ตามกันต่อกับประเด็นเกาะติดของ “ทีมข่าวอิศรา” กรณีโครงการติดตั้ง “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. พร้อมภรรยา กับบริษัทเอกชนและผู้บริหารบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ โดยชี้มูลในประเด็น “เรียกรับสินบน” และสนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด
บริษัทเอกชนและผู้บริหารบริษัทที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล คือ บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า บริษัทแสงมิตรฯ มีที่ตั้งอยู่บนถนนสวนผัก เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
จากการลงพื้นที่ของทีมข่าว พบว่า บริษัทฯ ยังคงเปิดทำการปกติ บริเวณด้านหน้ามีรถยนต์จอดอยู่ 3 คัน และที่หน้าประตูทางเข้ามีประกาศข้อความ “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต”
ทีมข่าวพยายามเข้าไปสอบถามข้อมูลกับพนักงานของบริษัทแสงมิตรฯ ได้รับคำตอบว่า กรรมการบริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด ไม่ได้เข้ามาที่บริษัท และไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้ โดยขอให้ทางทีมข่าวทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อติดต่อกลับ
หลังจากที่ทีมข่าวได้พยายามสอบถามข้อมูลกับพนักงานบริษัทฯแล้ว ทีมข่าวได้บันทึกภาพบริเวณโดยรอบ แต่ระหว่างนั้นได้มีผู้ชายใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีดำ เดินออกมาตะโกนถามว่า “มีใบอนุญาตในการบันทึกภาพหรือไม่” พร้อมบอกอีกว่า “จะให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทออกมาพูดคุย” ก่อนที่ชายคนดังกล่าวจะเดินกลับเข้าไปภายในบริษัทฯ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีฝ่ายกฏหมายออกมาพูดคุยแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ทีมข่าวยังได้หาข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของกรรมการบริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด จากเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักธุรกิจ โดยทีมข่าวได้ลองติดต่อไปยังเบอร์ที่มีการระบุไว้ เพื่อจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่ปรากฎว่าเมื่อโทรไปกลับไม่สามารถติดต่อปลายสายได้ มีเพียงระบบอัตโนมัติให้ฝากข้อความทิ้งไว้
สาเหตุที่ทีมข่าวเดินทางไปที่ บริษัท แสงมิตรฯ เพื่อขอสัมภาษณ์กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯ จากกรณีที่มีข่าวถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และเกี่ยวพันกับโครงการมูลค่าระดับพันล้านบาท โดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่ถูก ป.ป.ช.ไต่สวนชี้มูลความผิดในขั้นตอนนี้ ยังเป็นเพียงชั้น “กล่าวหา” ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ต่อสู้คดีต่อไปตามขั้นตอน และขณะนี้ต้องถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
@@ “บ.แสงมิตร” โผล่รับงานเสาไฟ “ไก่เบตง”
สำหรับ บริษัท แสงมิตรฯ จากที่เห็นตามภาพ ก็เป็นบริษัทใหญ่โต แม้จะไม่ได้มีลักษณะเป็นโรงงานผลิตเสาไฟโซลาร์เซลล์ แต่ก็เป็นไปได้ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนของสำนักงาน แต่ยังมีโกดังเก็บสินค้าอยู่อีกที่หนึ่ง หรืออาจจะเป็นบริษัทจ้างผลิตเสาไฟก็เป็นได้
เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็พบว่า บริษัท แสงมิตรฯ เป็นบริษัทเก่าแก่พอสมควร เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2535 ทุนจดทะเบียนปัจจุบันสูงถึงกว่า 116 ล้านบาท เมื่อดูผลประกอบการ ก็มีกำไรมาตลอด ปีล่าสุดกำไรสุทธิเกือบ 3 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีสถานการณ์โควิด-19
ความน่าสนใจของ บริษัท แสงมิตรฯ ก็คือ เข้าไปรับงานที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายโครงการ /นอกจากติดตั้ง “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” จนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ยังพบชื่อ บริษัท แสงมิตรฯ เป็นคู่สัญญากับ “กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย” ชนะการประกวดราคาโครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมเมืองเบตง จังหวัดยะลา ระยะที่ 2 งบประมาณ 60.4 ล้านบาทด้วย โครงการนี้ทำสัญญาเมื่อปี 2562 โดย บริษัท แสงมิตรฯ เสนอราคาต่ำสุด
งานก่อสร้างส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ก็คือ งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเกาะกลางถนนสุขยางค์ ในอำเภอเบตง มีการรื้อถอนเสาไฟเดิม แล้วติดตั้ง “เสาโคมไฟประติมากรรม” ขึ้นแทน โดยใช้รากฐานเสาเดิม และเชื่อมต่อกับสายไฟเดิม
โดยเสาไฟประติมากรรมที่ว่านี้ เป็นเสารูป “ไก่เบตง” และยังประดับลวดลายอีกส่วนหนึ่ง พร้อมโคมไฟถนน เป็นหลอดแอลอีดี 120 วัตต์ จำนวนที่ติดตั้ง 184 ต้น ราคาต้นละ 72,750 บาท รวมราคาเสาไฟประติมากรรมไก่เบตง บวกกับค่าแรง และค่ารื้อถอนเสาเดิม ทำให้มีค่าใช้จ่าอยู่ที่ต้นละประมาณ 85,000 บาท งบประมาณรวม 15.6 ล้านบาทเศษ
การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมที่ว่านี้ คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งมองว่า “แพง” หรือสิ้นเปลืองงบเกินไปหรือไม่ แม้จะไม่ได้ใช้งบของท้องถิ่นก็ตาม