ปรากฏการณ์ "โจ้คลุมถุง" ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสัย หลังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
จริงๆ แล้วปัญหาการร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิ์ระหว่างการควบคุมตัว เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนแล้วเนิ่นนาน มีความสูญเสียที่เป็นปริศนาหาข้อสรุปไม่ได้หลายกรณี
ซ้ำร้ายพื้นที่ปลายด้ามขวานเป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหาเป็นเวลา 7-30 วัน นัยว่าเพื่อซักถามข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มก่อความไม่สงบ เนื่องจากปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีลักษณะปิดลับ และตัดตอนในตัวเอง
แต่เนื่องด้วยเป็นการใช้อำนาจในนามของ "ความมั่นคง" จึงแทบไม่มีใครรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ยกเว้นที่ปรากฏจากคำแถลงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)
เอาแค่ข้อมูลพื้นฐานง่ายๆ ว่า "ศูนย์ซักถาม" หรือ "ศูนย์ควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา" มีกี่แห่ง ยังแทบไม่มีใครรู้ ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับให้ญาติตามไปเยี่ยม และดูแลสารทุกข์สุขดิบ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
กระทั่งเกิดกรณี นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ที่ถูกนำตัวเข้าศูนย์ซักถามเพียงคืนเดียว ก็ถูกนำส่งห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อเดือน ก.ค.62 และหลังจากนั้นอีกราวๆ 1 เดือนเขาก็เสียชีวิตในสภาพ "เจ้าชายนิทรา" ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ตรวจสอบความโปร่งใสและการเคารพสิทธิมนุษยชนภายใน "ศูนย์ซักถาม" เพราะหลายฝ่ายไม่เชื่อว่า นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตเพราะโรคประจำตัวที่เป็นมาก่อนแล้วโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ก่อนถูกจับกุม
@@ เปิดครบ "6 ศูนย์ซักถาม-ควบคุมตัว" ชายแดนใต้
หลังจากนั้นจึงมีการใช้กลไกของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้าร่วมเป็นกรรมการจำนวนมาก เข้าไปตรวจสอบ "ศูนย์ซักถาม" ทุกศูนย์ในพื้นที่ กระทั่งทราบว่าปัจจุบัน "ศูนย์ซักถาม" ของฝ่ายความมั่นคง มีทั้งหมด 6 ศูนย์ด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 (ฉก.ทพ.43) ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
2. ศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภารใต้ (ขกท.สน.จชต.) ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหารเช่นกัน
3. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ (ฉก.นย.ทร.) ตั้งอยู่ที่ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส
4.ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 (ฉก.ทพ.46) ตั้งอยู่ที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส
5. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 (ฉก.ทพ.41) ค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา
6. ศูนย์ซักถาม ศูนย์พิทักษ์สันติ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อราวๆ เดือน มิ.ย.64 ได้มีการสรุปรายงานการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและตรวจสอบ "ศูนย์ซักถาม" ทั้ง 6 ศูนย์ โดยคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการตั้งประเด็นการตรวจสอบดังนี้
- ความเหมาะสมของอาคาร สถานที่ ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย
- กระบวนการเชิญตัว ซักถาม พูดคุย ควบคุมตัว การสืบสวนสอบสวน และการปล่อยตัว
- ระเบียบ หลักฐาน และเอกสารต่างๆ
@@ ผลตรวจเยี่ยมรายศูนย์ ไม่มีนาฬิกา อบอ้าว ระบายอากาศไม่ดี
ผลการตรวจสอบในภาพรวม พบว่า "ศูนย์ซักถาม" มีการติดตั้งเครื่องดูดอากาศ ปรับภูมิทัศน์ภายในห้องเพื่อสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) เพื่อบันทึกภาพเป็นหลักฐาน มีสถานที่สำหรับละหมาด มีพัดลม มีห้องน้ำในห้องควบคุมตัว และมีการปฏิบัติตามระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.อย่างครบถ้วน ตามที่ได้มีการพัฒนาคุณภาพและความโปร่งใสของ "ศูนย์ซักถาม" มาเป็นระยะ แต่ทางคณะกรรมการฯ ก็ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางเรื่อง ได้แก่
1. ศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.43 พบว่าระบบการระบายอากาศยังไม่เพียงพอ ไม่มีนาฬิกาให้ดูเวลา การปฏิบัติงานตามขั้นตอนเชิญตัวและกระบวนการควบคุมตัว มีการแบ่งเจ้าหน้าที่เป็นชุดๆ แต่ไม่มีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกาย และขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน ขณะที่การออกใบรับรองสถานภาพต้องกลับมารับหลังจากปล่อยตัวไปแล้ว
คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอให้เพิ่มระบบระบายอากาศ หรือหน้าต่าง และควรมีนาฬิกาไว้ดูเวลา ให้มีกล่องสำหรับแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะกลุ่มญาติที่ไปเยี่ยม เพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นมิตรกับครอบครัวที่ไปเยี่ยม ควรใช้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการเชิญตัวและควบคุมตัวเป็นชุดเดียวกัน ควรมีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน นอกจากนั้น ระหว่างการควบคุมตัวควรมีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา มาประเมินภาวะด้านจิตใจตามสมควร
กรณีมีการร้องขอรับการตรวจร่างกาย ณ สถานที่ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลทหาร ควรอนุญาตให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ และให้สามารถออกใบรับรองสถานภาพได้ทันทีเมื่อสิ้นสุดกระบวนการซักถามของหน่วย
2. ศูนย์ซักถาม ขกท.สน.จชต. พบว่าระบบการระบายอากาศไม่เพียงพอ ไม่มีนาฬิกา ไม่มีการติดตั้งเครื่องดูดอากาศ ทำให้อากาศอบอ้าว การปฏิบัติงานตามขั้นตอนเชิญตัวและกระบวนการควบคุมตัวมีการแบ่งเจ้าหน้าที่เป็นชุด ไม่มีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน ขณะที่การออกใบรับรองสถานภาพต้องกลับมารับหลังจากได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว
คณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะให้เพิ่มหน้าต่างด้านหลัง ควรมีนาฬิกาเพื่อบอกเวลา และควรปรับให้ระบบอากาศถ่ายเทมากขึ้น
3. ศูนย์ซักถาม ฉก.นย.ทร. พบว่าระบบการระบายอากาศไม่เพียงพอ ไม่มีนาฬิกา การปฏิบัติงานตามขั้นตอนเชิญตัวและกระบวนการควบคุมตัวมีการแบ่งเจ้าหน้าที่เป็นชุด ไม่มีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน ก่อนส่งตัวเข้าศูนย์ซักถามมีการพาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลประจำอำเภอที่ถูกเชิญตัว ขณะที่หน่วยไม่ใช่สถานที่ปล่อยตัว ดังนั้นหน่วยจึงไม่ออกหนังสือรับรองสถานภาพให้ โดยจะทำหน้าที่เพียงแค่ซักถาม และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการก็จะส่งตัวกลับไปยังหน่วยที่เชิญตัว (แยกการทำงานเป็นส่วนๆ)
คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มหน้าต่างบริเวณศูนย์ควบคุมตัว ควรมีนาฬิกาเพื่อให้สามารถดูเวลาได้ ควรปรับพื้นที่ให้อากาศถ่ายเทดีขึ้น รวมทั้งให้มีกล่องสำหรับแสดงความคิดเห็นให้ญาติที่ไปเยี่ยม สร้างบรรยากาศให้เป็นมิตรกับครอบครัวที่ไปเยี่ยม และควรให้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เชิญตัวกับควบคุมตัวเป็นชุดเดียวกัน ควรมีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน
ระหว่างการควบคุมตัวควรมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามาประเมินภาวะด้านจิตใจตามสมควร และให้ "ศูนย์ซักถาม" มีอำนาจออกหนังสือรับรองสถานภาพได้ และออกใบรับรองสถานภาพได้ทันทีเมื่อสิ้นสุดกระบวนการซักถามของหน่วย โดยไม่ต้องให้ผู้ถูกควบคุมตัวเดินทางมารับเอกสารอีกครั้ง
4. ศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.46 มีข้อสังเกตจากคณะกรรมการฯ คือ ระบบการระบายอากาศไม่เพียงพอ ไม่มีนาฬิกา ห้องพักค่อนข้างคับแคบ มีการล็อกกุญแจห้องพักของผู้ต้องสงสัย ไม่มีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน
ศูนย์แห่งนี้มีกรณีร้องเรียนจากผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ว่ามีการทรมานด้านจิตใจ แต่ศูนย์แห่งนี้มีบ้านพักรับรองให้สำหรับญาติที่ไปเยี่ยม ขณะที่การออกใบรับรองสถานภาพมี 3 รูปแบบ คือ 1.ให้เมื่อยุติการเชิญตัว 2.ให้เมื่อคดีถึงที่สุด และ 3.ให้กลับมารับภายหลัง
คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้มีกล่องสำหรับแสดงความคิดเห็นให้ญาติที่ไปเยี่ยม สร้างบรรยากาศให้เป็นมิตรกับครอบครัวที่ไปเยี่ยม ควรใช้เจ้าหน้าที่ชุดเดียวกันในกระบวนการเชิญตัวและกระบวนการควบคุมตัว ควรมีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกาย และให้ศูนย์ฯสามารถออกใบรับรองสถานภาพได้ทันทีเมื่อสิ้นสุดกระบวนการซักถาม
5. ศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.41 มี พบว่า มีสถานที่ละหมาดเป็นสัดส่วน มีห้องครัวกลางสำหรับทำอาหารเอง แต่ไม่มีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน ส่วนการออกใบรับรองสถานภาพ มี 3 รูปแบบ คือ 1.ให้เมื่อยุติการเชิญตัว 2.ให้กับหน่วยที่ควบคุมตัวตามหมาย พ.รก. และ 3.ให้เมื่อคดีถึงที่สุด
คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้มีกล่องสำหรับแสดงความคิดเห็นให้ญาติที่ไปเยี่ยม สร้างบรรยากาศให้เป็นมิตรกับครอบครัวที่ไปเยี่ยม-ควรมีผู้นำชุมชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและขั้นตอนการบันทึกรายการทรัพย์สิน ระหว่างการควบคุมตัวควรมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามาประเมินภาวะด้านจิตใจตามสมควร และสามารถออกใบรับรองสถานภาพได้ทันทีเมื่อสิ้นสุดกระบวนการซักถามของหน่วย
6. ศูนย์ซักถาม ศูนย์พิทักษ์สันติ ไม่มีข้อสังเกตจากคณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะเห็นควรให้ศูนย์แห่งนี้เป็นต้นแบบของ "ศูนย์ซักถาม" ให้ศูนย์อื่นๆ ปฏิบัติตาม
@@ ย้ำเชิญตัวต้องแจ้งญาติ วงจรปิดห้ามเสีย
นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ หนึ่งในกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า กรรมการฯได้มีประเด็นเสนอเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะขั้นตอนการควบคุมตัวและรับตัวผู้ต้องสงสัย ต้องมีการชี้แจงญาติให้รับทราบทุกครั้ง ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิดต้องใช้งานได้ตลอด เพราะเป็นหลักฐานสำคัญกรณีมีปัญหาเรื่องร้องเรียน ส่วนเรื่องการส่งตัวต่อไปยังหน่วยอื่น หรือศูนย์อื่น หน่วยในพื้นที่ต้องแจ้งผ่านผู้ใหญ่บ้านและญาติของผู้ต้องสงสัย
นอกจากนุั้น ศูนย์ซักถาม ขกท. สน. จชต. เป็น point of contact ในการให้ข้อมูลกรณีญาติสอบถาม นอกจากนั้นยังมีประเด็นการข่มขู่ทางจิตใจ อย่างกรณีของ นายตอเละ ยะ ที่ถูกควบคุมตัวเข้ากระบวนการซักถามที่ จ.นราธิวาส เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วมีอาการจิตหลอน จนเกิดข้อถกเถียงกันว่ามีการข่มขู่ผู้ต้องสงสัยหรือไม่ จึงมีการหารือเพื่อกำหนดนิยามของคำว่า "ข่มขู่" ซึ่งกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนฯ มีความเห็นว่า การข่มขู่ หมายถึง ขู่ว่าจะทำร้าย หรือหมายจะเอาชีวิต
ส่วนการมอบใบรับรองสถานภาพเพื่อรับเงินเยียวยา พบปัญหาผู้ถูกควบคุมตัวบางคนไม่อยากวอล์คอินกลับเข้าไปอีก จะมีวิธีการอย่างไร แนวทางที่มีการเสนอร่วมกัน คือ ปรับวิธีมอบใบรับรองสถานะ สำหรับผู้ถูกควบคุมตัวที่ไม่ถูกดำเนินคดี หน่วยควรมอบให้ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ถูกดำเนินคดี ให้ไปติดต่อรับภายหลังคดีสิ้นสุด
การตรวจยึดทรัพย์สิน มีหลายเคสแจ้งว่าได้รับคืนไม่ครบ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่ผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจไปร่วมเป็นพยานในการส่งตัวผู้ต้องสงสัย เช่น ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ญาติ หรือบุคคลอื่นที่ผู้ต้องสงสัยไว้ใจ รวมทั้งการรับมอบสิ่งของที่ไม่จำเป็นต้องใช้กลับคืน
@@ เพิ่มพยาบาลวิชาชีพ ซักถามได้แค่ไม่เกิน 4 ทุ่ม
นายอับดุลอาซิซ บอกอีกว่า มีข้อเสนอให้แยกงาน "ศูนย์ซักถาม" โดยใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีจิตวิทยา และมีความอดทนสูง ไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านยุทธการเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะอาจมีอคติ
นอกจากนึ้ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่องการบรรจุพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลค่ายทหาร ไปประจำที่ "ศูนย์ซักถาม" เพื่อดูแลสภาพจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัว เนื่องจากบางรายอาจเกิดอาการเครียดจากการที่ต้องเปิดเผยข้อมูลบางอยาง และการซักถามกระทำได้ในห้วงเวลากลางวัน แต่ไม่เกิน 22.00 น.
@@ ย้อนตำนาน "ศูนย์ซักถาม-ควบคุมตัว" กลางไฟใต้
ศูนย์ซักถามและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ในช่วงต้นๆ ของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ราวๆ ปี 2547-2550) เคยกระจายกันอยู่ตามหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ที่คุมพื้นที่ในระดับจังหวัดและอำเภอ ก่อนจะเปิดเป็นศูนย์ใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการต่างๆ รวม 4 ศูนย์ หนึ่งในนั้นเป็นหน่วยกลางที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ใช้ชื่อว่า "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" เพื่อรองรับปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงที่เปิดยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ด้วยการปูพรม "ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุม" ผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก เมื่อราวปี 2549-2551
ต่อมา "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ก็มีปัญหาร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน จึงต้องปิดศูนย์ไป และเปิด "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" ขึ้นแทน แต่ก็ต้องปิดไปอีกเพราะปัญหาเดิม กระทั่งมีการเปิดหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ขึ้นมาในท้ายที่สุด และปฏิบัติการมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นศูนย์ซักถามและควบคุมตัวที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้
หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 ทดแทน "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" หรือ ศสฉ. ที่ถูกยุบไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.54 ตามคำสั่งของ พ.อ.ปิยะวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการ ศสฉ.ในสมัยนั้น (ต่อมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4) หลังมีเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง กระทั่งมีการเรียกร้องให้ยุบ ศสฉ.
ทั้งศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ได้รับการพัฒนาอาคารสถานที่ โดยเฉพาะห้องควบคุมตัวจนได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่เคยให้ข้อมูลว่า ประตูห้องควบคุมไม่ได้ใส่กุญแจ และยังมีสถานที่สันทนาการ รวมทั้งสนามกีฬาสำหรับออกกำลังกายด้วย
ผู้ที่มีบทบาทพัฒนาศูนย์ซักถามภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็คือ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ซักถามเอง ทั้งสมัยที่ใช้ชื่อศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ โดยภายในศูนย์ซักถามมีการปักป้าย "Art Resort" ไว้เป็นที่ระลึกด้วย โดยคำว่า "อาร์ต" เป็นชื่อเล่นของ พล.ท.ปิยวัฒน์ ที่รู้จักกันในนาม "บิ๊กอาร์ต"
ศูนย์ซักถามทุกยุค ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อไปอย่างไร ก็มีเรื่องร้องเรียนและคดีคาใจเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ตลอดจนการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา
เริ่มจาก "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ถูกร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ซึ่งฝ่ายทหารยอมรับว่ามีปัญหาตามที่ร้องเรียนจริง ทำให้ต้องปิดศูนย์ ก่อนจะเปิดใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อ
"ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" มีกรณีการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ นายสุไลมาน แนซา เมื่อวันที่ 30 พ.ค.53 โดย นายสุไลมาน เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ถูกพบเป็นศพในสภาพมีผ้าผูกคอติดกับลูกกรงภายในห้องควบคุมตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า เป็นการผูกคอตายเอง และมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหยุดกระแสวิจารณ์ได้ จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ในปีถัดมา และมีคดีความขึ้นสู่ศาล
"หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ" มีกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.58 เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุภายในห้องควบคุมตัวเช่นกัน ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง สรุปว่าไม่พบเงื่อนงำการทำร้ายหรือซ้อมทรมาน แต่ญาติยังติดใจ ปัจจุบันมีคดีอยู่ในชั้นศาล
"ศูนย์พิทักษ์สันติ" เป็นศูนย์ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังเกิดกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงผูกคอตายในห้องควบคุมตัว เมื่อวันที่ 19 ก.ค.59 โดยญาติไม่ติดใจ เพราะเชื่อว่าผูกคอตายเองจากความเครียดในปัญหาส่วนตัว และถูกจับกุมซ้ำอีก จึงไม่เป็นคดีความ
กระทั่งมาเกิดกรณีหาม นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ส่งห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.62 ทำให้การปฏิบัติงานของ "ศูนย์ซักถาม" ถูกตั้งคำถามอีกครั้ง และถูกขยายกลายเป็นประเด็นการเมืองใหญ่โต มีการนำไปอภิปรายหลายครั้งในสภาผู้แทนราษฎร
และล่าสุด ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 64 มีกรณีของ นายตอเล๊ะ ยะ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเข้าศูนย์ซักถาม จากกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปาระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ที่บ้านปราลี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ปีเดียวกัน ผลการซักถามพบว่า นายตอเล๊ะ ยะ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง แต่หลังได้รับการปล่อยตัว ก็มีอาการจิตหลอน จนเป็นข่าวดังในพื้นที่ และ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ นำไปอภิปรายในสภา
ทั้งสองเหตุการณ์หลังสุดกลายเป็นแรงผลักดันให้มีการตรวจสอบ "ศูนย์ซักถาม" ทั้ง 6 แห่ง โดยคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงหลายประการ
ต้องรอดูว่าการทำงานร่วมกันระหว่างเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และฝ่ายความมั่นคง จะปิดตำนานเรื่องร้องเรียนว่าด้วยการซ้อมทรมาน ณ ดินแดนปลายด้ามขวานได้หรือไม่!?!