ศอ.บต. กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เรื่องที่อ้างว่า สภาพัฒน์ไม่ได้ร่วมร่าง “แผนแม่บทพัฒนาพื้นที่” นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการขับเคลื่อนโครงการยังไปไม่ถึงจุดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบแผนงาน ซึ่งตามมติ ครม.เห็นควรให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการตามกรอบแผนงานที่เกี่ยวข้อง แต่การประชุมกับรองนายกฯวิษณุ เห็นควรให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยดำเนินการจัดทำเพียงหน่วยเดียว
สำหรับสภาพัฒน์เข้ามาร่วมตั้งแต่แรก และ ศอ.บต.กำลังทำหนังสือตอบความเห็นของสภาพัฒน์ ซึ่งเสนอให้ทำ “แผนแม่บทพัฒนาพื้นที่” เดิมเข้าใจกันเองว่าสภาพัฒน์จะเป็นหน่วยดำเนินการ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความถนัดในการจัดทำรายงานการศึกษา แต่จากการประชุมทราบว่า สภาพัฒน์ ขอให้ทาง ศอ.บต.เป็นหน่วยดำเนินการ
“ยืนยันว่าคนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการแน่นอน และไม่ได้เอื้อเอกชน หลักคิดของท่านเลขาธิการ ศอ.บต. คือ เอกชนเขาจะลงทุนด้วยเงินของเขา ที่ดินของเขา เราจะให้ประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร ถือเป็นการให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง และที่สำคัญ โครงการนี้เอกชนลงทุน 100%” ผู้บริหารที่มีอำนาจใน ศอ.บต.กล่าว
และทิ้งท้ายว่า “จะนะก็ว่ากันไป ถ้าบอกให้เราไม่ต้องทำ ทุกอย่างก็ต้องจบ และพื้นที่ก็จะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน เนื่องจากเอกชนเขาคงไม่มาแล้ว คนตกงานในพื้นที่ก็จะมีมาก สงสารน้องๆ ในอนาคตอันใกล้คงต้องกระเสือกกระสนกันไปทำงานข้างนอกพื้นที่กัน ยืนยันว่าทุกฝ่ายใน ศอ.บต.ทำเต็มที่แล้ว หลังจากนี้คงต้องสุดแล้วแต่บัญชาของรัฐบาล”