ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต.พร้อมภรรยา เรียกสินบนเอกชนในโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท แฉติดตั้งไปแล้วกว่า 14,000 จุด แต่ชำรุดเสียหายกว่า 70%
มีความคืบหน้าโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และมีการติดตั้งมากกว่า 14,000 จุด หลังมีการร้องเรียนว่าเสาไฟเหล่านี้ชำรุด ใช้การไม่ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ “ทีมข่าวอิศรา” เพิ่งลงสำรวจพื้นที่ พบว่าบางหมู่บ้านเสาไฟโซลาร์เซลล์ดับทุกต้น หรือ “ดับ 100%”
โครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์" หรือ "เสาไฟโซลาร์เซลล์" ในความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จากการตรวจสอบพบว่า มีการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์อย่างน้อย 6 สัญญา งบประมาณรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ถูกขโมย และมีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่มีมาตรฐานราคากลาง ทำให้ส่อทุจริต
เบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา รับไต่สวนและมีการเก็บข้อมูลส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามไปยัง นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงความคืบหน้าคดีนี้ โดย นายนิวัติไชย บอกว่า ทราบว่าคณะกรรมการไต่สวนมีมติชี้มูลความผิด นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ผู้รับผิดชอบโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ และภรรยา กรณีมีพยานหลักฐานการเรียกรับสินบนจากบริษัทผู้รับเหมาในโครงการ ขณะที่เสาไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังใช้งานไม่ได้จำนวนมาก
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ติดตั้งเสาไฟส่องสว่างในจุดที่แสงไฟจากการไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง แต่เมื่อไปติดตั้งแล้วกลับใช้การไม่ได้จริง และทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนและไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปดูแล
@@ ศอ.บต.ยอมรับเอง เสาไฟโซลาร์เซลล์มีปัญหา
โครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” เคยถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ส่งไปจากส่วนกลาง และได้ข้อสรุปว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์มีปัญหาจริง
ในการสัมมนาที่จัดโดยสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 ที่โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 ในหัวข้อ "ปัญหาเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์กับแนวทางป้องกัน" มีการเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจากส่วนกลาง ที่ตั้งโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สรุปว่า โครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์มีปัญหาในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างและอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ สาเหตุมาจาก 4 ประเด็น คือ
1.การบริหารจัดการขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นการทำโครงการในพื้นที่ล่อแหลมทางความมั่นคง ซึ่งต้องให้ประชาชนช่วยกันคิดช่วยกันทำมากเป็นพิเศษ
2.การทำโครงการขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ หลายๆ จุดไปติดตั้งเสาไฟในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นจุดอับแสง ทำให้แบตเตอรี่เก็บไฟไม่ได้ ขณะที่ตัวแบตเตอรี่เองก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ หลายจุดถูกขโมย
3.มีความหละหลวมในการบริหารงบประมาณก้อนใหญ่ และเมื่อโครงการที่ทำไปแล้วมีปัญหา ก็ต้องตั้งงบไปซ่อมแซม
และ 4.ไม่สามารถหาหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเสาไฟโซลาร์เซลล์ในระยะยาวได้ แม้จะพยายามส่งมอบให้องค์กรปกครองท้องถิ่นช่วยดูแล แต่เมื่อโครงการมีปัญหาและต้องซ่อมแซม ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากรับภาระ
สำหรับโครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ของ ศอ.บต. ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 57 จนถึงปี 59 จัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 6 สัญญา งบประมาณรวม 1,011 ล้านบาท ติดตั้งเสาไฟไปทั้งสิ้น 14,849 จุด ราคาเฉลี่ยจุดละ 63,000 บาท แต่ปรากฏว่ามีปัญหาชำรุดเสียหายจำนวนมาก จนถูกชาวบ้านร้องเรียนถึงขนาดต้องเปิดโทรศัพท์สายด่วนรับแจ้งเสาไฟมีปัญหา จนสุดท้าย ศอ.บต.ต้องตั้งงบไปซ่อมแซมในปี 60 ทั้งๆ ที่เพิ่งใช้งานไปได้ไม่นาน
@@ เสาไฟโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้ชำรุดเสียหายกว่า 70%
เมื่อปี 62 รัฐบาลได้สั่งให้ตรวจสอบเสาไฟโซลาร์เซลล์ทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาให้ชัดว่า มีเสาไฟที่ชำรุดเสียหายกี่ต้นกันแน่ ทั้งในส่วนของ ศอ.บต. และองค์กรท้องถิ่นอื่นๆ ปรากฏว่าได้ตัวเลขที่น่าตกใจ
เริ่มจาก จ.นราธิวาส มีเสาไฟโซลาร์เซลล์ 6,445 ต้น ใช้งานได้แค่ 2,122 ต้น (ไม่ถึงครึ่ง) ชำรุดเสียหายถึง 4,323 ต้น คิดเป็น 68%
จ.ปัตตานี มีเสาไฟโซลาร์เซลล์ 4,981 ต้น ใช้งานได้ 1,242 ต้น ชำรุดเสียหาย 3,739 ต้น คิดเป็น 75%
จ.ยะลา มีเสาไฟโซลาร์เซลล์ 3,896 ต้น ใช้งานได้แค่ 926 ต้น ชำรุดเสียหาย 2,970 ต้น คิดเป็น 76%
และ 4 อำเภอของสงขลา มีเสาไฟโซลาร์เซลล์ 513 ต้น ใช้งานได้ 110 ต้น ชำรุดเสียหาย 403 ต้น คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ถึงร้อยละ 78%
สรุปในภาพรวมที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเสาไฟโซลาร์เซลล์ 15,835 ต้น ใช้งานได้จริง 4,400 ต้น ชำรุดเสียหายถึง 11,435 ต้น คิดเป็น 72%
ที่น่าสนใจก็คือจำนวนเสาไฟที่ชำรุดและไฟดับสนิทไปเลยมีมากกว่าเสาไฟชำรุดที่โคมไฟยังกระพริบ ติดๆ ดับๆ หลายเท่า ทั้งๆ ที่ราคาติดตั้งเฉลี่ยที่มีการจัดจ้างผู้รับเหมา อยู่ที่ต้นละ 63,000 บาท