“อนุทิน” ลั่นใช้ยาแรงคุมโควิด 4 จังหวัดชายแดนใต้ สิ้น ต.ค.นี้ปิดเกม เตรียมเปิดเมือง ใช้ชีวิตปกติ เผยได้รับความร่วมมือผู้นำศาสนาสร้างความเข้าใจเรื่องวัคซีน ด้าน สสจ.ยะลา ลุยมาตรการเชิงรุกแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 2,514 ราย เสียชีวิต 14 ศพ
วันศุกร์ที่ 15 ต.ค.64 ภารกิจในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและรักษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ได้เดินทางไปยังศูนย์ฉีดวัคซีน ม.อ.ปัตตานี พร้อมมอบสิ่งของ เพื่อเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี แม่ทัพภาคที่ 4 และประธานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดปัตตานีร่วมให้การต้อนรับและได้มอบสิ่งของเพื่อเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งยังได้เดินทางไปพบปะบุคลากรสาธารณสุข ณ ท่าเทียบเรือปัตตานี ต.บานา อ.เมือง และโรงพยาบาลสนาม ภายในสนามกีฬา อบจ.ปัตตานี
หลังจากนั้นนายอนุทิน พร้อมคณะได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมเสริมพลังแก่เจ้าหน้าที่หน่วยบริการฉีดวัคซีน ที่โรงเรียนนราสิกขาลัย อ.เมืองนราธิวาสและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่นราธิวาส พร้อมทั้งเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ และมอบนโยบายในการควบคุม ป้องกันโรค ลดผู้ป่วย ลดผู้เสียชีวิตและเพิ่มความครอบคลุมการรับวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เราต้องเร่งให้พี่น้องประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หากยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นสูงทุกวัน พื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงต้องใช้ยาแรงมาปิดเกม จากความพร้อมของสถานบริการในพื้นที่มั่นใจว่า จะเร่งทำการฉีดให้ครบภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จะเปิดโรงเรียน ธุรกิจ ร้านอาหาร สัญจรไปมาได้สะดวก สำคัญที่สุดคือ ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมืออย่างดีมาก ทั้งฝ่ายความมั่นคง สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ภาคประชาชน และได้รับความอนุเคราะห์จากประธานคณะกรรมการอิสลาม ผู้นำศาสนาแทบทุกจังหวัด เพื่อไปทำความเข้าใจกับพี่น้องมุสลิมว่า วัคซีนไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมที่ไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม พี่น้องศาสนาอื่นๆ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ขอให้ความมั่นใจว่า ไม่มีการขาดยา เวชภัณฑ์พร้อมสำหรับการดูแลผู้ป่วยทั้งประเทศได้แน่นอน การกระจายวัคซีนไม่ได้เท่ากันทุกจังหวัด ใช้ปัจจัยสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด นำมาคำนวณแล้วกระจายวัคซีนออกไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระดับทั่วประเทศได้มากขึ้น บางจังหวัดที่มีการระบาดน้อยก็เร่งส่งวัคซีนไป จังหวัดที่มีการระบาดมากต้องรีบปิดเกมให้ได้ สี่จังหวัดชายแดนใต้ต้องฉีดให้ครบ 1,000,000 โดส ภายในสิ้นเดือนนี้ มีวัคซีนเข้ามาภายในอาทิตย์นี้ 400,000 โดส และอีก 600,000 โดส ภายในสิ้นปีนี้ทุกอย่างต้องเข้าเป้าหมด
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนคือ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ต้องเร่งทำให้ประชาชนในพื้นที่รับวัคซีนครบตามเป้าหมาย ขณะนี้ฉีดไปเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และต้องฉีดให้ครบ 70 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ส่วนมาตรการล็อกดาวน์เป็นดุลยพินิจของผู้ว่าฯ เมื่อมีการกระจายวัคซีนทั่วถึง อัตราการติดเชื้อ การเสียชีวิต ผู้ป่วยหนักลดลง เมื่อมีภูมิคุ้มกันครบถ้วน คนป่วยจะไม่มี การติดเชื้อและเสียชีวิตก็ลดลง เหตุการณ์คลี่คลายได้มากขึ้น ก็ไม่มีเหตุต้องล็อกดาวน์
@@สสจ.ยะลา ใช้มาตรการเชิงรุกแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน
นายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ภาพรวมของพื้นที่ยะลา ในขณะนี้แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จากการที่ยังมีการติดเชื้อสัมผัสร่วมบ้าน สถานที่ทำงาน สัมผัสร่วมชุมชน ร่วมกิจกรรม ประกอบกับมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อแยกผู้ติดเชื้อเข้าระบบการดูแลรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด จากสถานการณ์การระบาดในช่วง 14 วันที่ผ่านมา พบอัตราป่วยโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น มีผู้ป่วยรายใหม่รายวัน วันละ 700 ราย ทำให้จังหวัดยะลามีมาตรการเร่งด่วนที่จะดำเนินการในช่วงวันที่ 13 - 23 ต.ค.64 ได้แก่
1.มาตรการเชิงรุกในการแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกมาจากกลุ่มประชาชนปกติให้มากที่สุด โดยการตรวจ ATK เชิงรุกในพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่องใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองยะลา อ.บันนังสตา อ.รามัน อ.ยะหา และอ.กรงปินัง จำนวนเป้าหมายการตรวจคัดกรอง 25,000 ราย มีโอกาสพบผู้ป่วยเข้าข่ายหรือพบเชื้อ 20 % ผู้ป่วยที่พบเชื้อเข้าข่ายการสอบสวนโรค จะส่งเข้าศูนย์สังเกตอาการ (CI) หรือ การรักษาตัวที่บ้าน (HI) ทุกราย ผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ราย จากการทำ ATK ครั้งนี้
2.มาตรการรณรงค์ฉีดวัคซีนเชิงรุก และ เชิงรับในสถานพยาบาล เป้าหมายให้ได้วันละ 9,500 โดส (เข็มที่ 1) ในช่วงวันที่ 13 - 23 ต.ค.64
3.มาตรการจำกัดพื้นที่ กรณีพบการระบาด เช่น การปิดหมู่บ้าน/ชุมชน
4.มาตรการการเพิ่มเตียงทุกประเภท รวมทั้งเพิ่ม HI / CI และ hospital
5.มาตรการจัดหายา Favipiravir เพิ่มในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเร็วขึ้น เพื่อลดอาการผู้ป่วยที่รุนแรง และลดการเสียชีวิต ได้
6.มาตรการสายด่วนโควิด-19 จังหวัดยะลา โทร 1567 และ 4 เบอร์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา บริการตอบคำถามช่วงเวลา 06.00 -21.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
@@เปิดตลาดสดเทศบาลเมืองเบตงวันแรกเงียบเหงา
ส่วนที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง วันนี้ (15 ต.ค.) ได้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการเป็นวันแรก หลังจากที่ถูก ศปก.เทศบาลเมืองเบตง ประกาศปิดตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากพบพ่อค้าแม่ค้าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 33 คน โดยบรรยากาศทั่วไปยังเป็นไปอย่างเงียบเหงา ด้านหน้าตลาดสด ซึ่งเป็นที่จอดรถจักรยานยนต์ของ พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดสด มีรถจอดอยู่ไม่กี่คัน มีเพียงรถเจ้าหน้าที่เทศกิจ และรถพ่อค้าแม่ค้าที่มาเตรียมเปิดร้านขายของภายในตลาดสด
ขณะที่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการบางตา จนนับจำนวนคนเดินซื้อของได้ พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ ทราบข่าวว่า จะมีการเปิดให้บริการตลาดสด ในช่วงบ่ายวานนี้ บางคนก็ทราบช่วงเย็นหรือค่ำ จึงทำให้มาเตรียมสินค้าที่จะขายไม่ทัน โดยเฉพาะอาหารสด เช่น หมู ไก่ ปลา คาดว่า ช่วงเย็นวันนี้ พ่อค้าแม่ค้าจะทยอยนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายมากขึ้น และคาดว่าใช้เวลา 1-2 วัน ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง ก็จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการตามปกติ
@@ติดเชื้อใหม่รวม 2,514 ราย เสียชีวิต 14 ศพ
ด้านตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ จากข้อมูลของ ศบค. วันที่ 15 ต.ค.64 ระบุว่า จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 767 ราย ยังอยู่ในอันดับ 2 อีกวัน ตามมาด้วย จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 644 ราย จากอันดับ 6 ขยับขึ้นมาอันดับ 3 ส่วน จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 605 ราย จากอันดับ 3 ลงมาอยู่อันดับ 4 และ จ.นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 494 ราย จากอันดับ 4 ลงมาอยู่อันดับ 5
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 2,514 ราย และเสียชีวิตรวม 14 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 767 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 32,862 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 7,624 ราย รักษาหายแล้ว 25,012 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 226 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 519 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 11,602 ราย, อ.กรงปินัง 2,186 ราย, อ.เบตง 2,639 ราย, อ.รามัน 4,510 ราย, อ.บันนังสตา 5,369 ราย, อ.กาบัง 924 ราย, อ.ธารโต 1,996 ราย และ อ.ยะหา 3,636 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 7,624 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 199 ราย, โรงพยาบาลเบตง 156 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 509 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 153 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 810 ราย, โรงพยาบา6ลสนามเบตง 97 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 418 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 297 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 162 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 91 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 229 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 49 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 24 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,187 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 821 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 1,422 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 647 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 29,428 ราย รักษาหายแล้ว 18,084 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 342 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 188 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 401 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,464 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 596 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 52 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 176 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 118 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 4 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 29 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 221 ราย และ Home Isolation 305 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 6,490 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,392 ราย, อ.หนองจิก 535 ราย, อ.โคกโพธิ์ 344 ราย, อ.ยะหริ่ง 567 ราย, อ.สายบุรี 799 ราย, อ.ไม้แก่น 279 ราย, อ.แม่ลาน 81 ราย, อ.ยะรัง 493 ราย, อ.ปะนาเระ 262 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 410 ราย, อ.มายอ 752 ราย และ อ.กะพ้อ 287 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 606 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 38,675 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 38,652 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,129 ราย รักษาหายแล้ว 32,377 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 169 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 3,257 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 9,889 ราย, อ.เมืองสงขลา 5,416 ราย, อ.สิงหนคร 4,040 ราย, อ.จะนะ 3,961 ราย, อ.สะเดา 3,136 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,400 ราย, อ.เทพา 2,219 ราย, อ.รัตภูมิ 2,023 ราย, อ.นาทวี 832 ราย, อ.บางกล่ำ 799 ราย, อ.ระโนด 629 ราย, สทิงพระ 602 ราย, อ.นาหม่อม 417 ราย, ควนเนียง 403 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 247 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 52 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,144 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 443 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 494 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 37 ราย, อ.ตากใบ 36 ราย, อ.ยี่งอ 105 ราย, อ.จะแนะ 13 ราย, อ.แว้ง 11 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย, อ.รือเสาะ 4 ราย, อ.บาเจาะ 84 ราย, อ.ระแงะ 132 ราย, อ.ศรีสาคร 24 ราย, อ.เจาะไอร้อง 10 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 30 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 31,396 ราย รักษาหายสะสม 26,565 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 7 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 338 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 6,577 ราย, อ.ระแงะ 3,386 ราย, อ.รือเสาะ 1,689 ราย, อ.บาเจาะ 2,445 ราย, อ.จะแนะ 1,260 ราย, อ.ยี่งอ 2,357 ราย, อ.ตากใบ 2,417 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,350 ราย, อ.สุไหงปาดี 2,730 ราย, อ.ศรีสาคร 1,698 ราย, อ.แว้ง 1,901 ราย, อ.สุคิริน 870 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,716 ราย