ภาพลูกค้านั่งและยืนรอคิวทั้งในและด้านนอกร้านเคเอฟซี (KFC) แบรนด์ไก่ทอดชื่อดังระดับโลก ที่ห้างไดอาน่า ปัตตานี ด้วยการเว้นระยะห่างตามมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 สะท้อนถึงความชื่นชอบของลูกค้าที่มีต่อไก่ทอดสูตรของ "ผู้พันเซนเดอร์" เป็นอย่างดี
"ตั้งแต่เปิดตัวมาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. จนถึงปัจจุบัน ลูกค้าตอบรับดีมาก ยอดขายน่าพอใจมาก" เป็นคำยืนยันจาก จำเริญ สีโยม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์การค้าไดอาน่า คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของ เคเอฟซี สาขาศูนย์การค้าไดอาน่า ปัตตานี
การกลับมาครั้งใหม่ หลังจากปิดไปทุกสาขาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2557 หรือกว่า 7 ปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาช่องทางการจำหน่ายตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น เพราะนอกจากจะเปิดขายหน้าร้านแล้ว ยังมีการขายผ่านแอปพลิเคชั่น รวมถึงจัดคิวตามลำดับการจองผ่านแอปฯด้วย
"หลังจากที่ปิดสาขาปัตตานีไป เราได้สำรวจความต้องการของลูกค้าพบว่า ลูกค้าจำนวนมากต้องเดินทางไปกินเคเอฟซีที่หาดใหญ่ (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) และเรียกร้องให้เปิดในปัตตานีต่อ ในช่วงนั้นสถานการณ์โควิดยังไม่เยอะ จึงติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่เคเอฟซี ซึ่งเขามีนโยบายที่จะขยายสาขาอยู่เช่นกัน เพราะที่ผ่านมายอดขายของสาขาปัตตานีดีมาก จนสุดท้ายคุยกันลงตัว เปิดตัวใหม่ในสถานที่เดิม ท่ามกลางโควิดพุ่ง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา" จำเริญ บอกเล่าถึงเส้นทางการกลับมาของเคเอฟซี สาขาปัตตานี
"ภูมิใจกับสายสัมพันธ์ที่เคเอฟซีเลือกเปิดสาขาในชายแดนใต้ ที่ไดอาน่า ปัตตานี เป็นที่แรก" เขาย้ำ
ก่อนปิดตัวเมื่อปี 2557 ร้านเคเอฟซี มีอยู่ 3 สาขาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในปัตตานี 2 สาขา คือที่ ห้างบิ๊กซี ปัตตานี และห้างไดอาน่า ขณะที่อีก 1 สาขาอยู่ที่ห้างโคลิเซียม จ.ยะลา
การกลับมาในรอบ 7 ปีเศษหนนี้ เคเอฟซีเลือกเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าไดอาน่า ปัตตานี ก่อนเป็นแห่งแรก จากนั้นจึงเปิดสาขา 2 ที่ บิ๊กซี นราธิวาส ซึ่งเป็นการเปิดใหม่พร้อมตัวห้างบิ๊กซี เมื่อ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่ จำเริญ จะรู้สึกภาคภูมิใจ
ส่วนความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์โควิดนั้น จำเริญ บอกว่า ได้เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ จัดระเบียบตามนโยบายของรัฐบาล มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และความปลอดภัยของลูกค้า ทั้งการรักษาระยะห่างและความสะอาดของพนักงานของร้าน พนักงานของศูนย์ฯ และพื้นที่ผู้เช่า แยกบริเวณกันอย่างชัดเจน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ลูกค้าก็เข้าใจ ให้ความร่วมมือดีมาก ได้รับความสะดวกจากการบริการ ซึ่งทางศูนย์การค้าก็มีการปรับรูปแบบภายในใหม่ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาสามารถเดินชมและซื้อหาทุกอย่างได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าเดิม
ขณะที่ทางศูนย์การค้าเอง ก็ได้สุ่มตรวจ ATK พนักงานในศูนย์ฯทุกคน ตลอดจนพนักงานผู้แทนขายของร้านผู้เช่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยผลตรวจเป็นลบทั้งหมด มีมาตรการรักษาความสะอาด เน้นย้ำการสวมหน้ากากอนามัย ฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดในทุกจุดสัมผัสร่วม เพื่อสร้างมั่นใจและความปลอดภัยให้กับลูกค้าตลอดเวลาที่ใช้บริการ
สำหรับกระแสความคิดเห็นของคนในพื้นที่ต่อการกลับมาของเคเอฟซีในครั้งนี้ จำเริญ บอกว่า มีความหลากหลาย แต่เคเอฟซีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้า และการเปิดร้านในศูนย์การค้า ก็สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดีและครบวงจร
ลูกค้ารายหนึ่งจากตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง ที่มานั่งรอคิวในร้าน บอกว่า เป็นลูกค้าประจำของเคเอฟซีตั้งแต่เปิดครั้งแรกที่ไดอาน่า จนปิดไป 7 ปีก่อน ไก่แบรนด์อื่นมาเปิดขายก็ไม่ชอบ ชอบสูตรนี้
"เราชอบขนาดที่ว่า เคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปโลตัส จะนะ (อ.จะนะ จ.สงขลา อำเภอรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ห่างจากปัตตานีราวๆ 60 กิโลเมตร) เพื่อกินเคเอฟซี เมื่อมาเปิดที่ไดอาน่าก็ไม่ต้องไปไกล"
จากความชอบกลายเป็นความผูกพันทางใจ ปานพิมพ์ พูลสวัสดิ์ ลูกค้าอีกรายของเคเอฟซี บอกว่ารู้สึกดีใจมากที่เคเอฟซีกลับมาเปิด และมีกระแสตอบรับดีเกินคาด
"รสชาติยังเหมือนเดิม ถือเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า เราไม่ได้มาวันแรกๆ เพราะคนเยอะมาก ต้องหาช่วงเวลาที่คนไม่เยอะ ชอบทานในร้านมากกว่า ได้บรรยากาศและรสชาติไก่ น้องๆ พนักงานบริการดี ลูกค้าก็เข้าใจและเคารพกฎกติกาที่ระบุไว้ว่า ต้องเว้นระยะห่าง รักษาความปลอดภัยตัวเองและสังคม การจัดเก้าอี้ให้นั่งรอด้านนอกถือว่าโอเคมาก" ปานพิมพ์ บอก
แน่นอนว่าการกลับมาของเคเอฟซี ไก่ทอดแบรนด์ดัง ย่อมส่งผลกระทบต่อไก่ทอดแบรนด์ท้องถิ่นที่คึกคักอย่างมากในช่วง 7 ปีที่ไม่มีเคเอฟซี
ไล่เลียงชื่อร้านไก่ทอดในพื้นที่รายใหญ่ๆ ที่มีการจัดร้านทันสมัย ตอบสนองคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน ก็เช่น ร้านบากุส, อายัมบัง, อายัมบอย, ไก่สลาม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดตั้งร้านกระจายอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี จากการลงพื้นที่สำรวจก็พบว่า ได้รับผลกระทบจากการกลับมาของเคเอฟซี ส่งผลให้ยอดขายที่ดิ่งมาตลอดในช่วงโควิด ยิ่งดิ่งหนักขึ้นไปอีก
"ตั้งแต่โควิดมาเยือน ร้านค้าต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ การไม่ให้นั่งทานที่ร้านสำหรับร้านไก่ทอดอย่างพวกเราส่งผลกระทบอย่างหนัก ไม่อยากบอกว่า ยอดขายหายไปเกือบทั้งหมด เราประคับประคอง ขายเฉพาะหน้าร้านแบบนำกลับไปทานที่บ้านมาตลอด เพื่อให้ร้านคงอยู่ บางรายถึงกับต้องปิดตัวเองไปเพื่อรักษาความจริงของชีวิตไว้ พอมีมาตรการนั่งทานที่ร้านได้ ก็พอดีที่เคเอฟซีมาเปิดอีกครั้ง" เจ้าของร้านไก่ทอดรายใหญ่ในปัตตานีรายหนึ่ง บอกเล่าถึงสถานการณ์ของร้าน
ส่วนประเด็นเรื่องของความถูกต้องและ "ฮาลาล" ที่พูดถึงกันอย่างมาก และเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของเคเอฟซีกับไก่ทอดแบรนด์ท้องถิ่นนั้น กลายเป็นประเด็นที่ไม่มีใครอยากพูดถึงอย่างตรงตรงไปตรงมา ทั้งผู้แทนของเคเอฟซีที่เปิดสาขาในปัตตานี และบรรดาเจ้าของร้านไก่ทอดแบรนด์ท้องถิ่นเอง
"ให้เป็นการตัดสินใจและวิจารณญาณของลูกค้าก็แล้วกัน เพราะคนทานจะรู้ดีว่า ได้รับข้อมูลมาอย่างไร รู้แล้วทำอย่างไร" เจ้าของร้านไก่ทอดแบรนด์ท้องถิ่นรายหนึ่ง กล่าว
"ทุกอย่างอยู่ที่ตัวบุคคล เราไม่สามารถไปบอกทีละคนว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง และตัดสินใจเอง ยอมรับในสิ่งที่ตัดสินใจ แต่คิดอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นการกระจายรายได้ในพื้นที่ปัตตานี ไม่ต้องเดินทางไปทานกันถึงหาดใหญ่หรือจะนะเหมือนที่ผ่านมา" เขามองแง่ดี
หลากหลายมุมมองกับประเด็นการกลับมาของเคเอฟซีในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งไก่ทอดสูตรผู้พันแซนเดอร์ยังไม่หยุดแค่นี้ เพราะมีแผนขยายสาขาครอบคลุมทุกจังหวัดปลายด้ามขวานในอนาคตอันใกล้ ท่ามกลางความยากลำบากของร้านไก่ทอดแบรนด์ท้องถิ่น และสถานการณ์โควิดที่ยังติดท็อปเท็นของประเทศ...