ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ... ว่าด้วยการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจาก "บัตรใบเดียว" เป็น "บัตรสองใบ" เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนโหวตชี้ชะตา
หลังจากเช็คเสียงฝ่าย ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ชัดเจนว่าหากต้องการให้ร่างนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระ 3 ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ด้วย เพื่อให้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง คือ 366 เสียงขึ้นไป (จากเสียงสมาชิกที่โหวตได้ 730 เสียง แยกเป็น ส.ส.480 เสียง และ ส.ว.250 เสียง)
และยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขมี ส.ว.สนับสนุนเกินกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงจากทั้งหมด 250 เสียง
หากตรวจแถว เช็คท่าทีและเหตุผลของ ส.ว. เริ่มมีกระแสโหวตคว่ำออกมาหนาหู หนึ่งในนั้นคือ ส.ว.สายทหาร กลุ่มเพื่อนนายกฯ อย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ยุคโจรจีนคอมมิวนิสต์
พล.อ.อกนิษฐ์ สรุปเหตุผลเป็นคำถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญหนนี้ รวม 4 ข้อ กล่าวคือ
1.การแก้รัฐธรรมนูญรื้อระบบเลือกตั้ง เป็นพัฒนาการทางการเมืองจริงหรือ?
เมื่อย้อนดูรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับล่าสุด กำหนดสัดส่วน ส.ส.เขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เอาไว้ต่างกัน
- รัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน
- รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 375 คน บัญชีรายชื่อ 125 คน
- รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน
ฉะนั้นพัฒนาการขั้นต่อไปควรจะเป็น ส.ส.เขต 250 คน บัญชีรายชื่อ 250 คนหรือไม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า การกำหนดเขตเลือกตั้งเป็น "เขตใหญ่" จะทำให้การซื้อเสียงทำได้ยาก, บล็อกโหวตยาก, ใช้อิทธิพลท้องถิ่นในการเลือกตั้งได้ยาก
ขณะที่ ส.ส.มีหน้าที่ทำงานระดับชาติ พิจารณากฎหมาย ตรวจสอบหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นโดยไม่ต้องถืองบประมาณ ส่วนงานบริการประชาชนในระดับพื้นที่ก็กระจายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำ แบบนี้จึงจะเรียกว่า "พัฒนการทางการเมือง"
2.บัตรใบเดียวทำให้เกิดพรรคเล็ก สร้างปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจริงหรือ?
ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงเกิดพรรคขนาดเล็กขึ้นจำนวนมาก ขณะที่ระบบเลือกตั้งแบบ "บัตรใบเดียว" ทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่มีเสียงตกน้ำ และคนเล็กคนน้อยมีสิทธิ์เป็นผู้แทนราษฎรได้
ส่วนปัญหาการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เคยมีปัญหาเมื่อคราวการเลือกตั้งปี 62 สามารถแก้ไขใหม่ได้ ครั้งนั้นเพิ่งเริ่มใช้ระบบนี้ จึงอาจมีข้อบกพร่องบ้าง
ขณะที่ปัญหาการซื้อ ส.ส. หรือ "แจกกล้วย" เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ได้เกิดจากระบบการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเล็กที่มีคุณภาพ เงินซื้อไม่ได้ ก็มีอยู่มาก ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำจัด "พรรคพลังกล้วย" ออกจากระบบการเมือง
3.การแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้ระบบ "บัตรสองใบ" ทำให้การเมืองถอยหลังหรือไม่?
เห็นว่าระบบการเลือกตั้งแบบใช้ "บัตร 2 ใบ" ดึงการเมืองไทยถอยหลังไป 20 ปี และระบบ "บัตร 2 ใบ" เคยเป็นต้นตอให้เกิด "เผด็จการรัฐสภา" ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก และใช้อำนาจตามอำเภอใจ จนเป็นที่มาของวิกฤติการเมือง และต้องแก้ไขกติกากันมาแล้วหลายครั้ง
4.การลงมติวาระ 3 ไม่ผูกพันวาระ 1-2?
สำหรับข้อกังวลที่ว่า การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จะย้อนแย้งกับที่สมาชิกบางคนเคยรับหลักการวาระ 1 ไปแล้วหรือไม่นั้น
ประเด็นนี้ ต้องดูที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ทอดเวลาหลังจบวาระสอง 15 วัน จึงจะโหวตวาระ 3 ได้ แสดงว่ามีเจตนาให้สมาชิกรัฐสภาใช้เวลาคิดทบทวนให้รอบคอบ ฉะนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดเจน ไม่จำเป็นต้องโหวตเหมือนวาระ 1-2