การเคลื่อนย้ายและควบคุมตัวผู้ชุมนุม "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" จากหน้าทำเนียบรัฐบาล ไปยังสโมสรตำรวจ หลังจากชาวจะนะ จ.สงขลา กลุ่มคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เดินทางมาทวงสัญญาการทบทวนโครงการตามที่รัฐบาลรับปากไว้เมื่อปีที่แล้วนั้น ได้ส่อเค้าบานปลายกลายเป็นปัญหาการเมืองภายในรัฐบาลเอง
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาตั้งประเด็นว่ามีคนไปรับปากชาวจะนะเอาไว้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยบุคคลที่นายกฯอ้างถึง คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์
"เรื่องอยู่ในขั้นตอนที่จะทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ผมได้ให้หน่วยงานไปฟังว่าอะไรอย่างไร สิ่งใดก็ตามผมเคยบอกแล้วว่า การไปเจรจาอะไรกับเขาอย่าไปรับปากอะไรเขามาทันที ถ้ายังไม่เข้าการพิจารณาของ ครม.หรือรัฐบาล ไม่ว่าใครก็ตาม" นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างให้สัมภาษณ์ชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับชาวจะนะเมื่อปีที่แล้ว มีความเป็นไปได้แค่ไหน ปรากฏว่านายกฯ ย้อนถามว่า "ใครตกลงล่ะ" เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่า ร.อ.ธรรมนัส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับตอบว่า "แล้วผมไปตกลงหรือยัง ครม.ตกลงหรือยัง...ก็ยัง"
"เราต้องมองสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนที่ไม่เป็นประโยชน์และเป็นปัญหาก็ไม่ต้องไปทำ ก็แค่นั้น ต้องทำให้ถูกต้องตามกติกา กฎหมายอะไรก็ตาม บางทีการไปพบปะเจรจาของใครก็แล้วแต่ เวลาไปพูดไปตกลงกับเขา อย่าลืมว่าไม่ได้ผ่าน ครม. ผมเตือนหลายครั้งแล้วเวลาไปให้รับข้อสังเกตมา แล้วนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในรัฐบาล นั่นคือวิธีการทำงานของรัฐบาล จะต้องรอบคอบ"
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า จะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ไปดูแล และติดตามดูว่าเกิดอะไรขึ้นและควรจะแก้ไขอย่างไร ทั้งยังฝากไปถึง "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ที่ประกาศจะเดินทางมาจากภาคใต้เข้ากรุงเพิ่มเติมว่า "อย่ามาเลย ไปทำกันที่โน่นแหละ เดี๋ยวส่งคนไปดูแล ไปรับมาว่าอะไรที่เป็นข้อเท็จจริง และอะไรที่อาจจะถูกบิดเบือน" ส่วนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ถูกจับ นายกฯบอกว่าจะะมีการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
@@ "ธรรมนัส" อ้างพ้น รมต.แล้ว ก้าวล่วงไม่ได้
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะอดีต รมช.เกษตรฯ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "หลังจากที่ผมพ้นจากการดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ผมไม่สามารถสานงานต่อเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลายๆ เรื่อง รวมถึงปัญหาของพี่น้องชาวจะนะ ซึ่งคงไม่มีใครรู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา ยกเว้นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้ ผมได้รับการประสานจากเพื่อนๆ ส.ส.หลายท่าน ให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะเหมือนเดิม แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผมไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก"
@@ "อนุชา" เตรียมลงพื้นที่ จ่อนับหนึ่งใหม่
ขณะที่ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้แก้ปัญหาจะนะแทน กล่าวว่า จะเร่งตรวจสอบรายละเอียดของโครงการ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นมาอย่างไร คืบหน้าถึงไหน มีการรับฟังประชาชนในพื้นที่อย่างไร คงต้องลงพื้นที่จริงเพื่อดูข้อเท็จจริงที่ อ.จะนะ ด้วย
"ที่ผ่านมาคณะกรรมการแก้ปัญหาก่อนหน้านี้ทำไว้อย่างไร ผมต้องนำมาเป็นข้อมูลประกอบทั้งหมด และนำประเด็นมาพูดคุยกัน โดยยึดกฎเกณฑ์และประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง"
เมื่อถามถึงเอ็มโอยู หรือข้อตกลงเดิมที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยตกลงกับชาวจะนะเอาไว้ นายอนุชา กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเอ็มโอยูนั้นเป็นอย่างไร แต่จะถือข้อสั่งการของนายกฯเป็นสำคัญ พร้อมย้ำว่าไม่รู้สึกกังวลที่ต้องมาแก้ปัญหาต่อหลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พ้นตำแหน่งไป
@@ "ประวิตร" ไปอีกทาง อ้างข้อตกลงคืบหน้า ติดแค่ประชาพิจารณ์
ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อตกลงที่ ร.อ.ธรรมนัส ทำไว้กับชาวจะนะ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร ที่สั่งการเมื่อที่แล้ว ว่า ขณะนี้กำลังทำตามข้อตกลงอยู่ และต้องทำประชาพิจารณ์ เพียงแต่ว่าค่อนข้างช้า ขั้นตอนกำลังดำเนินการไปเรื่อยๆ แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมมีความรีบร้อน ซึ่งจำเป็นต้องถามประชาชนทุกฝ่าย ส่วนสิ่งที่ ร.อ.ธรรมนัส ดำเนินการมา ก็ไม่ได้ติดขัดอะไร แค่ติดขัดในขั้นตอนประชาพิจารณ์เท่านั้น
@@ ปล่อย 37 ชีวิต "จะนะรักษ์ถิ่น" ลั่นสู้ต่อ
สำหรับ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ที่ถูกจับกุมหลังตำรวจเข้าเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมออกจากด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 6 ธ.ค.64 นั้น ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดเมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 7 ธ.ค. โดยผู้ที่ถูกจับกุมและได้รับอิสระ มีทั้งสิ้น 37 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 6 คน และผู้หญิง 31 คน ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาคือ กระทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว คงต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป โดยคืนวันที่ 7 ธ.ค. ชาวบ้านทั้งหมดจะเดินทางไปพักผ่อนที่บ้านพรรคพวกที่อยู่ในกรุงเทพฯก่อน เป็นการพักเพื่อเก็บแรง เพราะแต่ละคะอ่อนเพลียกันมาก แทบจะไม่ได้นอนกันเลย หลังจากนี้มีความเป็นไปได้ที่จะกลับไปทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง
"เรามีความเสี่ยง เราถูกเงื่อนไขการปล่อยตัวว่าห้ามไปชุมนุมต่อ แต่เราพร้อมที่จะท้าทาย เพราะข้อตกลงของกลุ่มเรายังไม่บรรลุ เราต้องอยู่สู้ ขอให้รอประกาศเป็นทางการอีกครั้ง" นายสมบูรณ์ กล่าว
ขณะที่แกนนำคนอื่นๆ เช่น นายรุ่งเรือง ระหมันยะ และ น.ส.ไคริยะห์ ระหมันยะ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ได้แถลงผ่านข้อความในจดหมาย และอ่านแถลงการณ์ด้วยน้ำตา ประกาศจะสู้ต่อไป และจะยอมแลกด้วยชีวิต
@@ ร่วมละหมาดที่บ้านสวนกง ลั่นพร้อมต่อสู้กับพี่น้องจะนะ
มีความเคลื่อนไหวที่บ้านสวนกง อ.จะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักกิจกรรมใช้รวมตัวกันคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม โดย นายซุกรีฟรี ลาต๊ะ และ นายอารีฟีน โซ๊ะ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) นำมวลชนหลายสิบคนจัดกิจกรรมในรูปแบบเวทีเล็ก มีการละหมาดฮายัดขอพรให้เกิดสันติสุข และเปิดพื้นที่ให้นักกิจกรรมจาก จ.ปัตตานี และแกนนำที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จะนะเอง ได้พูดถึงความน่ากลัวของนิคมอุตสาหกรรม พร้อมโจมตีการทำงานของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน
ขณะที่ สภาประชาชนภาคใต้ และสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล พร้อมระบุข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ยุติการใช้อำนาจที่อ้างความชอบธรรมเหนือความเป็นธรรมที่ประชาชนเจ้าของสิทธิ์พึงได้รับปฏิบัติ 2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังและพิจารณาข้อสัญญาที่เคยให้กับพี่น้องชาวจะนะ และแสวงหาแนวที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ 3.ขอให้รัฐบาลผู้ใช้อำนาจต้องเป็นผู้ปกป้อง คุ้มครองและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญทุกกรณี