เบตงเตรียมพร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวในฐานะพื้นที่นำร่องสีฟ้า เริ่ม 1-31 ธ.ค.นี้ ผุด 3 เส้นทางท่องเที่ยวตามแนวทาง “Betong Sealed Route Model” ขณะที่โรงเรียนชายแดนใต้ ดีเดย์เปิดภาคเรียนแบบ On site ต้นเดือนธันวาฯ ส่วนผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ชายแดนใต้ลดลง ยอดรวม 4 จังหวัดต่ำกว่าพันแล้ว
วันพุธที่ 17 พ.ย.64 นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง จ.ยะลา และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเบตง (ศปก.อ.เบตง) พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ และการเตรียมความพร้อมการเปิดเมืองเบตงตามมาตรฐานแนวทางปฏิบัติในการเปิดรับนักท่องเที่ยว (STANDARD OPERATION PROCEDURE : SOP) “Betong Sealed Route Model” ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีใหม่ ชุมชนปลอดภัย เศรษฐกิจเบตงยั่งยืน” ณ ห้องประชุมไกรลาส ที่ว่าการอำเภอเบตง และผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting
ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ย.64 อ.เบตงพบผู้ป่วยรายใหม่ 43 ราย สะสม 4,627 ราย และการรณรงค์ฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. มีจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นจำนวน 70.24% เป็นไปตามเกณฑ์การเปิดเมืองที่ได้กำหนดให้สามารถผ่อนคลายหรือเปิดเมือง เปิดการท่องเที่ยวได้
นอกจากนี้ ศปก.อ.เบตง ได้หารือการเตรียมความพร้อมการเปิดเมืองเบตงตามมาตรฐานแนวทางปฏิบัติในการเปิดรับนักท่องเที่ยว SOP “Betong Sealed Route Model” ด้วยการท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีใหม่ ชุมชนปลอดภัย เศรษฐกิจเบตงยั่งยืน” โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งจังหวัดยะลาถูกกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวพื้นที่สีฟ้า ระยะที่ 2 ( 1 - 31 ธ.ค.64 ) และจากการแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค.64 เรื่องการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่อง หรือ “พื้นที่สีฟ้า” โดยไม่ต้องกักตัว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายภายในประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
โดยต้องเป็นไปตามมาตรฐานแนวทางในการเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น มาตรการเดินทางเข้าจังหวัดยะลาเพื่อการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ มาตรการและแนวทางปฏิบัติของโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว รถเช่า มัคคุเทศก์และมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยว
@@ ผุด 3 เส้นทางท่องเที่ยว
สำหรับ Betong Sealed Route Model กำหนดเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในอำเภอเบตง ดังนี้
โซนที่ 1 แหล่งท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองเบตง เช่น ตู้ไปรษณีย์ยักษ์, สตรีตอาร์ตเมืองเบตง, หอนาฬิกา, พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง และอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์
โซนที่ 2 แหล่งท่องเที่ยวในเขตตำบลตาเนาะแมเราะ เช่น อุโมงค์ปิยะมิตร, บ่อน้ำร้อน, สวนไม้ดอกเมืองหนาว และน้ำตกอินทศร
โซนที่ 3 แหล่งท่องเที่ยวในเขตตำบลอัยเยอร์เวง เช่น สกายวอล์กทะเลหมอกอัยเยอร์เวง, น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9, บ่อน้ำร้อนนากอและหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10
ขณะนี้ทาง ศปก.อ.เบตงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสร้างความเข้าใจแก่สถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน SHA (มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสำหรับกิจการด้านการท่องเที่ยว) หรือ Thai Stop Covid Plus (การประเมินมาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่) หรือ Covid Free Setting (มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือองค์กรปลอดโควิด) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่อการยกระดับการป้องกันโควิดไม่ให้กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.thailandsha.com และ https://stopcovid.anamai.moph.go.th
@@ โรงเรียนธรรมฯ พร้อมเปิดเรียนแบบปกติ
ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เพื่อตรวจเยี่ยมสร้างขวัญกำลังใจแก่คณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน พร้อมประชุมหารือเพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนราชการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนและการเปิดภาคเรียนในรูปแบบ On site
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า ถ้าจะมีการเปิดโรงเรียน ทุกอย่างจะต้องมีความพร้อม 100% ไม่ว่าจะเป็น ครู บุคลากร และนักเรียน จะต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน อาทิ การได้รับวัคซีนให้ครบตามจำนวน หรือผลการตรวจเชื้อจากเครื่องตรวจ ATK เป็นต้น
โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ถือเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีขนาดใหญ่และเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จากการรับฟังปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเปิดภาคเรียนในรูปแบบ On site โดยภาพรวมแล้วโรงเรียนแห่งนี้มีบุคลากรจำนวนกว่า 500 คน มีความพร้อมเกือบ 100% ซี่งทางโรงเรียนจะพยายามทำทุกวิธีทาง เพื่อให้นักเรียนได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน
@@ โรงเรียนชายแดนใต้ ดีเดย์ 1 ธ.ค.เปิด On site
เลขาธิการ ศอ.บต. ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเปิดภาคเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการวางแผนจะเปิดในวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งวันนี้ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด และทางศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาส่วนหน้า ร่วมประชุมหารือพร้อมกัน คิดว่าหลังจากนี้ไปประมาณ 2 สัปดาห์ แนวโน้มที่จะทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียน ให้ได้รับวัคซีนครบ 85-100% อาจจะมีบางโรงเรียนที่ยังไม่ครบ แต่อย่างน้อยทุกโรงเรียนก็พยายามจะทำทุกวิธีทาง เพื่อให้โรงเรียนของตนเองสามารถเปิดภาคเรียนได้ตามปกติต่อไป
ด้านกรมอนามัยร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดยะลา ให้ข้อมูลมาตรการในการประเมินการเปิดโรงเรียน มีดังนี้
1.ทุกโรงเรียนต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop Covid plus (TSC+) และรายงานการ ติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID
2.ต้องมีการประเมินความเสี่ยงของตนเอง (TST)
3.การได้รับวัคซีน เป้าหมายต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ครูผู้สอนต้องฉีดวัคซีน 100 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนต้องฉีดวัคซีน 85% ชุมชนต้องได้รับวัคซีน 70%
4.มีการสุ่มตรวจ ATK ในพื้นที่สีแดง จำนวน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง 10 – 20%
ทั้งนี้ กรมอนามัยและศึกษาธิการได้การประเมินภาพรวมผ่าน 95% ไม่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์นี้ 5.36% ทั้งนี้จะเปิดโรงเรียนได้หรือไม่นั้นต้องผ่านความเห็นของ ศบค.จังหวัดยะลา อีกครั้ง
@@ ติดเชื้อใหม่ 4 จังหวัดใต้ ยอดรวมต่ำกว่าพัน
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันที่ 17 พ.ย.64 มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 961 ราย และเสียชีวิต 10 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 430 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 56,284 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 56,261 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,609 ราย รักษาหายแล้ว 50,455 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 220 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 4,040 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 12,697 ราย, อ.เมืองสงขลา 7,595 ราย, อ.จะนะ 7,447 ราย, อ.สิงหนคร 4,896 ราย, อ.สะเดา 4,360 ราย, อ.เทพา 4,286 ราย, อ.รัตภูมิ 3,399 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,241 ราย, อ.นาทวี 1,541 ราย, อ.บางกล่ำ 1,341 ราย, อ.ระโนด 982 ราย, สทิงพระ 820 ราย, ควนเนียง 705 ราย, อ.นาหม่อม 591 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 358 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 76 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,198 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 728 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 207 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 43,800 ราย รักษาหายแล้ว 27,334 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 420 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 168 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 167 ราย, โรงพยาบาลสนามอำเภอ 686 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 522 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 175 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 42 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 174 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 129 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส-ดิอามาน รีสอร์ท 39 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน - โรงยิมบานา 72 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 177 ราย และ Home Isolation 1,359 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแยกตามรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 11,154 ราย, อ.ไม้แก่น 1,086 ราย, อ.ยะหริ่ง 3,414 ราย, อ.หนองจิก 4,270 ราย, อ.โคกโพธิ์ 2,566 ราย, อ.สายบุรี 5,375 ราย, อ.แม่ลาน 659 ราย, อ.ยะรัง 4,187 ราย, อ.ปะนาเระ 1,630 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 2,019 ราย, อ.มายอ 4,423 ราย และ อ.กะพ้อ 1,717 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 142 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 21 ราย, อ.ตากใบ 4ราย, อ.ยี่งอ 12 ราย, อ.จะแนะ 6 ราย, อ.แว้ง 4 ราย, อ.สุคิริน 14 ราย, อ.รือเสาะ 3 ราย, อ.บาเจาะ 17 ราย, อ.ศรีสาคร 9 ราย, อ.เจาะไอร้อง 7 ราย, อ.สุไหงปาดี 22 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 23 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 40,866 ราย รักษาหายสะสม 39,479 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 378 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 8,049 ราย, อ.ระแงะ 4,751 ราย, อ.รือเสาะ 2,195 ราย, อ.บาเจาะ 3,505 ราย, อ.จะแนะ 1,731 ราย, อ.ยี่งอ 2,971 ราย, อ.ตากใบ 3,098 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,548 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,331 ราย, อ.ศรีสาคร 2,083 ราย, อ.แว้ง 2,265 ราย, อ.สุคิริน 1,147 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,192 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 182 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 45,310 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,960 ราย รักษาหายแล้ว 44,178 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 317 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 16,125 ราย, อ.เบตง 4,647 ราย, อ.รามัน 6,100 ราย, อ.ยะหา 5,381 ราย, อ.บันนังสตา 7,002 ราย, อ.ธารโต 2,356 ราย, อ.กาบัง 1,223 ราย และ อ.กรงปินัง 2,476 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,960 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 153 ราย, โรงพยาบาลเบตง 97 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 294 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 142 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 64 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 125 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 47 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 0 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 53 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 27 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 88 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 49 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 16 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 75 ราย, Hospitel เบตง 153 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 1,168 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 409 ราย