ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ตั้ง “บิ๊กเล็ก" พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ นั่ง ผอ. ศบค.ส่วนหน้า คุมแก้ปัญหาโควิดชายแดนใต้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อใหม่ทั้ง 4 จังหวัดยังสูงติดท็อป 10 มียอดรวม 2,469 ราย เสียชีวิต 9 ศพ ด้าน ศปก.เบตงคุมเข้มเข้า – ออก หลังติดเชื้อพุ่งวันเดียว 141 ราย
วันอาทิตย์ที่ 17 ต.ค.64 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากทุกวัน ทำให้ล่าสุดได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 21/2564 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2564 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปต่อเนื่อง เป็นลำดับ โดยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 กำหนดให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เป็นหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น
เพื่อให้การบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในเขตพื้นที่ดังกล่าว สมควรกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ ในการบูรณาการการปฏิบัติราชการให้สามารถขับเคลื่อน ติดตาม และแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการเฉพาะและชั่วคราว อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (3) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่5/2563 เรื่อง การจัดตั้ง หน่วยงานพิเศษ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ "จังหวัดชายแดนภาคใต้" หมายความว่า จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลาและจังหวัดสงขลา และอาจรวมพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมดของจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ข้อ 2 ให้มี "ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (เรียกโดยย่อว่า "ศบค.ส่วนหน้า") มีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยมีองค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
2.1 องค์ประกอบ
(1) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์)ผู้อำนวยการศูนย์
(2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองผู้อำนวยการ 1
(3) ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองผู้อำนวยการ 2
(4) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รองผู้อำนวยการ 3
(5) ปลัดกระทรวงกลาโหม กรรมการ
(6) ปลัดกระทรวงคมนาคมกรรมการ
(7) ปลัดกระทรวงแรงงาน กรรมการ
(8) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกรรมการ
(9) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกรรมการ
(10) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกรรมการ
(11) เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกรรมการ
(12) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกรรมการ
(13) เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมการ
(14) แม่ทัพภาคที่ 4 กรรมการ ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4
(15) อธิบดีกรมการแพทย์ กรรมการ
(16 ) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรรมการ
(17) อธิบดีกรมอนามัย กรรมการ
(18 ) เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรรมการ
(19 ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กรรมการ
(20) ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กรรมการ
(21) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กรรมการ
(22 ) ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กรรมการ
(23 ) ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กรรมการ ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
(24 ) ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี กรรมการ
(25 ) อธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการและเลขานุการ
(26 ) ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (1)
(28) รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ได้รับมอบหมายกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (2)
(28) ผู้อำนวยการกองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (3) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(29 ) เจ้าหน้าที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (4)
2.2 หน้าที่และอำนาจ
(1) กำหนดแนวทางการบูรณาการ ประสานงาน ขับเคลื่อน เร่งรัดและติดตาม การปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คลี่คลายโดยเร็วตามนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และมาตรการที่รัฐบาลหรือศูนย์บริหาร สถานการณ์โควิด - 19 กำหนด
(2) ร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อให้การดำเนินการของ ศบค.ส่วนหน้า และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะและความเห็นในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19
(4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นไปตามคำสั่งนี้ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 มอบหมาย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในข้อนี้ ให้ ศบค.ส่วนหน้า เสนอนายกรัฐมนตรีวินิจฉัย
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจของ ศบค.ส่วนหน้า ตามคำสั่งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศบค.ส่วนหน้า ตามที่ร้องขอ
ข้อ 4 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ ศบค.ส่วนหน้า และให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านงบประมาณและงานด้านธุรการ ตามความจำเป็นและเหมาะสมให้แก่ ศบค. ส่วนหน้า
ข้อ 5 ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ ตามหน้าที่และอำนาจตามคำสั่งนี้ เป็นผู้ปฏิบัติงานใน ศบค.ส่วนหน้า ตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19
@@ บุกชายแดนใต้แจกฟ้าทะลายโจร
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงวิกฤติ ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังพุ่งสูง จนแต่ละจังหวัดต้องออกมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะสงขลา หากเดินทางจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเข้าสงขลา ต้องมีหลักฐานฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์
ขณะที่ จ.ยะลา ใครจะติดต่อราชการหรือไปธนาคาร ต้องมีหลักฐานฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจยืนยันว่า ปลอดโควิดไม่เกิน 72 ชั่วโมงเช่นกัน
ด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียด สิ่งชาวบ้านในพื้นที่ต้องการอย่างมากในยามนี้ คือ "ฟ้าทะลายโจร" เพราะเมื่อผู้ติดเชื้อมาก วันละเกิน 2,000 รายใน 4 จังหวัด ทำให้เตียงรักษาไม่มี ทั้งโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาล และ Hospitel ถ้าใครพลาดติดเชื้อขึ้นมาต้องรักษาตัวเองที่บ้าน หรือไม่ก็โดนกักแยกที่ "ศูนย์พักคอย" ในชุมชน
เหตุนี้เอง ดร.ธนัท เชี่ยวชาญอักษร แห่ง บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด จึงได้มอบ "ฟ้าทะลายโจร" จำวน 2,000 กระปุก ผ่านทางเนชั่นทีวีและสำนักข่าวอิศรา ซึ่งมีเครือขายผู้สื่อข่าวและภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่าง "กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" เพื่อนำฟ้าทะลายโจรไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนผู้เดือดร้อนและมีความต้องการ
ขณะเดียวกัน พระราชรัตนาลงกรณ์ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย ก็ได้ร่วมมอบ "ฟ้าทะลายโจร" อีก 200 กระปุก ให้ทีมข่าวและกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ นำไปมอบให้กับพี่น้องประชาชนโดยไม่เลือกศาสนา โดยทางกลุ่มร่วมด้วยช่วยกัน และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้นำเครื่องอุปโภคบริโภคที่ทางกลุ่มจัดหามา นำไปช่วยเหลือครอบครัวผู้ติดเชื้อ ผู้ถูกกักตัว กับผู้ยากไร้ในพื้นที่ด้วย และพยายามกระจายไปทั้ง 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา
น.ส.รอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ บอกว่า โควิดรอบนี้หนักจริงๆ ทุกพื้นที่ชาวบ้านติดหมด ส่วนใหญ่รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน เมื่อทางกลุ่มนำฟ้าทะลายโจรไปมอบให้ จึงดีใจกันมาก เพราะทุกคนอยู่กันด้วยความเครียดและหวาดกลัว ชาวบ้านทุกคนฝากขอบคุณ พระราชรัตนาลงกรณ์, บริษัท ธนัทเฮิร์บ และสื่อมวลชนที่ร่วมกันประสานงาน นำฟ้าทะลายโจรแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในพื้นที่
@@ศปก.เบตงคุมเข้มเข้า – ออก หลังติดเชื้อโผล่วันเดียว 141 ราย
ที่ อ.เบตง นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง / ผอ.ศปก.อ.เบตง มอบหมายให้ ศูนย์ปฏิบัติการตำบลทุกตำบล ดำเนินการตั้งจุดตรวจเข้า-ออก ภายในหมู่บ้าน เพื่อคัดกรองบุคคลเดินทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง หลังอำเภอเบตงพบยอดติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 141 คนมากที่สุดเท่าที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยให้กับผู้สัญจรไป-มา ในพื้นที่ ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A. อย่างเคร่งครัด
ด้าน พ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตง พร้อมด้วย พ.ต.ท.ทศพล พลอยงาม รอง ผกก.ป. พ.ต.ท.ณัฐพล นาคบุตรศรี สวป. นำข้าราชการตำรวจจิตอาสา สภ.เบตง และประชาชนจิตอาสา ร่วมจัดกิจกรรมจิตอาสา เนื่องในวันตำรวจแห่งชาติ 17 ต.ค.64 โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียงในเขตเทศบาลเมืองเบตง ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
@@ติดเชื้อใหม่รวม 2,469 ราย เสียชีวิตรวม 9 ศพ
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา จากการจัดอันดับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ ข้อมูลของ ศบค. ประจำวันที่ 17 ต.ค.64 ระบุ จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 727 ราย ยังอยู่อันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ตามมาด้วย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 650 ราย คงยังอยู่อันดับ 3 ส่วน จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 647 ราย ยังอยู่อันดับ 4 และ จ.นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 468 ราย ยังอยู่อันดับ 6
ส่วนที่รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 2,469 ราย และเสียชีวิตรวม 9 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 730 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 34,256 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 7,923 ราย รักษาหายแล้ว 26,102 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 231 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 520 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 12,206 ราย, อ.กรงปินัง 2,238 ราย, อ.เบตง 2,877 ราย, อ.รามัน 4,550 ราย, อ.บันนังสตา 5,540 ราย, อ.กาบัง 948 ราย, อ.ธารโต 2,051 ราย และ อ.ยะหา 3,846 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 7,923 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 191 ราย, โรงพยาบาลเบตง 155 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 530 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 167 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 955 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 133 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 420 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 296 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 191 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 101 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 228 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 54 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 32 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 187 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,131 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 787 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 1,365 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 650 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 39,946 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 39,923 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,220 ราย รักษาหายแล้ว 33,554 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 172 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 2,005 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 10,082 ราย, อ.เมืองสงขลา 5,608 ราย, อ.จะนะ 4,210 ราย, อ.สิงหนคร 4,067 ราย, อ.สะเดา 3,207 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,445 ราย, อ.เทพา 2,390 ราย, อ.รัตภูมิ 2,105 ราย, อ.นาทวี 938 ราย, อ.บางกล่ำ 824 ราย, อ.ระโนด 646 ราย, สทิงพระ 611 ราย, อ.นาหม่อม 424 ราย, ควนเนียง 421 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 269 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 53 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,144 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 480 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 621 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 30,550 ราย รักษาหายแล้ว 18,439 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 343 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 215 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 430 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,502 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 574 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 49 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 182 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 123 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 4 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 26 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 227 ราย และ Home Isolation 369 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 6,957 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,511 ราย, อ.หนองจิก 535 ราย, อ.โคกโพธิ์ 362 ราย, อ.ยะหริ่ง 593 ราย, อ.สายบุรี 817 ราย, อ.ไม้แก่น 316 ราย, อ.แม่ลาน 78 ราย, อ.ยะรัง 522 ราย, อ.ปะนาเระ 281 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 446 ราย, อ.มายอ 865 ราย และ อ.กะพ้อ 320 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 468 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 70 ราย, อ.ตากใบ 25 ราย, อ.ยี่งอ 50 ราย, อ.จะแนะ 3 ราย, อ.แว้ง 26 ราย, อ.สุคิริน 18 ราย, อ.บาเจาะ 3 ราย, อ.ระแงะ 198 ราย, อ.ศรีสาคร 2 ราย, อ.เจาะไอร้อง 1 ราย, อ.สุไหงปาดี 40 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 32 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 32,323 ราย รักษาหายสะสม 27,934 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 349 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 6,742 ราย, อ.ระแงะ 3,588 ราย, อ.รือเสาะ 1,690 ราย, อ.บาเจาะ 2,517 ราย, อ.จะแนะ 1,266 ราย, อ.ยี่งอ 2,526 ราย, อ.ตากใบ 2,450 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,462 ราย, อ.สุไหงปาดี 2,777 ราย, อ.ศรีสาคร 1,714 ราย, อ.แว้ง 1,933 ราย, อ.สุคิริน 890 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,768 ราย