ยะลาตัวเลขป่วยโควิดเริ่มลดลง ส่งผลยอดติดเชื้อใหม่รวม 4 จังหวัดใต้เหลือ 1,297 ราย เสียชีวิต 6 ศพ ด้านกิจกรรม “คิกออฟ” ปูพรมฉีดวัคซีนนราฯ ดันยอดปักแขนเพิ่มขึ้น ขณะที่ ศอ.บต.ร่วมบัณฑิตอาสาลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกชวนรับวัคซีน
วันจันทร์ที่ 8 พ.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในแต่ละจังหวัดเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในบางจังหวัด เช่น จ.ยะลา จากที่เคยมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 600-700 คนต่อวัน ลงเหลือแค่ไม่เกิน 300 คนต่อวัน
ข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. พบว่า จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 462 ราย อยู่อันดับ 2 ตามมาด้วย จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 406 ราย อยู่อันดับ 4 ส่วน จ.นราธิวาส มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 295 ราย อยู่อันดับ 6 และ จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 266 ราย อยู่อันดับ 7
ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของสามจังหวัดชายแดนใต้และสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 8 พ.ย.64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ไม่รวมผู้ต้องขังในเรือนจำ) อยู่ที่ 171,545 ราย
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 1,297 ราย และเสียชีวิต 6 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 463 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 52,037 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 52,014 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,061 ราย รักษาหายแล้ว 45,793 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 183 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,852 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 11,630 ราย, อ.เมืองสงขลา 7,107 ราย, อ.จะนะ 6,681 ราย, อ.สิงหนคร 4,736 ราย, อ.สะเดา 3,992 ราย, อ.เทพา 3,930 ราย, อ.รัตภูมิ 3,170 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,110 ราย, อ.นาทวี 1,376 ราย, อ.บางกล่ำ 1,193 ราย, อ.ระโนด 905 ราย, สทิงพระ 779 ราย, ควนเนียง 618 ราย, อ.นาหม่อม 553 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 336 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 73 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,167 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 658 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 273 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 41,281 ราย รักษาหายแล้ว 24,298 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 396 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 202 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 293 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,337 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 627 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 64 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 47 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 213 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 127 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 12 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 40 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 227 ราย และ Home Isolation 2,102 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 5,995 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,122 ราย, อ.ไม้แก่น 239 ราย, อ.ยะหริ่ง 310 ราย, อ.หนองจิก 650 ราย, อ.โคกโพธิ์ 532 ราย, อ.สายบุรี 809 ราย, อ.แม่ลาน 139 ราย, อ.ยะรัง 666 ราย, อ.ปะนาเระ 113 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 307 ราย, อ.มายอ 506 ราย และ อ.กะพ้อ 378 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 266 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 43,483 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 5,501 ราย รักษาหายแล้ว 40,113 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 299 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 15,407 ราย, อ.เบตง 4,253 ราย, อ.รามัน 5,935 ราย, อ.ยะหา 5,236 ราย, อ.บันนังสตา 6,774 ราย, อ.ธารโต 2,312 ราย, อ.กาบัง 1,134 ราย และ อ.กรงปินัง 2,432 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,501 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 175 ราย, โรงพยาบาลเบตง 133 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 477 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 113 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 121 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 89 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 182 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 67 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 212 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 35 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 132 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 48 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 31 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 101 ราย, Hospitel เบตง 183 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,360 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 1,042 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 295 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 15 ราย, อ.ตากใบ 48ราย, อ.ยี่งอ 28 ราย, อ.จะแนะ 13 ราย, อ.แว้ง 3 ราย, อ.สุคิริน 32 ราย, อ.รือเสาะ 46 ราย, อ.บาเจาะ 1 ราย, อ.ศรีสาคร 7 ราย, อ.เจาะไอร้อง 1 ราย, อ.สไหงปาดี 2 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 99 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 38,983 ราย รักษาหายสะสม 36,849 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 372 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 7,691 ราย, อ.ระแงะ 4,641 ราย, อ.รือเสาะ 2,094 ราย, อ.บาเจาะ 3,310 ราย, อ.จะแนะ 1,617 ราย, อ.ยี่งอ 2,847 ราย, อ.ตากใบ 2,999 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,223 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,226 ราย, อ.ศรีสาคร 2,042 ราย, อ.แว้ง 2,139 ราย, อ.สุคิริน 1,012 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,142 ราย
@@ “คิกออฟ” ปูพรมฉีดวัคซีนนราฯ ทำยอดปักแขนพุ่ง
ด้านความคืบหน้าการปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตามกิจกรรม Kick Off รณรงค์การฉีดวัคซีน "เสริฟ์วัคซีนถึงบ้าน ..บริการด้วยใจ...ปกป้องคนนราให้ปลอดภัยด้วยวัคซีน”
นายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ภาพรวมของกิจกรรมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 3 -10 พ.ย.64 จำนวน 7 วัน มีการลงพื้นที่ปูพรมฉีดวัคซีนตามมาตรการ RECHECK VACCINE 770 ซึ่งหมายถึง 7 วัน 77 ตำบล ให้ครอบคลุม 70% ทั้ง 13 อำเภอ ผลปรากฏว่าภาพรวมการฉีดวัคซีนสะสมเข็มที่ 1 จำนวน 387,006 โดส สะสมเข็มที่ 2 จำนวน 259,458 โดส คิดเป็นร้อยละ 48.11 % (คิดจากยอดเข็มที่ 1) จากประชากร จ.นราธิวาส จำนวน 804,429 คน
ถือว่ากิจกรรม Kick Off ปูพรม ฉีดวัคซีน ใช้กลไกรูปแบบ 3 ประสาน “ศ” คือผู้นำศาสนา “ป” ฝ่ายปกครอง “ส” สาธารณสุข และอสม. เข้าพื้นที่เคาะประตูบ้าน บูรณาการทำงานเดินเท้าเข้าฉีดวัคซีนพร้อมกันทั้ง 13 อำเภอ ซึ่งเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี ภาพรวมประชาชนต่างตื่นตัวรับการฉีดวัคซีน มีทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 โดยเข็มที่ 2 มียอดมากกว่าเข็มแรก ทั้งนี้ต้องรอผลการฉีดวัคซีนเชิงรุก อีกครั้งในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ซึ่งจะครบ 7 วัน ของการ Kick Off ปูพรมฉีดวัคซีน
@@ ศอ.บต.ร่วมบัณฑิตอาสา ปชส.เชิงรุกชวนรับวัคซีน
ส่วนที่บ้านบูเก๊ะกือจิ หมู่ 12 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ปกครองร่วมจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเคาะประตูบ้านสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด–19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายการดำเนินงานของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ตามการดำเนินงานของ ศบค.ส่วนหน้า
นายมาหะมะยากี หะยีมะ นายอำเภอเจาะไอร้อง กล่าวถึงภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน อ.เจาะไอร้อง ว่า ในพื้นที่มีประชากรกว่า 40,900 คน มีผู้ฉีดวัคซีนประมาณ 15,000 คน คิดเป็นร้อยละ 38 เดิมมีการตั้งจุดบริการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นเชิงรุก ไปตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึงที่สุด
ในช่วงแรกประชาชนยังมีความกังวลในเรื่องผลข้างเคียงหลังฉีด แต่ทางอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการฉีดวัคซีน ตอนนี้ประชาชนเริ่มตื่นตัวมากขึ้นและทยอยรับวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยบ้านที่ได้รับวัคซีนครบแล้วก็จะติดสติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์ไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่คนในชุมชน
นายซุลกิฟลี ยูโซ๊ะ หนึ่งในบัณฑิตอาสา กล่าวว่า บัณฑิตอาสาได้ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน เชิญชวน รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ทุกหลังคาเรือน รวมทั้งสำรวจประชากรในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและสร้างความเข้าใจให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้ โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พร้อมกันนี้ได้เชิญชวนให้ผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนไปฉีดกันวัคซีนให้ได้เกิน 70% ตามที่รัฐบาลกำหนด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19