มีความคืบหน้ากรณี “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอข่าวไปเมื่อวันก่อน
หลายคนเห็นข่าวแล้วแปลกใจว่ามีตู้กรองน้ำราคาแพงขนาดนี้ตั้งให้ชาวบ้านกดน้ำฟรีริมถนนกันด้วยหรือ
“ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” มีชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” ราคาตู้ละ 549,000 บาท ราคานี้ซื้อรถปิคอัพตอนครึ่งได้ 1 คัน หรือมอเตอร์ไซค์ 10 คัน หรือ ตู้กรองน้ำแบบหยอดเหรียญ 20 ตู้ หรือเครื่องกรองน้ำแบบที่ติดตั้งตามบ้านได้ 200 ชุด
โครงการนี้เป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2560 ท่ามกลางกระแสคัดค้านของหลายฝ่าย เพราะท้องถิ่นไม่ได้แสดงเจตนาอยากได้ มีแต่ ศอ.บต.ที่คิดเองว่าอยากจะให้ชาวบ้านได้กดน้ำฟรี แต่ไม่ได้คิดต่อว่าพอสร้างเสร็จแล้วใครจะดูแลซ่อมแซมเวลามีปัญหา ใครจะรับผิดชอบค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะแม้จะใช้โซลาร์เซลล์ แต่บางช่วงแสงแดดไม่พอ ก็ต้องเสียบไฟใช้งาน
ศอ.บต.ติดตั้งไป 93 จุด ใช้งบไป 58 ล้านบาทเศษ ติดตั้งได้ไม่นานก็เริ่มชำรุดเสียหาย ช่วงแรกๆ ก็มีช่างของบริษัทผู้จัดจำหน่ายช่วยตระเวนซ่อมให้ แต่พอหมดระยะเวลาประกัน ก็ไม่มีใครซ่อม ศอ.บต.ต้องจ้างช่างเดินสายซ่อม เพราะชำรุดบ่อยมาก
สุดท้ายรับผิดชอบไม่ไหว ก็เลยทำเรื่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต. เซ็นยืมใช้จาก ศอ.บต. ปรากฏว่าบรรดานายก อบต.ก็ไม่พอใจ เพราะไม่เคยอยากได้ แต่กลับมาบังคับให้ “ยืมใช้” แถมยังต้องรับผิดชอบการดูแล ซ่อมบำรุงด้วย
โครงการนี้มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใส เพราะช่วงที่ “ทีมข่าวอิศรา” เสนอข่าวไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน ก็ทำให้ ศอ.บต.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และโดนสั่งระงับโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเตรียมจะติดตั้งตู้กรองน้ำอีกหลายสิบจุดทั่วพื้นที่ ใช้งบประมาณอีกหลายสิบล้านบาท
เรื่องนี้ไม่ได้จบที่ ศอ.บต. เพราะแม้จะอ้างผลสอบว่าไม่มีอะไรผิดพลาดบกพร่อง แต่ ป.ป.ช.จังหวัดได้หยิบเรื่องขึ้นมาไต่สวนต่อ และขณะนี้ก็คืบหน้าไปมากแล้วด้วย
เรื่องนี้ “ทีมข่าวอิศรา” ไม่ได้บอกเอง แต่ผู้บริหาร ศอ.บต.ชุดปัจจุบัน พูดชัดว่าเป็นปัญหาที่เกิดมาจากผู้บริหารชุดเก่า และ ป.ป.ช.กำลังสอบสวนอยู่
ทีมข่าวฯจึงสอบถามเรื่องนี้กับ นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดยะลา ได้คำตอบว่า เรื่องตู้กรองน้ำพล้งงานแสงอาทิตย์ ตอนนี้อยู่ระหว่างไต่ส่วนข้อเท็จจริง ถือว่ามีความคืบหน้าประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานจากหลายๆ แหล่ง แต่ขณะนี้ถือว่าคืบหน้าไปเยอะมาก ส่วนจุดจบจะชี้มูลอย่างไร คงบอกล่วงหน้าไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของรูปคดี
@@ สรุปชงชุดใหญ่ เสาไฟโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้ดับ 70%
โครงการโซลาร์เซลล์ที่ชายแดนใต้ไม่ได้มีเฉพาะตู้กรองน้ำ แต่ยังมี “เสาไฟโซลาร์เซลล์” ที่ติดตั้งกันถึง 14,000 กว่าจุด ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ถูกเปิดโปงว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง และชำรุดเสียหายจำนวนมาก ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบของ ศอ.บต.เอง ออกมายอมรับว่า เสาไฟโซลาร์เซลล์ใช้งานไม่ได้ถึงกว่า 70%
เรื่องเสาไฟโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้ สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลาก็รับไต่สวนอยู่เช่นกัน โดย นายบัณฑิต บอกว่า การไต่สวนในส่วนของ ป.ป.ช.จังหวัด จบแล้ว และส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปแล้ว รายละเอียดจำไม่ได้ว่ากี่จุด เพราะตรวจสอบเฉพาะของยะลา หลังจากนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะต้องพิจารณา
@@ เสาไฟประติมากรรมแพงหูฉี่ 31 โครงการ ส่อผิดแค่ 5
พูดถึงประเด็นตรวจสอบ “เสาไฟโซลาร์เซลล์” ไม่ได้มีแค่ชายแดนใต้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ยังมีการเปิดโปง “เสาไฟประติมากรรม” ซึ่งใช้โซลาร์เซลล์เช่นกัน โดยออกแบบเสาและยอดเสาให้เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น กินรี, เครื่องบิน, เรือกอและ หรือไม่แต่รูปโคนม ทำให้ราคาสูงขึ้น ต้นละเหยียบแสนบาท
ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรรมนูญไทย ได้นำหลักฐานไปยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเสาไฟโซลาร์เซลล์ “ประติมากรรม” จำนวน 15 พื้นท่ี (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ที่น่าจะแพงเกินจริง
ขณะที่สำนักงาน ป.ป.ท. หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ก็เดินหน้าตรวจสอบเองด้วย โดยเฉพาะ “เสาไฟกินรี” ของ อบต.ราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ
ทีมข่าวฯ สอบถามความคืบหน้าไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. ทราบว่า ได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบทั้งหมด 31 โครงการ ในจำนวนนี้ยุติเรื่อง 26 เรื่อง (แปลว่าไม่มีมูล) ที่เหลือตรวจสอบต่ออีก 5 โครงการ ดำเนินการเสร็จแล้ว และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อ 1 โครงการ คือ เสาไฟกินรี ของ อบต.ราชาเทวะ ที่จัดซื้อจัดจ้างนับสิบสัญญา มีบริษัทได้งานเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด
นอกจากนั้น ยังมีอีก 3 โครงการที่ ป.ป.ท. ส่งเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ดำเนินการต่อ คือ
1.โครงการของเทศบาลเมืองสตูล โครงการนี้ ป.ป.ท. เห็นว่าการจัดซื้อไม่คุ้มค่า
2.โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของ จ.สตูล เช่นกัน
และ 3.โครงการของเทศบาลเมืองพิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ที่ ป.ป.ท.เห็นว่าราคาสูงเกินจริง
โดยในส่วนของ ป.ป.ท. เรื่องส่วนใหญ่ที่ตรวจสอบเน้นไปที่การป้องปรามและส่อว่าจะมีการทุจริต เมื่อตรวจสอบพบพิรุธก็ได้ส่งให้ ป.ป.ช. และ สตง. ดำเนินการต่อไป