ใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานรัฐพากันสรุปผลงานในหน้างานที่รับผิดชอบ ก่อนขึ้นปีงบประมาณใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม
ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการสรุปข้อมูลเช่นกัน แต่ข้อมูลที่สรุปนั้นมากกว่าผลงาน เพราะพื้นที่นี้มีสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อยาวนานมากว่า 17 ปี ภารกิจการสร้างสันติสุข ลดเหตุรุนแรง ลดการสูญเสีย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมาทบทวนตรวจสอบกันทุกปี
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) สรุปสถิติเหตุรุนแรง ซึ่งเป็น “เหตุความมั่นคง” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงปีงบประมาณ 2564 นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 ถึงวันที่ 24 ก.พ.64
สำหรับเหตุความมั่นคง หมายถึงเหตุรุนแรงหรือความไม่สงบที่ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่เป็นการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์ของกลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดย กอ.รมน.ภาค 4 สน. พบว่า ตลอดปีงบประมาณ 2564 มีเหตุการณ์ความมั่นคงเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ความสูญเสียลดลง ตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 17 ปีที่ไฟใต้เริ่มปะทุเป็นต้นมา (นับตั้งแต่ 4 ม.ค.47)
พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.63 ถึง 24 ก.ย.64 มีเหตุการณ์ความมั่นคง จำนวน 84 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 38 ราย บาดเจ็บ 85 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2563 พบว่า เหตุรุนแรงที่เป็น “เหตุความมั่นคง” เพิ่มขึ้น 30 เหตุการณ์ กล่าวคือ 53 เหตุการณ์ในปี 63 เพิ่มขึ้นเป็น 84 เหตุการณ์ในปี 64
ที่น่าสังเกตก็คือ เหตุรุนแรงในรูปแบบการลอบวางระเบิด และวางเพลิง เพิ่มขึ้นสูงมากในปี 64 เมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 63 โดยในส่วนของเหตุการณ์ลอบว่างระบิด ปี 63 จำนวน 23 ครั้ง ปี 64 พุ่งขึ้นเป็น 46 ครั้ง หรือเท่าตัว ขณะที่วางเพลิง ปี 63 จำนวน 3 ครั้ง แต่ปี 64 พุ่งขึ้นถึง 12 ครั้ง ขณะที่เหตุรุแรงประเภทโจมตีที่ตั้ง ซุ่มโจมตี หรือยิงด้วยอาวุธปืน มีจำนวนเท่าๆ กัน ตัวเลขไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนความสูญเสีย ในปี 64 มีผู้เสียชีวิต ลดลง 24 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.42 และบาดเจ็บลดลง 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.04 โดยในปี 63 มีผู้เสียชีวิต 62 ราย บาดเจ็บ 105 ราย ขณะที่ปี 64 เสียชีวิตลดลงเหลือ 38 ราย บาดเจ็บ 85 ราย
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังบอกอีกว่า ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้มีรายชื่อในบัญชีบุคคลเป้าหมายเฝ้าระวัง 860 เป้าหมาย จำนวน 10 ราย และอยู่ในบัญชีเป้าหมายสำคัญเร่งด่วน 106 เป้าหมาย จำนวน 2 ราย
ด้าน นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ “ดร.เจ๋ง” รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า จากสถิติเหตุการณ์ความมั่นคง ตั้งแต่ 47 ถึงเดือน ส.ค.64 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ โจมตีที่ตั้ง ยิง ระเบิด วางเพลิง ฆ่าด้วยวิธีทารุณ ประสงค์ต่ออาวุธ ชุมนุมประท้วง ทำร้าย และอื่นๆ จำนวน 10,170 ครั้ง
แต่เมื่อเปรียบเทียบสถิติเหตุการณ์และความสูญเสีย ห้วง ต.ค.62 ถึง ส.ค.63 กับ ต.ค.63 ถึง ส.ค.64 พบว่ามีเหตุการณ์ความมั่นคงเพิ่มขึ้น ส่วนความสูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บลดลง
สำหรับแนวโน้มของสถานการณ์ คาดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อันจะส่งผลให้เกิดการยกระดับงานพัฒนาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและตรงเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
ฟังเสียงชาวบ้านกันบ้าง นายดอเลาะ ปูโย๊ะ อายุ 56 ปี ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า เหตุการณ์ในพื้นที่รู้สึกว่าน้อยลงเหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสถานการณ์โควิดหรือไม่ ประกอบกับมีข่าวบีอาร์เอ็นแถลงหยุดยิงช่วงโควิด อาจทำให้เหตุรุนแรงลดลง แต่ต้องเข้าใจว่าเหตุรุนแรงไม่ได้เกิดจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว แต่ยังมาจากกลุ่มอิทธิพลและธุรกิจผิดกฎหมายด้วย จึงอยากให้หน่วยงานรัฐแยกแยะสาเหตุของความรุนแรงเหล่านี้ให้ชัดเจน