แนวคิดของรัฐบาลในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสลาย ศบค. แล้วใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บริหารสถานการณ์โควิด-19 แทนนั้น ได้รับการขานรับจากหลายฝ่ายว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มีเนื้อหาเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาโรคระบาดได้ดีกว่า และตรงกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในหลายประเด็น
จะว่าไปแล้ว เคยมีหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อแก้ปัญหาโควิด ซึ่งประกาศตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ปีที่แล้ว และขยายเวลาการบังคับใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมเวลาเกือบ 1 ปี 6 เดือน
สาเหตุเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้รับมือกับ "โรคระบาด" เนื่องจากให้อำนาจฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ เป็นหลักในการปฏิบัติการ หนำซ้ำหลายๆ มาตรการยังเป็น "ยาแรง" เกินไป และอาจเป็นการส่งสัญญาณผิดไปยังต่างประเทศ จนทำให้มองประเทศไทยในแง่ลบ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บ้านเรา ให้อำนาจเจ้าหน้าที่คล้ายๆ "กฎอัยการศึก"
กฎหมายที่ควรใช้มากกว่า คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทันสมัย และประกาศใช้ในยุค คสช.นี่เอง มีเนื้อหาครอบคลุมการให้อำนาจเจ้าพนักงานสาธารณสุข และเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการควบคุมโรคระบาด ตรงตามต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง
ที่สำคัญ...หลักคิดของการควบคุมโรคระบาด ต้องกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เพราะใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ต้องให้ท้องถิ่นเป็นหลักในการดูแล จึงจะ "เอาอยู่" และแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเดียวกันทั่วประเทศ เพราะความร้ายแรงของปัญหาแตกต่างกัน
อย่างเทศบาลนครยะลา “นายกอ๋า” พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ จองวัคซีนซิโนฟาร์ม แล้วแบ่งบางส่วนไปฉีดให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดยะลา 2 ตลาด ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ศูนย์กลางของสามจังหวัดใต้ เพื่อให้เป็น “ตลาดปลอดโควิด” แนวคิดแบบนี้ ถ้ารอราชการส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค คงไม่ได้ทำ ไม่ได้เกิด
แง่มุมแบบนี้ ไม่ได้ตำหนิราชการส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค เพียงแต่หน้าที่รับผิดชอบและความใกล้ชิดกับปัญหา ความเข้าใจในพื้นที่มีแตกต่างกัน
ส่วนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากจะไม่ตรงกับปัญหาแล้ว ยังกระทบกับเศรษฐกิจอย่างแรง ซ้ำยังเป็นมาตรการเข้มที่ไม่ยืดหยุ่น มีความแข็งตัว และมุ่งใช้บังคับเป็นการทั่วไป เหมือนตัดเสื้อไซส์เดียวกัน แล้วบังคับใส่ทั้งประเทศ
แต่ด้วยความซ้บซ้อนของบ้านเมืองในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าในขั้นตอนการปฏิบัติจริง แม้จะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังมอบอำนาจให้แต่ละจังหวัดไปพิจารณาประกาศมาตรการที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองอยู่ดี
พลิกดูอำนาจที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้ไว้เหมือนกัน ระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ก็คือ
- การกักตัว หรือควบคุมตัวบุคคล (พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ใช้คำว่า แยกกัก กักกัน คุมไวัสังเกต หรือ quarantine ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ชัดเจนว่าถูกต้องตรงกับสถานการณ์โรคระบาดมากกว่า)
- การเข้าออกเคหสถานหรือโรงเรือน หรือยานพาหนะ (พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดเท่านั้น ซึ่งตรงกับสถานการณ์มากกว่าเช่นกัน)
- การสั่งปิดสถานที่ เช่น ตลาด โรงงาน โรงมหรสพ สถานศึกษา และการห้ามเข้า หรือห้ามใช้สถานที่นั้น
นอกจากนั้นยังมีอำนาจบางอย่างที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มีบัญญัติไว้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มี เช่น อำนาจการจัดการศพที่ตายด้วยโรคติดต่อ, การสั่งให้รับวัคซีน หรือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เหล่านี้เป็นต้น
ส่วนอำนาจที่บางฝ่ายมองว่ามีเฉพาะใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่มีใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ก็คือ
- การสั่งห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ที่เรียกว่า "เคอร์ฟิว"
- ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
- การตรวจสอบจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ หรือยับยั้งการสื่อสาร
- มีข้อยกเว้นการรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่เกินกว่าเหตุ
แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ มาตรา 34 และ 35 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ได้เขียนเปิดช่องเอาไว้สำหรับตีความการใช้อำนาจคล้ายๆ กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเด็นเหล่านี้ได้ เช่น มาตรา 34(7) ห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต แบบนี้ถ้าประกาศครอบคลุมบางพื้นที่และกำหนดเวลาการเข้า-ออก ก็จะคล้ายกับประกาศเคอร์ฟิวเช่นกัน
ส่วนอำนาจตรวจสอบจดหมาย หรือการสื่อสาร จริงๆ แล้วมีความจำเป็นแค่ไหน และสามารถใช้กฎหมายอื่นได้หรือไม่ โดยไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับการห้ามชุมนุมมั่วสุม เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ก็ให้อำนาจในการสั่งห้ามเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากอยู่แล้ว
สำหรับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่จะแก้ไขใหม่ เพื่อรองรับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีสาระสำคัญ 9 ประการ สรุปเฉพาะที่สำคัญ ก็เช่น
- เพิ่มอำนาจให้อธิบดีกรมควบคุมโรค มีอำนาจประกาศให้ท้องที่ใดนอกราชอาณาจักร เป็นพื้นที่เกิดการระบาด เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร
- กำหนดให้ รมว.สาธารณสุข มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ตลอดจนผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรค หรือผู้ที่เป็นพาหะ
- ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น กำหนดให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าว มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เหล่านี้เป็นต้น
ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้จริงหรือไม่ และจะเร่งรัดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ให้สามารถรับมือกับโควิด-19 ทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แค่ไหน อย่างไร
และถ้ารัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมโควิดได้จริง ก็จะเหลือเพียงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นที่ยังคงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ และใช้มานานกว่า 16 ปีเต็มแล้ว ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ยกเลิกมาเนิ่นนาน
หากไปถามผู้รับผิดชอบงานความมั่นคง ก็จะบอกว่า ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นลำดับ...
โดยการต่ออายุ ขยายเวลาการบังคับใช้ทำมาแล้ว 64 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้บังคับในท้องที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 33 อำเภอ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.ปี 2548 ล่าสุดเพิ่งยกเลิกการบังคับใช้ใน อ.กาบัง จ.ยะลา เป็นอำเภอที่ 7 ต่อจาก อ.แม่ลาน, อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก, อ.สุคิริน, อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
เหลือบังครับใช้อยู่ 26 อำเภอ
แต่ปัญหาที่ผู้รับผิดชอบงานความมั่นคงไม่เคยพูดถึงก็คือ การยกเลิกแบบ “ฟันหลอ” ทีละอำเภอ เป็นการหยุดการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วในทางปฏิบัติตลอดมา มีการใช้มาตรการพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ เวลาจะจับกุม ควบคุมตัว ก็ใช้วิธีไปจับในอำเภอที่ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ เพื่อให้มีอำนาจคุมตัวซักถามได้ 30 วัน
หรือแม้แต่การใช้อำนาจตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเลือกเข้าอบรมปรับทัศนคติได้ในเวลาไม่เกิน 6 เดือน แล้วจะไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีทางอาญาจากความผิดที่ได้กระทำ ปรากฏว่าหลายๆ กรณี ผู้ต้องหาที่เข้ากระบวนการเคยก่อเหตุและถูกจับกุมในพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่พื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็ต้องหาช่องทางโยงให้เข้าสู่พื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ให้ได้ อย่างนี้เป็นต้น
นี่คือความลักลั่นของการหยุดการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการหาช่องใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษอยู่ดี
แปลกหรือไม่ที่ฝ่ายความมั่นคงอย่าง ทหาร ตำรวจ ปกครอง ภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่าสถิติเหตุรุนแรงลดลงต่อเนื่อง เรามาถูกทางแล้ว
ฝ่ายพัฒนาที่นำโดย ศอ.บต. ต้องเลิกจ้างงานในส่วนของ “พนักงานจ้างเหมาบริการ” เพราะสถานการณ์ดีขึ้น จึงส่งคืนภารกิจหลายๆ อย่างให้หน่วยปกติกลับไปทำ ทั้งๆ ที่การจ้างงานเหล่านี้เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ของคนชายแดนใต้ในช่วงที่เจอโควิดซ้ำเติมเศรษฐกิจและราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างหนัก
น่าจะหาเวทีคุยกันชัดๆ เสียทีว่ายังต้องมีกฎหมายพิเศษที่ชายแดนใต้อีกต่อไปหรือไม่?