หลังจากเกิดปัญหา "หมายจับอลวน" ในคดี "เสี่ยโจ้ ปัตตานี" ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) สอบสวนเรื่องนี้ ให้เวลา 3 วัน
ระยะเวลา 3 วันทำการ จะครบวันจันทร์ที่ 15 พ.ย.64 ล่าสุดจึงมีข่าวความเคลื่อนไหวจาก ผบช.ภ.9
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ก็คือ พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 ได้แต่งตั้ง พล.ต.ต.วัลลพ จำนงค์อาษา รอง ผบช.ภ.9 เป็นหัวหน้าชุดตรวจสอบกรณี "หมายจับเสี่ยโจ้" และเบื้องต้นพบว่าเจ้าหน้าที่ส่งหมายศาลได้นำหมายจับไปส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี โดยพนักงานสอบสวนได้รับหมายดังกล่าวไว้
ส่วนรายละเอียดอื่นต้องรอผลการตรวจสอบว่า พนักงานสอบสวนรายดังกล่าวได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่ และถ้าหากพบว่าเข้าข่ายกระทำการบกพร่อง หรือผิดกรอบระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
สำหรับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น จะรายงานให้ ผบ.ตร.ทราบตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ 3 วัน โดบคาดว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จในวันจันทร์ที่ 15 พ.ย.64
อนึ่ง สาเหตุที่ ผบช.ภ.9 ถูก ผบ.ตร.สั่งให้สอบสวนเรื่องนี้ เพราะต้นตอของปัญหา "หมายจับอลวน" นั้น น่าจะเริ่มที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ศาลจังหวัดปัตตานีได้ส่งคำพิพากษาคดี "เสี่ยโจ้" นายสหชัย เจียรเสริมสิน ใช้ดวงตราประทับไม้ปลอม โดยศาลลงโทษจำคุก 1 ปี 9 เดือน ตั้งแต่เมื่อเดือน ต.ค.ปี 2557 ซึ่ง "เสี่ยโจ้" หลบหนีไปจากบริเวณศาล จากนั้นในเดือน พ.ค.2558 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ก็ยังออกหมายจับอีก 1 หมายให้ตำรวจสืบจับ "เสี่ยโจ้" มารับโทษตามคำพิพากษา โดยได้ส่งหมายจับให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีเช่นกัน
เรื่องนี้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อตำรวจสอบสวนกลางจับกุม "เสี่ยโจ้" ได้ที่ร้านอาหารย่านห้วยขวาง กทม. เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 4 พ.ย.64 โดยใช้หมายจับคดีฟอกเงินจากการค้าน้ำมันเถื่อน จากนั้นได้นำตัวมาแถลงข่าวอย่างใหญ่โตในวันศุกร์ที่ 5 พ.ย. และได้นำตัวส่งอัยการจังหวัดสงขลาในวันถัดมา แต่อัยการไม่มีอำนาจควบคุมตัว เนื่องจากสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว ทำให้ตำรวจต้องยอมให้ "เสี่ยโจ้" เป็นอิสระ หลังจากนั้น "เสี่ยโจ้" ก็หายตัวไป โดยฝ่ายตำรวจอ้างว่าแท้ที่จริงแล้วศาลเคยพิพากษาถึงที่สุดให้ "เสี่ยโจ้" จำคุก 1 ปี 9 เดือน แต่กลับไม่มีหมายจับนี้ในสารบบ ขณะที่ศาลจังหวัดปัตตานีก็ไม่มีสำเนาหมายจับ และหาสำนวนไม่เจอ
ต่อมาสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าได้ส่งหมายจับให้ตำรวจแล้วถึง 2 ครั้ง เมื่อปี 2557 และ 2558 ฉะนั้นหมายจับจึงต้องอยู่ที่ตำรวจ ไม่ใช่อยู่ที่ศาล เมื่อจำนนต่อหลักฐานเช่นนี้ ทำให้ ผบ.ตร.ต้องสั่งสอบสวนเพื่อหาข้อบกพร่องที่ทำให้ไม่มีหมายจับ "เสี่ยโจ้" ในสารบบ โดยออกคำสั่งเมื่อวันที่ 11 พ.ย. และให้รายงานกลับไปยัง ผบ.ตร.ภายใน 3 วัน