ศบค.ยะลา ต่อเวลาห้ามเดินทางเข้า-ออกจังหวัดอีก 1 เดือน ส่วนสงขลา-ปัตตานี ผ่อนปรนร้านอาหารนั่งทานได้ แต่ยังงดออกนอกบ้าน 3 ทุ่มถึงตี 4 ขณะที่นราธิวาสเร่งฉีดวัคซีนเชิงรุกทุกอำเภอ หลังมียอดปักแขนทั้งจังหวัดแค่ 34 %
วันจันทร์ที่ 30 ส.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายจังหวัดมีการปรับมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมในสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลาเลขที่ 233/2564 เรื่อง การดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตราแห่งพระราชกำหนดการบริหารรายการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ว่าด้วย มาตรการสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ จ.ยะลา โดยงดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ จ.ยะลา เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้แจ้งต่อหัวหน้าด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อประจำด่านตรวจ เพื่อใช้ดุลพินิจในการตรวจตราความเรียบร้อยและการตรวจคัดกรองเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยเป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (คปก.ศบค.) กำหนด
ส่วนกรณีผู้เดินทางเป็นผู้ติดเชื้อหรือเป็นผู้มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ ให้เดินทางผ่านมาตรการหรือรูปแบบการเดินทางที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะเท่านั้น โดยให้เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง รวมถึงกรณีมีผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดเข้าพื้นที่ จ.ยะลา ให้หัวหน้าด่านแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 - 30 ก.ย.64
@@ สงขลา-ปัตตานี เฮนั่งทานในร้าน - ต่อเคอร์ฟิว
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ได้หารือและพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อให้สอดคล้องกับ คำสั่ง ศบค. รวมถึงการพิจารณาขยายระยะเวลาคำสั่งต่าง ๆ ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา อาทิ มาตรการควบคุมพื้นที่ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.สงขลา คำสั่งขยายเวลาการดำเนินมาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน คำสั่งขยายระยะเวลาการห้ามเข้าพื้นที่ คำสั่งการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 1-14 ก.ย.64
โดยมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ได้มีการผ่อนคลายมาตรการอย่างอย่าง อาทิ การเปิดให้นั่งรับประทานในร้านอาหารได้ ในห้องปรับอากาศไม่เกิน 50% และพื้นที่อากาศถ่ายเทไม่เกิน 75% ของจำนวนที่นั่งปกติ รวมถึงการให้สถานประกอบการและสถานบริการประเภทต่างๆ เปิดได้โดยปฏิบัติตามาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด แต่เปิดได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. เป็นต้น แต่ยังมีการขยายระยะเวลามาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน 21.00 น.-04.00 น.คำสั่งขยายระยะเวลาการห้ามเข้าพื้นที่ คำสั่งการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปอีก 14 วัน
ส่วนที่ จ.ปัตตานี นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 24/2564 โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ปลัดจังหวัดปัตตานี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี คณะกรรมการโรคติดต่อฯ นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพญาตานี ศาลากลางจังหวัดปัตตานี
โดยที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี ได้ยกระดับมาตรการควบคุมและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในจังหวัดปัตตานี ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 32 ซึ่งมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 25 คน การห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00 น.- 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มสามารถบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 20.00 น.โดยจำกัดผู้นั่งบริโภคในร้าน และการเดินทางเข้า-ออกนอกจังหวัด โดยที่ประชุมมีมติออกคำสั่งจังหวัดปัตตานีให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งนี้ สามารถติดตามประกาศ/คำสั่งจังหวัดปัตตานี
@@ นราฯเร่งเครื่องฉีดวัคซีน ยอดเข็มปักแขนแค่ 34%
ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่บริเวณอาคารเอนกประสงค์ ภายในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส มีประชาชนทยอยเดินทางมาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ตามรอบการฉีดวัคซีนที่จากเดิมระยะห่างการฉีดวัคซีนฯเข็มที่ 2 ประมาณ 16 สัปดาห์ เลื่อนเป็น 12 สัปดาห์ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยวันนี้มีประชาชนเดินทางมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,600 คน
นายแพทย์วิชัย วิเชียรวัฒนชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนของ จ.นราธิวาส ล่าสุดมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 34 % ฉีดวัคซีนสูงสุดในพื้นที่ อ.เมือง 49 % ซึ่งคาดว่า ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปได้กว่า 50 % เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งนอกจากนี้ทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส ได้เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก ในพื้นที่อำเภอต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ตามเป้าหมาย 70 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมีประชากรเป้าหมายจำนวน 642,991 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 221,038 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 61,831 คน และได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 5,917 คน
@@ สงขลายอดติดเชื้อพุ่งกว่า 300
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันจันทร์ที่ 30 ส.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 189 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่15,513 ราย รักษาหายแล้ว 11,417 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 234 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 150 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 201 ราย, โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 18 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 577 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 476 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 43 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 129 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 56 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 1 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 25 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 133 ราย และ Home Isolation จำนวน 29 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,534 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 802 ราย, อ.หนองจิก 332 ราย, อ.โคกโพธิ์ 62 ราย, อ.ยะหริ่ง 240 ราย, อ.สายบุรี 227 ราย, อ.ไม้แก่น 2 ราย, อ.แม่ลาน 12 ราย, อ.ยะรัง 284 ราย, อ.ปะนาเระ 118 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 87 ราย, อ.มายอ 223 ราย และ อ.กะพ้อ 85 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 190 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 11,689 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,173 ราย รักษาหายแล้ว 9,403 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 113 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 166 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 4,438 ราย, อ.กรงปินัง 890 ราย, อ.เบตง 598 ราย, อ.รามัน 1,105 ราย, อ.บันนังสตา 2,230 ราย, อ.กาบัง 353 ราย, อ.ธารโต 906 ราย และ อ.ยะหา 1,169 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,173 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 171 ราย, โรงพยาบาลเบตง 66 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 381 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 97 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 698 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 17 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 37 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 202 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 77 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 9 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 94 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 25 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จำนวน 21 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 52 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 226 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 208 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 43 ราย, อ.ตากใบ 1 ราย, อ.ยี่งอ 13 ราย, อ.จะแนะ 14 ราย, อ.แว้ง 40 ราย, อ.สุคิริน 26 ราย, อ.บาเจาะ 18 ราย, อ.ระแงะ 1 ราย, อ.ศรีสาคร 24 ราย, อ.เจาะไอร้อง 2 ราย , อ.สุไหงปาดี 25ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 13,271 ราย รักษาหายสะสม 10,555 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 151 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 2,769 ราย, อ.ระแงะ 1,517 ราย, อ.รือเสาะ 665 ราย, อ.บาเจาะ 946 ราย, อ.จะแนะ 697 ราย, อ.ยี่งอ 829 ราย, อ.ตากใบ 1,492 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 928 ราย, อ.สุไหงปาดี 892 ราย, อ.ศรีสาคร 513 ราย, อ.แว้ง 986 ราย, อ.สุคิริน 391 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 646 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 330 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 185 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 145 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 19,985 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 19,962 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,078 ราย รักษาหายแล้ว 16,794 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 113 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 419 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 5,363 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,941 ราย, อ.สิงหนคร 2,367 ราย, อ.จะนะ 2,030 ราย, อ.สะเดา 1,570 ราย, อ.เทพา 1,116 ราย, อ.สะบ้าย้อย 872 ราย, อ.รัตภูมิ 568 ราย, สทิงพระ 425 ราย, อ.บางกล่ำ 366 ราย, อ.นาหม่อม 318 ราย, อ.นาทวี 282 ราย, อ.ระโนด 216 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 123 ราย, ควนเนียง 117 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 18 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 165 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
@@ 4 จังหวัดชายแดนใต้เตียงรับผู้ป่วยโควิด “มีว่าง”
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 30 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,036 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 928 เตียง คงเหลือ 108 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,777 เตียง ใช้ไป 2,434 เตียง คงเหลือ 1,343 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:173
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,545 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 992 เตียง คงเหลือ 553 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,970 เตียง ใช้ไป 836 เตียง คงเหลือ 2,134 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:7
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 618 เตียง คงเหลือ 173 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 715 เตียง คงเหลือ 373 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:102
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 871 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 860 เตียง คงเหลือ 11 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,700 เตียง ใช้ไป 1,352 เตียง คงเหลือ 1,348 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:270