สตาร์ทอัพชายแดนใต้โตสวนกระแสโควิด ด้วยเหตุผลเรื่องคุณภาพและเทคนิคการขายผ่านช่องทางออนไลน์ผสมผสานกับออนกราวด์
“พินซูก” (Pinsouq) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าฮาลาล และมีหน้าร้านหลายแห่ง ทำยอดขายกว่า 20 ล้านบาท ขณะที่ “บ้านกล้วย” วิสาหกิจชุมชนที่แปรรูป “กล้วย” ผลไม้บ้านๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำรายได้ 5 ล้านบาท พร้อมขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจแนว “สตาร์ทอัพ” สองกลุ่มนี้กลายเป็น “ต้นแบบ” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในวงเสวนา เรื่อง “โอกาสของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคธุรกิจดิจิทัลเฟื่องฟู” ซึ่งจัดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว
วิทยากรประกอบด้วย นายมีธรรม ณ ระนอง รักษาการรองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ผศ.ดร.ธนภัทร ยีขะเด รองคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นายชารีฟ เด่นสุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอส ออเดอร์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม “พินซูก” นางมาลัย เพ็งมูซอ ผู้ก่อตั้งบริษัท บ้านกล้วย (2017) จำกัด
ดำเนินการเสวนาโดย นายสมชาย สามารถ บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ เครือเนชั่น และ นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ผู้จัดการภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
@@ ชายแดนใต้มีศักยภาพ คนใช้เน็ตเพิ่ม
นายมีธรรม กล่าวว่า ETDA ได้เคยทำการวิจัยทางตลาด พบว่าเมื่อ 2 ปีก่อน พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้อินเทอร์เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน และภายหลังพบว่าคนใต้ใช้มากกว่า 10 ชั่วโมง และใช้ในแง่ทำธุรกิจมากขึ้น เข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น มีการจ่ายเงินออนไลน์ผ่านแอปฯมือถือกันหมดแล้ว
“ภาคใต้มีศักยภาพ เพราะโครงสร้างพื้นฐานดี ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีจะทำอะไรได้ง่ายขึ้น เครื่องมือทางดิจิทัลก็ต้องใช้มาก แต่สำคัญที่สุดคือ ‘คน’ คิดว่าคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองมีหน่วยงานและมหาวิทยาลัยมากพอสมควรที่สามารถรองรับได้ ส่วนงานที่สนับสนุนก็เป็นเรื่องที่ดี ที่มี depa อยู่ที่สงขลา เป็นหมุดสำคัญในการเชื่อมโยงส่วนกลางไปภูมิภาคได้ง่ายขึ้น”
@@ แนะสนับสนุนคนรุ่นใหม่มี “แพลตฟอร์ม”
ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวว่า โอกาสของจังหวัดชายแดนใต้ต่อการดำเนินธุรกิจในยุค new normal จะเห็นได้ว่าอีคอมเมิร์ชประเทศไทยเป็นอันดับ1 ในอาเซียน สูงสุดติดต่อกัน 6 ปีซ้อน แสดงว่าคนไทยมีความตื่นตัวซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ชกันมาก
“นักศึกษาในขณะนี้อยู่ใน Gen z Gen y คนกลุ่มนี้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 11-12 ชั่วโมงต่อวัน ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีประชากรเกินครึ่ง นี่จึงเป็นโอกาสของสามจังหวัดในยุคเทคโนโลยี”
ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวอีกว่า ถ้าอยากให้ผู้ประกอบการสามจังหวัดขับเคลื่อนไปได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น งบประมาณ เทคโนโลยี ที่สำคัญคือ “พี่เลี้ยง” ที่ต้องเชี่ยวชาญด้านการตลาด ส่วนเรื่องการสนับสนุนและเชื่อมโยง ศอ.บต.ทำได้ดี อีกเรื่องคือการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ เช่น องค์ความรู้ และซอฟต์แวร์ต่างๆ อาจจะต้องให้โอกาส สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และงบประมาณ ให้เขามีแพลตฟอร์มของตัวเอง
@@ เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มยอดขาย
นายชารีฟ เด่นสุมิตร เจ้าของแพลตฟอร์มพินซูก (Pinsouq) กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากมาทำธุรกิจด้านดิจิทัล ต้องนำดิจิทัลเข้ามาใช้ อย่างตนเองกลับมาบ้านเกิดเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว มาทำธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มและหน้าร้านที่บริหารจัดการจัดสรรวัตถุดิบให้ร้านอาหาร
“ถ้าย้อนกลับไป 4-5 ปีที่ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่มาก ผมเป็นสตาร์อัพหน้าใหม่และเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เป็น food derivery กลายเป็นจุดกำเนิดให้สตาร์ทอัพนอกพื้นที่เห็นโอกาสว่าในพื้นที่ทำธุรกิจด้านดิจิทัลได้จริง”
ปัจจุบัน “พินซูก” มีหน้าร้าน 7 สาขา และมีระบบดิจิทัลเข้ามา ชารีฟบอกว่า กิจการที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะโตขึ้น แม้แต่ปี 64 ที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก แต่เรามียอดขาย 25-30 ล้านบาท
“เราพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เป็นเพราะการนำดิจิทัลเข้ามาสามารถสร้างโอกาสได้มากมาย น้องๆ ในพื้นที่สามารถมาทำตรงนี้ได้มากขึ้น มีหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนเยอะ เราแค่พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดทำได้จริง” เจ้าของแพลตฟอร์มพินซูก กล่าว
@@ ธุรกิจรอด-ไม่รอดอยู่ที่ปรับตัว อย่าไปกลัวโควิด
นางมาลัย เพ็งมูซอ ผู้ก่อตั้งบริษัท บ้านกล้วยฯ กล่าวว่า ช่วงเวลา 2 ปีที่มีโควิด-19 ทางบ้านกล้วยได้ปรับตัว โดยไม่คิดว่าเป็นวิกฤติ
“ที่ปัตตานี เราแปรรูปกล้วยน้ำว้าที่มีในชุมชน จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ขณะนี้ช่องทางของกลุ่มบ้านกล้วยอยู่ทุกห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย และวางจำหน่าย 1 หมื่นกว่าสาขาของเซเว่นอีเลฟเว่น การที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ได้ มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเครือข่ายให้ความรู้เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด จนปัจจุบันเข้าถึงลูกค้ามากมาย โดยมีกำลังผลิตวันละ 1 ตัน”
มาลัยฝากถึงผู้ประกอบการทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ว่าอย่าท้อ แม้เจออุปสรรคใหญ่อย่างโควิดก็ตาม
“อยากจะฝากผู้ประกอบการว่าอย่าไปกลัวโควิด-19 แล้วหยุดไปต่อ แต่อยากให้เข้าหาหน่วยงานภาครัฐ เพราะจะช่วยหนุนเสริมได้ การที่เราปรับตัวเข้าหาดิจิทัลทำให้มีตลาดมากขึ้น และที่สำคัญคือคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ผู้ประกอบการจะอยู่รอดหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่โควิด-19 แต่อยู่ที่เราปรับตัวแค่ไหน”
ปัจจุบัน กลุ่มบ้านกล้วยเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพเต็มที่ และได้ผลลัพธ์เกินคาด สำหรับโอท็อปในพื้นที่ (สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) อยากให้มีหน่วยงานเป็นพี่เลี้ยง กลุ่มผู้ประกอบการมีหลายระดับ แบ่งการอบรมกันอย่างชัดเจนให้สอดคล้องกับศักยภาพ
“กลุ่มเราเติบโตในช่วงโควิดพอดี อย่างเดือนที่แล้วปิดยอดไปกว่า 4 ล้านบาท เติบโตมากับดิจิทัล ซึ่งทุกโอกาสที่ได้รับในยุคออนไลน์ ไม่คิดว่าสินค้าบ้านๆ เข้าสู่สากลได้ เห็นได้ชัดคือเราเติบโตแบบก้าวกระโดด จากปี 55 ได้ 1,500 บาท ล่าสุดปีนี้ 4 ล้านกว่าบาท มั่นใจว่าปี 65 เราจะขยายมากขึ้น และต้องการวัตถุดิบกล้วยน้ำว้ามากขึ้นด้วย” ผู้ก่อตั้ง บริษัท บ้านกล้วยฯ กล่าว