ยะลาเปิดวอล์คอินฉีด “ไฟเซอร์เข็มแรก” ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง หวังเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่หมู่บ้านธารมะลิ เป็นพื้นที่ได้รับวัคซีนต่ำสุดในเบตง แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่ให้กำลังใจ ส่วนที่ปัตตานี รถพระราชทานลุยตรวจเชื้อโควิดชาวบางปู อ.ยะหริ่ง
วันพุธที่ 25 ส.ค.64 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้หลายจังหวัดได้พยายามเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่
ที่หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 อาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอายุ 12 -18 ปี หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายเดินทางเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกจำนวนมาก โดยทางโรงพยาบาลยะลาได้เปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้จองในระบบ พร้อมทั้งเปิด Walk in วัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
นายแพทย์อินทร์ จันแดง ผอ.โรงพยาบาลยะลา กล่าวว่า ได้ทำการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มแรก ให้ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอายุ 12-18 ปี หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ที่เปิดจองในระบบ จำนวน 1,500 คน ขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลยะลาได้เปิด Walk in วัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง อีกจำนวน 1,200 คน นอกจากนี้ยังมีการบูทเข็ม 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อีกจำนวน 300 คน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
@@บ้านธารมะลิ เป็นพื้นที่ได้รับวัคซีนต่ำสุดในเบตง
ส่วนที่ อ.เบตง นายกิตติภณ เปรมรัชชานนท์ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง นายแพทย์จิตติ จันทรมงคล แพทย์จากโรงพยาบาลเบตง นำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน หมู่ที่ 4 บ้านธารมะลิ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา โดยหมู่บ้านนี้มีการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดของ อ.เบตง มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 322 คน จากเป้าหมายที่วางไว้ 350 คน ซึ่งตลอดทั้งวันมีการจับฉลาก แจกของรางวัล อาทิ พัดลม เตาแก๊ส มุ้งนอน ผ้านวม และเครื่องอุปโภคบริโภคมากมายที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี มอบให้กับชาวบ้านที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ประชาชนใน อ.เบตง มีประชาชน 3 กลุ่ม เป้าหมาย จำนวน 37,087 คน ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว จำนวน 28,322 คน คิดเป็น 76.37 % แม้ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ยังคงฉีดวัคซีนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งการระบาดและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นำไปสู่การเปิดเมืองเบตงรองรับการท่องเที่ยวต่อไป ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเด็กที่มีโรคประจำตัว ทางเจ้าหน้าที่มีแผนที่จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อลดการเสียชีวิตในกลุ่มดังกล่าวเร็ว ๆ นี้
@@แม่ทัพภาค 4 เยี่ยมให้กำลังใจแพทย์เบตง
ที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ลงพื้นที่ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กับทางโรงพยาบาลและประชาชนที่เข้ารับการบริการฉีดวัคซีน
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลเบตง ที่ได้ทำหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทั้งมาดูความพร้อม สอบถามความต้องการสิ่งใดขาดตกบกพร่องจะได้ให้การช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร รวมไปถึงความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา หากโรงพยาบาลมีความต้องการหรือขาดเหลือสิ่งใดทางกองทัพก็สามารถที่จะให้การสนับสนุนได้ในทันที เนื่องจากที่ผ่านมามีการจัดทำเตียงไม้ไผ่โดยฝีมือทหารชายแดนใต้ที่ทำขึ้น เพื่อรองรับการขาดแคลนเตียงผู้ป่วยช่วยเหลือโรงพยาบาลสนามต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว สิ่งไหนที่สามารถช่วยเหลือได้พร้อมสนับสนุนเต็มที่ สามารถแจ้งไปยังหน่วยทหารได้โดยตรง
ต่อมาทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปยังกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 4 อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดป้องกันชายแดนในการทำภารกิจป้องกันแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ฝั่งอำเภอเบตง โดยมอบนโยบาย และเน้นย้ำให้หน่วยได้ปฏิบัติการเชิงรุกควบคุมพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด สั่งกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามแนวชายแดน ด่านตรวจคนเข้าเมือง ควบคู่กับการระวังตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมมอบอุปกรณ์จำเป็นในการดำรงชีพ และอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับกำลังพล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป
@@รถพระราชทาน ลุยตรวจเชื้อโควิดชาวบางปู อ.ยะหริ่ง
ที่โรงเรียนบ้านบางปู ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทางรถตรวจหาเชื้อพระราชทาน ได้ออกหน่วยบริการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ตามโครงการ “ของขวัญวันแม่แด่คนปัตตานี” แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี นายอำเภอยะหริ่ง จิตอาสาพระราชทาน ฝ่ายปกครอง ทหาร และบุคลากรทางการแพทย์ ต่างได้มาอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน โดยมีเป้าหมายออกหน่วยบริการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ด้วย ATK 30% ของประชากรใน ต.บางปู ประมาณ 3,000 คน ซึ่งจะออกหน่วยบริการ ระหว่างวันที่ 25-26 ส.ค.64 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 15.00 น.
ซึ่งอำเภอยะหริ่งได้จัดทำแผนควบคู่ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีน ป้องกันโควิด-19 โดยแบ่งแยกโซนให้บริการที่ชัดเจน ระหว่างผู้ที่มาตรวจหาเชื้อและผู้มารับบริการฉีดวัคซีน แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในเด็กอายุ12-18 ปี หญิงอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ผู้พิการ ประชาชนทั่วไป อายุ 18 ปี ขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงที่ผลการตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 จากผล ATK ของรถตรวจหาเชื้อพระราชทาน สำหรับผู้ที่ตรวจแล้วพบเชื้อ ผลเป็นบวก ทางอำเภอยะหริ่งได้จัดพื้นที่เข้าสู่กระบวนการรักษาตัวที่โรงเรียนบ้านบางปูซึ่งจัดความพร้อมเป็นที่กักตัวในชุมชน (Community Isolation) ถือว่าการทำงานครั้งนี้ แบบ 3 in 1
@@ รพ.หลักนราธิวาส กลับมาเตียงติดลบ 41 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.00 น. ของวันที่ 25 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,051 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 795 เตียง คงเหลือ 256 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,815 เตียง ใช้ไป 2,228 เตียง คงเหลือ 1,587 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:159
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,379 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 956 เตียง คงเหลือ 423 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,870 เตียง ใช้ไป 1,047 เตียง คงเหลือ 1,823 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:10
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 554 เตียง คงเหลือ 237 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 558 เตียง คงเหลือ 530 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:79
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 849 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 891 เตียง คงเหลือ -42 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,540 เตียง ใช้ไป 1,286 เตียง คงเหลือ 1,254 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:257
@@นราธิวาสติดเชื้อใหม่ 288 ราย ปัตตานีป่วยโควิดดับอีก 3 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพุธที่ 25 ส.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 99 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 14,588 ราย รักษาหายแล้ว 10,836 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 213 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 136 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 243 ราย, โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 31 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 653 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 491 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 54 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 182 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 3 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 58 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 105 ราย และ Home Isolation จำนวน 52 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 3,037 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,087 ราย, อ.หนองจิก 381 ราย, อ.โคกโพธิ์ 111 ราย, อ.ยะหริ่ง 256 ราย, อ.สายบุรี 181 ราย, อ.ไม้แก่น 5 ราย, อ.แม่ลาน 13 ราย, อ.ยะรัง 382 ราย, อ.ปะนาเระ 170 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 69 ราย, อ.มายอ 257 ราย และ อ.กะพ้อ 74 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 127 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 10,753 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,838 ราย รักษาหายแล้ว 8,808 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 107 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 239 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 4,162 ราย, อ.กรงปินัง 791 ราย, อ.เบตง 570 ราย, อ.รามัน 1,038 ราย, อ.บันนังสตา 1,985 ราย, อ.กาบัง 319 ราย, อ.ธารโต 844 ราย และ อ.ยะหา 1,044 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,838 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 168 ราย, โรงพยาบาลเบตง 58 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 328 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 85 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 538 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 20 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 55 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 173 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 67 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 10 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 70 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 22 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จำนวน 37 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 52 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 155 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 288 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 32 ราย, อ.ตากใบ 4 ราย, อ.ยี่งอ 24 ราย, อ.จะแนะ 12 ราย, อ.แว้ง 50 ราย, อ.สุคิริน 23 ราย, อ.รือเสาะ 22 ราย, อ.บาเจาะ 36 ราย, อ.ระแงะ 25 ราย, อ.ศรีสาคร 1 ราย, อ.เจาะไอร้อง 3 ราย , อ.สุไหงปาดี 6 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 50 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 12,100 ราย รักษาหายสะสม 9,498 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 137 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 2,465 ราย, อ.ระแงะ 1,453 ราย, อ.รือเสาะ 651 ราย, อ.บาเจาะ 871 ราย, อ.จะแนะ 636 ราย, อ.ยี่งอ 792 ราย, อ.ตากใบ 1,413 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 854 ราย, อ.สุไหงปาดี 748 ราย, อ.ศรีสาคร 446 ราย, อ.แว้ง 892 ราย, อ.สุคิริน 335 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 544 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 197 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 183 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 14 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 18,500 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 18,477 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,733 ราย รักษาหายแล้ว 15,662 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 105 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 877 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 5,080 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,776 ราย, อ.สิงหนคร 2,081 ราย, อ.จะนะ 1,886 ราย, อ.สะเดา 1,290 ราย, อ.เทพา 1,004 ราย, อ.สะบ้าย้อย 832 ราย, อ.รัตภูมิ 536 ราย, สทิงพระ 379 ราย, อ.บางกล่ำ 348 ราย, อ.นาหม่อม 315 ราย, อ.นาทวี 261 ราย, อ.ระโนด 181 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 109 ราย, ควนเนียง 102 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 15 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 153 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย