ปัตตานีสั่งปิด 20 หมู่บ้านใน อ.สายบุรี พร้อมตั้งโรงพยาบาลสนาม 700 เตียงในค่ายทหาร ส่วนยะลายกเลิกหมู่บ้านเสี่ยง 14 แห่ง ด้าน เสธ.ทบ.ตามคืบหน้าสร้างรั้วชายแดน สกัดภัยแทรกซ้อน – โควิด
วันเสาร์ที่ 30 ต.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น ติดอันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ
จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. พบว่า จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 666 ราย อยู่อันดับ 2 ตามมาด้วย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 548 ราย อยู่อันดับ 4 ส่วน จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 425 ราย อยู่อันดับ 5 และ จ.นราธิวาส มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ 290 ราย อยู่อันดับ 8
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 449 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 37,248 ราย รักษาหายแล้ว 21,865 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 369 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 188 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 298 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,205 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 562 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 49 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 165 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 114 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 8 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 32 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 253 ราย และ Home Isolation 2,136 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 6,765 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,276 ราย, อ.ไม้แก่น 296 ราย, อ.ยะหริ่ง 451 ราย, อ.หนองจิก 645 ราย, อ.โคกโพธิ์ 597 ราย, อ.สายบุรี 896 ราย, อ.แม่ลาน 115 ราย, อ.ยะรัง 646 ราย, อ.ปะนาเระ 139 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 252 ราย, อ.มายอ 871 ราย และ อ.กะพ้อ 366 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 548 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 47,786 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 44,763 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,613 ราย รักษาหายแล้ว 41,992 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 รายทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 181 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 4,100 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 11,172 ราย, อ.เมืองสงขลา 6,512 ราย, อ.จะนะ 5,967 ราย, อ.สิงหนคร 4,478 ราย, อ.สะเดา 3,755 ราย, อ.เทพา 3,387 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,885 ราย, อ.รัตภูมิ 2,770 ราย, อ.นาทวี 1,161 ราย, อ.บางกล่ำ 1,008 ราย, อ.ระโนด 775 ราย, สทิงพระ 706 ราย, ควนเนียง 536 ราย, อ.นาหม่อม 498 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 318 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 58 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,166 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 611 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 425 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 40,649 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 6,395 ราย รักษาหายแล้ว 34,960 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 266 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 14,510 ราย, อ.เบตง 3,768 ราย, อ.รามัน 5,607 ราย, อ.ยะหา 4,776 ราย, อ.บันนังสตา 6,337 ราย, อ.ธารโต 2,234 ราย, อ.กาบัง 1,044 ราย และ อ.กรงปินัง 2,373 ราย,
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,395 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 181 ราย, โรงพยาบาลเบตง 123 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 549 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 129 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 377 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 109 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 359 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 155 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 125 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 39 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 78 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 37 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 41 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 110 ราย, Hospitel เบตง 138 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,885 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 960 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 290 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 61 ราย, อ.ตากใบ 53 ราย, อ.จะแนะ 3 ราย, อ.แว้ง 5 ราย, อ.รือเสาะ 24 ราย, อ.บาเจาะ 60 ราย, อ.ระแงะ 25 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.เจาะไอร้อง 9 ราย, อ.สุไหงปาดี 3 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 44 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 36,642 ราย รักษาหายสะสม 33,705 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 368 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 7,322 ราย, อ.ระแงะ 4,485 ราย, อ.รือเสาะ 1,941 ราย, อ.บาเจาะ 3,064 ราย, อ.จะแนะ 1,509 ราย, อ.ยี่งอ 2,668 ราย, อ.ตากใบ 2,818 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,815 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,062 ราย, อ.ศรีสาคร 1,966 ราย, อ.แว้ง 2,081 ราย, อ.สุคิริน 914 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,015 ราย
@@ปัตตานี สั่งปิด 20 หมู่บ้าน อ.สายบุรี
ที่ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เรียกประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และวางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่กำลังระบาดในหลายพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี
โดยในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี ได้มีมติให้มีการปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน จึงได้ออกคำสั่งของจังหวัดปัตตานี ให้ปิดพื้นที่เพิ่มอีก 20 หมู่บ้าน ใน 8 ตำบลของอำเภอสายบุรี เป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 - 15 พ.ย.64 เนื่องจากพบว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงห้ามประชาชนเข้าหรืออกในพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่
ทั้งยังได้มีคำสั่งจังหวัดปัตตานี ในการขยายระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน โดยห้ามไม่ให้บุคคลใดในเขตพื้นที่จังหวัดปัตตานีออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 23.00 น. ถึง 03.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งจากคำสั่งเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ให้ขยายเพิ่มอีก 1 เดือน โดยเริ่มตั่งแต่วันที่ 1 - 30 พ.ย.64
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งเพิ่มโรงพยาบาลสนามอีก 1 แห่ง ที่ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยใช้อาคารภายในค่ายฯ จำนวน 4 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 700 เตียง ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.64เป็นต้นไป
@@ยะลายกเลิกหมู่บ้านเสี่ยง 14 แห่ง
นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้มีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 จังหวัดยะลา ที่ 303/2564 เรื่อง ยกเลิกพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในพื้นที่จังหวัดยะลา ( ฉบับที่ 26 ) เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่พบผู้ป่วยยืนยันและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 14 วัน รวมทั้งหมด 14 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอ ดังนี้
1.อ.ธารโต 3 หมู่บ้าน ได้แก่ ต.บ้านแหร ม.1 บ้านแหร และ ม.4 บ้านบูโล๊ะสะนีแย , ต.ธารโต ม.6 บ้านมายอ
2.อ.ยะหา 11 หมู่บ้าน ได้แก่ ต.บาโงซิแน ม.2 บ้านบูเก๊ะ และ ม.5 บ้านซีเยาะ , ต.บาโร๊ะ ม.5 บ้านซีเซ๊ะ , ต.ปะแต ม.1 บ้านบายอ ม.4 บ้านฆอรอราแม ม.5 บ้านบาจุ และ ม.9 บ้านตะโล๊ะเว , ต.ยะหา ม.2 บ้านยะหา ม.4 บ้านลากอ ม.6 บ้านอาเส็น , ต.กาตอง ม.4 บ้านเจาะตาแม
@@ เสธ.ทบ.ตามคืบหน้าสร้างรั้วชายแดน สกัดภัยแทรกซ้อน – โควิด
ด้านความคืบหน้าการสร้างรั้วชายแดนไทย – มาเลเซีย ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมด่านศุลการกรสุไหงโกลก จ.นราธิวาส พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบกและเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและคณะ ได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมพื้นที่แนวชายแดนด้าน จ.นราธิวาส ตามแผนงานโครงการก่อสร้างรั้วชายแดนไทยมาเลเซียของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เพื่อป้องกันเฝ้าตรวจบริเวณแนวชายแดน สกัดกั้นจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงการหลบหนีเข้าเมือง การนำเข้าอุปกรณ์อาวุธใช้ในการก่อเหตุ ที่มีกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำสุไหงโกลก และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต
พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 64 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการเพิ่มประสอทธิภาพการควบคุมพื้นที่แนวชายแดนด้าน จ.นราธิวาส จำนวน 2 โครงการ คือ 1.ก่อสร้างผนังเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะทาง 7.528 ก.ม.ด้วยงบประมาณ 407,023,700 บาท เนื่องจากประเทศมาเลเซียก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้ริมตลิ่งฝั่งไทยถูกน้ำกัดเซาะ 2.ก่อสร้างรั้วความมั่นคงอีเล็กทรอนิกส์ ระยะทางยาว 6 ก.ม. งบประมาณ 52,750,409 บาท ด้วยการติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่ 4 ชุมชนริมตลิ่งแม่น้ำสุไหงโกลก ในพื้นที่ อ.ตากใบ คือ ชุมชนตาบา ต.เจ๊ะเห ชุมชน ต.เกาะสะท้อน ชุมชน ต.โฆษิต และชุมชน ต.นานาค ซึ่งกล้อง CCTV ทั้ง 282 ตัว มีประสิทธิภาพในการจับใบหน้า การซูม จับภาพมองคงทีและการหมุนไปมา ที่มีการติดตั้งบริเวณริมตลิ่ง โดยไม่ได้มีการแบ่งแยกพี่น้องประชาชนขาวไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ทำงายวิถีชีวิตของประชาชนทั้ง 2 ฟากฝั่งแต่อย่างใด ซึ่งโครงการทั้ง 2 อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนสำรวจถึงความเหมาะสมในการติดตั้ง หรือการก่อสร้าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
จากนั้นทาง พล.อ.สันติพงศ์ และคณะ ได้เดินทางไปยังด่านศุลกากรตากใบ เพื่อลงเรือสปีดโบ๊ทของตำรวจน้ำตากใบ ล่องไปตามแม่น้ำสุไหงโกลก เพื่อดูสถานที่ในการก่อสร้างผนังเขื่อนป้องกันตลิ่งและรั้วความมั่นคงอีเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งได้พบเห็นการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนของชุดควบคุมป้องกันชายแดน ที่มีการกระจายกำลังกันตั้งปฏิบัติหน้าที่ ในการสกัดกั้นสิ่งผลกฎหมาย ภัยแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง รวมทั้งเป็นการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง ของกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่อาจจะมีการนำพาเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแพร่ระบาดในประเทศ