นราธิวาสเปิดบริการรถไฟสายท้องถิ่นทั้งขาขึ้น-ขาล่อง ท่ามกลางการ รปภ.ความปลอดภัยอย่างเข้มข้น พร้อมเริ่มเดินรถขบวนพิเศษขนส่งสินค้าเกษตรอีกรอบ หลังเจอระเบิดเมื่อ 3 วันก่อน ขณะที่ยะลาผ่อนปรนเดินทางเข้า-ออกจังหวัด ไม่ต้องแสดงเอกสารรับรอง ด้าน สสจ.ปัตตานีนำ ATK จากสวิตเซอร์แลนด์ ตรวจเชิงรุก 13 ตำบล
วันพุธที่ 1 ก.ย.64 จากมาตรการผ่อนคลายการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของ ศบค.ส่วนกลาง ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมของ ศบค.นราธิวาส ที่เปิดให้รถไฟสามารถให้บริการเดินรถเข้าสู่พื้นที่ จ.นราธิวาส ได้แล้ว
ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดการเดินรถไฟขบวนท้องถิ่น ปลายทางสุไหงโก-ลก ประกอบด้วย ขบวน 453 ยะลา-สุไหงโก-ลก, ขบวน 452 สุไหงโก-ลก-นครศรีธรรมราช, ขบวน 451 นครศรีธรรมราช-สุไหงโก-ลก, ขบวน 454 สุไหงโกลก-ยะลา, ขบวน 447 สุราษฎร์ธานี-สุไหงโก-ลก และรถไฟขบวนพิเศษ 985-986 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ ที่เป็นรถขนส่งสินค้า รวมทั้งพัสดุภัณฑ์อื่นๆ และเป็นขบวนที่ถูกลอบวางระเบิดเมื่อ 3 วันก่อน ได้เปิดให้บริการตามปกติ โดยยังคงมีประชาชนส่งพัสดุและผลผลิตทางการเกษตรคึกคักเหมือนเดิม
ในขณะที่ขบวนรถเร็วขบวน 171-172 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ยังงดให้บริการถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก เนื่องจากติดห้วงเวลาเคอร์ฟิว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้บริการจากสถานีทุ่งสง-กรุงเทพฯ-ทุ่งสงต่อไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเวลาเคอร์ฟิว
@@ “ตันหยงมัส” ผู้โดยสารยังบางตา
สำหรับบรรยากาศที่สถานีรถไฟตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส การใช้บริการของผู้โดยสารค่อนข้างบางตา เนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า รถไฟกลับมาเดินรถตามปกติแล้ว อีกทั้งการรถไฟฯ ได้ทำการตรวจคัดกรองโควิด-19 อย่างเข้มงวดเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดตามมาตรการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด
โดยบนรถไฟมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟ และ อส.คอยดูแลบนขบวนรถไฟตลอดเส้นทางทั้งขาขึ้นและขาล่อง นอกจากนั้นระหว่างทางก็มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ออกลาดตะเวน เพื่อรักษาความปลอดภัยเส้นทางรถไฟและในจุดเสี่ยงอย่างเข้มงวดตลอด 2 ข้างทาง ป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี
@@ ศบค.ยะลา ผ่อนปรนเข้า-ออกจังหวัด
ด้าน จ.ยะลา ได้มีมาตรการผ่อนปรนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามคำสั่งของ ศบค.ส่วนกลาง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคคิดต่อจังหวัดยะลา ได้ขานรับมาตรการ โดยให้ยกเลิกคำสั่งที่ 233/2564 (ฉบับที่ 32 ) เรื่องงดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ จ.ยะลา และออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ที่ 236/2564 ขอความร่วมมือประชาชนเดินทาง เข้า-ออก จ.ยะลา ให้เดินทางเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้ง สแกน QR Code YALA SAFE ALERT ขาเข้าตัวจังหวัดยะลา โดยไม่ต้องแสดงเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่าน เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 14 ก.ย.64
ล่าสุดทุกด่านตรวจรอยต่อระหว่าง จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางเข้า- ออก จ.ยะลา พร้อมทั้งมีการตรวจบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเลข 13 หลัก ตรวจสอบข้อมูลด้านความมั่นคง และสแกน QR Code เพื่อแสดงความจำนงในการเดินทางเข้าพื้นที่ ตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดยะลา
เจ้าหน้าที่ควบคุมด่านรอยต่อจังหวัดยะลา กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางเข้าจังหวัดยะลา เจ้าหน้าไม่มีการการตรวจเอกสาร หรือหนังสือรับรองการเดินทางแต่อย่างใด โดยทั่วไปการเดินทางเข้า-ออกของประชาชนนั้น ยังมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากทาง จ.ยะลา ยังคงขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางเข้า-ออกพื้นที่เป็นเวลา 14 วัน
@@ ปัตตานีสุดล้ำใช้ ATK สวิสฯตรวจเชิงรุก
ขณะที่สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี (สสจ.ปัตตานี) สาธารณสุขอำเภอเมือง อสม. ร่วมกับ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรซ ไทยแลนด์ จัดกิจกรรมโครงการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกและการประชาสัมพันธ์รณรงค์การฉีดวัคซีนในเขตชุมชนอำเภอเมืองปัตตานี ผ่านระบบกระจายเสียงและรถตุ๊กตุ๊ก เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ประชาชนเดินทางมาตรวจโควิดแบบ ATK และสามารถฉีดวัคซีนได้ทันทีเมื่อผลออกเป็นลบ
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 -14 ก.ย.64 ตลอดการจัดกิจกรรมได้มีการสร้างรายได้ให้กับขับรถตุ๊กตุ๊ก สาย ม.อ.- รูสะมีแล จำนวน 10 คัน ขับเข้าไปรับชาวบ้านในหมู่บ้านมาที่จุดรวมของแต่ละวัน ตลอดทั้งวัน
โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 114,224 ราย ในพื้นที่ 13 ตำบลของ จ.ปัตตานี
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย พร้อมด้วย คุณฟาริด บิดโกลี ผู้จัดการทั่วไปบริษัท โรซ ไทยแลนด์ ได้เข้ามาเยี่ยมการดำเนินงานของกิจการสาธารณสุขในพื้นที่ จ.ปัตตานี จึงมีความตั้งใจที่จะร่วมสนับสนุนและพัฒนาให้ชาวปัตตานีในครั้งนี้
โดยรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้บริจาคชุดตรวจโควิดแบบ ATK ให้แก่รัฐบาลไทยเป็นจำนวน 1,100,000 ชุด และทางกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งมอบให้แก่ จ.ปัตตานี จำนวน 45,000 ชุด และ คุณฟาริด บิดโกลี ผู้จัดการทั่วไปบริษัท โรซ ไทยแลนด์ จำกัด จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร จัดกิจกรรมนี้ขึ้น
@@ ผู้นำศาสนาเบตงเร่งฉีดวัคซีนเปิดมัสยิด
นายอิสมาแอ มะสาลัง อิหม่ามประจำมัสยิดอัสซุนนะฮ์ บ้านกาแป๊ะฮูลู อ.เบตง จ.ยะลา พร้อมคณะกรรมการมัสยิด ได้เดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดที่โรงพยาบาลเบตง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลเบตง บริการฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็มที่สอง ไฟเซอร์ กับแอสตร้าเซนเนก้า รวมไปถึงทีมงาน The Kop Betong ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน “ชิโนฟาร์ม” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใน อ.เบตง
โดยทางอิหม่ามประจำมัสยิดอัสซุนนะฮ์ได้ฝากเชิญชวนผู้นำศาสนา โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด บิหลั่น คอเต็บ เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิกันหมู่ให้เร็วที่สุด นำมาสู่การพิจารณาเตรียมเปิดพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน ประชาชนสามารถกลับมาประกอบศาสนกิจทางศาสนาที่มัสยิดได้
@@ นราธิวาสติดเชื้อใหม่โผล่ 326 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพุธที่ 1 ก.ย.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 15,818 ราย รักษาหายแล้ว 11,649 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 241 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 135 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 156 ราย, โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 13 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 584 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 501 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 43 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 118 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 62 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 1 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 42 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 136 ราย และ Home Isolation จำนวน 19 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,470 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 678 ราย, อ.หนองจิก 322 ราย, อ.โคกโพธิ์ 50 ราย, อ.ยะหริ่ง 264 ราย, อ.สายบุรี 225 ราย, อ.ไม้แก่น 2 ราย, อ.แม่ลาน 10 ราย, อ.ยะรัง 271 ราย, อ.ปะนาเระ 122 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 100 ราย, อ.มายอ 237 ราย และ อ.กะพ้อ 124 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 197 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 11,984 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,123 ราย รักษาหายแล้ว 9,740 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 121 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 187 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 4,537 ราย, อ.กรงปินัง 924 ราย, อ.เบตง 613 ราย, อ.รามัน 1,156 ราย, อ.บันนังสตา 2,287 ราย, อ.กาบัง 366 ราย, อ.ธารโต 916 ราย และ อ.ยะหา 1,185 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,123 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 171 ราย, โรงพยาบาลเบตง 68 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 391 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 95 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 677 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 24 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 39 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 189 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 60 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 17 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 120 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 19 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จำนวน 53 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 8 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 192 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 326 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 76 ราย, อ.ตากใบ 49 ราย, อ.ยี่งอ 22 ราย ,อ.จะแนะ 9 ราย, อ.แว้ง 1 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย, อ.รือเสาะ 3 ราย, อ.บาเจาะ 63 ราย, อ.ระแงะ 56 ราย, อ.ศรีสาคร 9 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 36 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 13,826 ราย รักษาหายสะสม 11,126 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 161 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 2,882 ราย, อ.ระแงะ 1,668 ราย, อ.รือเสาะ 670 ราย, อ.บาเจาะ 1,019 ราย, อ.จะแนะ 726 ราย, อ.ยี่งอ 851 ราย, อ.ตากใบ 1,542 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 965 ราย, อ.สุไหงปาดี 902 ราย, อ.ศรีสาคร 563 ราย, อ.แว้ง 987 ราย, อ.สุคิริน 394 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 657 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 290 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 258 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 32 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 20,548 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 20,252 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,194 ราย รักษาหายแล้ว 17,237 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 117 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 3,417 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 5,477 ราย, อ.เมืองสงขลา 3,011 ราย, อ.สิงหนคร 2,531 ราย, อ.จะนะ 2,072 ราย, อ.สะเดา 1,614 ราย, อ.เทพา 1,134 ราย, อ.สะบ้าย้อย 912 ราย, อ.รัตภูมิ 579 ราย, สทิงพระ 440 ราย, อ.บางกล่ำ 378 ราย, อ.นาหม่อม 320 ราย, อ.นาทวี 289 ราย, อ.ระโนด 225 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 130 ราย, ควนเนียง 122 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 18 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 170 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
@@ โรงพยาบาลชายแดนใต้ เตียงยังว่างเพียบ
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 1 ก.ย.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,036 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 929 เตียง คงเหลือ 104 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,809 เตียง ใช้ไป 2,525 เตียง คงเหลือ 1,284 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:180
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,545 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 987 เตียง คงเหลือ 558 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,970 เตียง ใช้ไป 831 เตียง คงเหลือ 2,139 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:7
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 630 เตียง คงเหลือ 161 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 701 เตียง คงเหลือ 387 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:100
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 918 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 816 เตียง คงเหลือ 102 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,700 เตียง ใช้ไป 1,303 เตียง คงเหลือ 1,397 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:260