อำนาจหนึ่งที่ “ร้อยสัมพันธ์ 3 ป.” ไว้ด้วยกัน ก็คือ อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร โดยเฉพาะการวางตัวนายทหารในสายของตนเข้าไปยึดกุมตำแหน่งสำคัญ
บางทีอำนาจเหล่านี้อาจเป็นความจำเป็นที่ทำให้ “3 ป.” แตกกันไม่ได้ และต้องฝืนจับมือกันต่อไป ในลักษณะ “ซ่อนดาบในรอยยิ้ม”
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเกาะติดและศึกษาการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารมาหลายปี เขียนเฟซบุ๊กอธิบายประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ ทีมข่าวนำมาสรุปขมวดประเด็นได้ดังนี้
1.โผทหารปีนี้ สะท้อนความเข้มแข็งของ 3 ป. เพราะประสบความสำเร็จในการวางตัวนายทหารในเครือข่ายของตนเองไว้ล่วงหน้า และสร้างพื้นที่รุกไล่ในการเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญ กล่าวคือเมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพไม่ได้ ก็สยายปีกไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
2.นับตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2557 ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ถูกส่งข้ามฟาก หรือ “ข้ามห้วย” มาจากตำแหน่ง “5 เสือ ทบ.” ถึง 3 คนด้วยกัน คือ
- พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา จากผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.ปรีชา หรือ “บิ๊กติ๊ก” คือน้องชายแท้ๆ ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ สายตรงบูรพาพยัคฆ์ จากผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
- และล่าสุด พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ จากเสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
3.ผลของการสยายปีก ทำให้เครือข่ายของ “3 ป.” ผ่องถ่ายส่งคนของตัวเองไปโตในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองทัพไทยได้ทุกปี ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถประสานผลประโยชน์ในการจัดสรรตำแหน่งที่ลงตัวกับผู้บัญชาการทหารบกในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้อย่างกลมกลืน และสามารถวางตัวได้ล่วงหน้า ไม่เกิดความขัดแย้งกับ ผบ.ทบ. ซึ่งระยะหลังๆ ไม่ใช่คนในสาย “3 ป.” หรือ “บูรพาพยัคฆ์”
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ถูกโยกจากรองเสนาธิการทหารบก มาเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อรอ “เสียบหัว” หรือ “เสียบยอด” ขึ้นเป็นปลัด ตั้งแต่ปี 2560 โดย พล.อ.ณัฐ หรือ “บิ๊กณัฐ” ก็เป็นนายทหารที่ใกล้ชิดและติดตาม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาอย่างยาวนาน และนี่คือตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุดตัวอย่างหนึ่ง
ปัจจุบันยังมีความพยายามผลักดันลูกน้องในเครือข่าย “3 ป.” ไปเติบโตนอกหน่วย เพื่อ “เสียบยอด” แทน “ลูกหม้อ” ในหน่วยนั้นอีกหลายตำแหน่ง เช่น พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ว่าที่รองปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ก็เป็นน้องรักของทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นทั้งผู้ช่วยทูตทหารบกที่ปารีส, ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (ผบ.พล.ร.9) ในกองทัพบกมาแล้ว โดย พล.อ.สนิธชนก มีอายุราชการถึงปี 2567 เมื่อเข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ก็จะนั่งรอเป็นปลัดคนต่อไป
4.มีการส่งคนจากกองทัพบกไป “เสียบยอด” หรือ “เสียบหัว” ในกองบัญชาการกองทัพไทยด้วย และมีการ “เยียวยา” คนในกองทัพไทยที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน คือ ไม่ได้เป็น ผบ.ทสส. (ผู้บัญชาทหารสูงสุด) ด้วยการส่งไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ คสช.ถึงรัฐบาลเลือกตั้ง ส่งไปแล้ว 5 คน (ดูชื่อในกราฟฟิก)
อาจารย์วันวิชิต ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วง 6-7 ปีหลังมานี้ นายทหารที่ “ข้ามห้วย” ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จะมาจากตำแหน่งที่มี “คลาส” และ “ระดับ” สูงมาก เพียงแต่ว่าไม่สามารถเติบโตสู่ยอดปิรามิดของหน่วยงานของตัวเองได้ เพราะฝ่ายการเมืองได้พิจารณาคัดเลือกคนของตัวเองไว้เรียบร้อยแล้ว จึงใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายหมุนเวียนเครือข่ายนายทหารของกลุ่มตนเอง โดยเฉพาะ “กลุ่มบูรพาพยัคฆ์” ให้กระจายเติบโตไปในส่วนตำแหน่งอื่นๆ ได้ต่อไป
อาจารย์วันวิชิต สรุปว่า นี่คือจุดแข็งของ “3 ป.” ที่รู้ดีว่าอาจไม่สามารถผลักดันให้น้องๆ ในเครือข่ายขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดที่แต่ละคนอยากจะเป็นได้ แต่สามารถเกลี่ยให้ลงตัวได้
ฉะนั้นแม้ในทางการเมือง “3 ป.” กำลังขบเหลี่ยมกันอยู่ แต่ในทางการทหาร “3 ป.” ได้วางคนของตัวเองไว้ จะเรียกว่า “กินยาว” ก็คงไม่ผิดนัก