น้ำใจคนไทยจากทั่วทุกภาคของประเทศหลั่งไหลช่วย “แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสาม” หลังจากสื่อมวลชนหลายแขนงช่วยกันนำเสนอเรื่องราวชีวิตช่วงที่ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เพราะโควิด แต่ต้องแบกภาระดูแลถึง 4 ชีวิต ทั้งลูกๆ และตัวเอง
ข่าวในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา หัวเรื่องว่า “วันแม่ขอแค่ข้าวกับยาให้ลูก...น้ำตาของแม่พ่ายโควิดต้องต้มข้าวกับเกลือให้ลูกกิน” บอกเล่าชีวิตของ ซูไฮนี เจ๊ะเลาะ ชาวอำเภอยะหา จ.ยะลา ที่ตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินติดบ้าน ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อดูแลลูกถึง 3 คน คนโตเป็นผู้ชาย อายุ 8 ขวบ ลูกสาวคนกลางอายุ 5 ขวบ และคนเล็กยังเป็นทารกวัยแค่ 1 ขวบ บางวันถึงขั้นต้องต้มข้าวใส่เกลือให้ลูกกินทั้งน้ำตา
เรื่องราวของซูไฮนี ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์บางช่องด้วย ทำให้ผู้คนรับรู้เป็นวงกว้าง และพากันร่วมบริจาคช่วยเหลือจำนวนมาก ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนผู้นำท้องถิ่น และผู้นำท้องที่ ได้ทยอยเข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างไม่ขาดสาย
พ.อ.โกเมธ รัตนผ่องใส ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 (ผบ.ฉก.ทพ.47) พร้อมด้วย นายอมร ปรีดางกูร นายอำเภอยะหา, ปลัดตำบล, ปลัด อบต.ยะหา, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา (พมจ.ยะลา) ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. และองค์กรนักศึกษา กศน.อ.ยะหา ได้พากันลงพื้นที่ไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวของซูไฮนี พร้อมมอบสิ่งของจำเป็น และได้ร่วมกันหาแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ พ.อ.โกเมธ ได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง หน้ากากอนามัย ขนมเด็ก นมกล่อง และนมผง ให้กับซูไฮนีและลูกๆ
พ.อ.โกเมธ กล่าวว่า ได้นำความห่วงใยจากผู้บังคับบัญชา กองทัพบก แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา มามอบให้กับครอบครัวของซูไฮนี และพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงนี้ โดยพยายามจะลงพื้นที่ทุกที่ ทุกจุดที่ประชาชนมีความทุกข์
“วันนี้ถือเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น หลังจากนี้หน่วยที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ จะส่งเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ่อยๆ หรือถ้ามีความเดือดร้อนประการใดก็แจ้งทางหน่วยได้” ผบ.ฉก.ทพ.47 กล่าว และว่า นอกจากเงินช่วยเหลือ และสิ่งของอุปโภคบริโภคแล้ว ยังได้มอบหน้ากากอนามัย กับเจลล้างมือให้ด้วย
นายอมร ปรีดางกูร นายอำเภอยะหา กล่าวว่า ในความเป็นจริง ทางราชการไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนในพื้นที่ ให้อยู่อย่างลำบาก แต่บางครั้งข้อมูลที่ทางราชการได้รับมานั้น ส่งมาไม่ถึง เมื่อมีการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรีอสื่ออื่นใดช่วยนำเสนอ ทางราชการพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งดำเนินการลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง สอบถามความเป็นอยู่ รวมทั้งแก้ปัญหาเบื้องต้นทันที โดยได้มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าก่อน
นอกจากนี้ได้ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป ทั้งเรื่องของการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สร้างความยั่งยืน ขอให้เชื่อมั่นว่า ทางอำเภอพร้อมติดตามการช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ขณะที่ นายรอซาลี สาแม นักพัฒนาสังคมสงเคราะห์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา กล่าวว่า กรณีของนางสาวซูไฮนี ก่อนหน้านี้ ทาง พมจ.ยะลา ได้ให้ความช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ไปแล้วจำนวน 2,000 บาท เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา วันนี้ได้เห็นสภาพปัญหาของครอบครัว ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ลำบาก เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียวโดยที่ไม่มีหัวหน้าครอบครัว ทาง พมจ.ยะลา จะมีการวางแผนให้ความช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป เพื่อที่จะให้ครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
ด้าน ซูไฮนี เปิดใจว่า ชีวิตวันนี้เหมือนฝันที่เป็นจริง ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นจริงได้
“เรานอนเราฝัน แล้วมันเป็นจริงอย่างที่เราฝัน เมื่อวานไม่มีเงินเลย แต่ได้รับความช่วยเหลือจากสื่อ จากศูนย์ข่าวอิศรา จากศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ เอาของและนำเงินช่วยเหลือมาให้ด้วย ก็รู้สึกว่าเป็นเงินที่มากแล้ว สามารถใช้ได้หลายวัน ให้ลูกๆ กินขนม และซื้อแพมเพิร์ส แต่วันนี้ตื่นมาช่วยเขาขายของปกติเหมือนทุกๆ วัน มีชาวบ้านทักทายพร้อมรอยยิ้ม ชาวบ้านรู้จากข่าวถึงความเดือดร้อนของเรา เพราะบางคนเขาก็ไม่รู้มาก่อน”
“จำได้ นักข่าวบอกว่าหลังมีข่าวออกไป อาจมีเงินโอนเข้ามาบ้าง ลองไปปรับสมุดดูบ้าง พอขายของเสร็จก็ดู ปรากฏว่ามีคนบริจาคเข้ามาเยอะจนต้องขยี้ตาดู ค่อยๆ นับเลขทีละตัว นับแล้วนับอีกเพราะไม่เชื่อว่ามันจะจริง ก็เลยให้เจ้าของร้านช่วยดู ตอนนั้นขนลุก ร้องไห้ เด็กๆ ได้ยินก็เข้ามาถาม ทุกคนดีใจมาก รู้สึกว่าเหมือนความฝันที่เคยฝัน ต้องขอขอบคุณพี่น้องคนไทยทุกคน อยากบอกว่าเงินที่โอนมาเพียงพอแล้ว ถือว่ามากจริงๆ อยากบอกว่าซาบซึ้งในน้ำใจมาก ขอบคุณ ทหาร อำเภอ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เข้ามาช่วย ขอบคุณชาวบ้านทุกคนที่ร่วมดีใจกับความฝันที่เป็นจริงของตัวเองและลูกๆ” ซูไฮนี กล่าวทั้งน้ำตา
แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสาม บอกด้วยว่า จะแบ่งเงินที่ได้เป็น 4 ส่วน ส่วนแรกจะสร้างบ้านเล็กๆ ให้ตัวเองและลูกๆ เพราะบ้านที่อยู่ผุพังมาก ส่วนที่ 2 จะลงทุนขายของหลังโควิด เพื่อให้มีรายได้ และที่เหลือจะแบ่งเป็นเงินเก็บให้ลูกๆ ได้เรียน และอีกส่วนจะซื้อมอเตอร์ไซค์เพื่อใช้พาลูกคนเล็กไปโรงพยาบาล เนื่องจากลูกเป็นโรคหอบ ป่วยตลอด
“อยากขอบคุณนักข่าวอีกครั้งที่ช่วยเสนอข่าวสะท้อนปัญหาของฉันและลูกๆ ทำให้ได้รับน้ำใจจาก พี่น้องชาวไทยอย่างมาก ที่ผ่านมาชีวิตลำบากมาก แต่ตัวเองทนได้ ลูกยังเด็ก บางครั้งเขาขอเงิน เราไม่มีเขาก็ร้องไห้ เราก็ร้องไห้ตาม ตอนนี้มีเงินแล้ว พอที่จะให้เขากินข้าวกินขนมได้ ขอบคุณมากๆ สำหรับการช่วยเหลือและกำลังใจที่ส่งมา จะขอต่อสู้ต่อไป เชื่อว่าชีวิตหลังโควิดจะดีกว่านี้” ซูไฮนี กล่าว
@@ “ซูการ์โน” อ้างสื่อประโคมข่าวเพราะขัดแย้งผู้นำท้องถิ่น ยันไม่ถึงขั้นตัมข้าวกับเกลือ
มีความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งจาก ส.ส.ในพื้นที่ นายซูการ์โน มะทา ที่ได้ลงไปเยี่ยมครอบครัวซูไฮนี และกลับมาโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ทำนองว่า มีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงลูก 3 คนในพื้นที่จริงๆ แต่ไม่ถึงขั้นต้องต้มข้าวกับเกลือให้ลูกกิน และผู้นำในพื้นที่ไม่ได้ปล่อยให้แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องต้มข้าวกับเกลือเลี้ยงลูก 3 คน ข้อมูลนี้ตนได้รับตรงกันทั้งจาก พมจ.ยะลา ผู้บริหารท้องถิ่น และท้องที่ โดย พมจ.ยะลา ก็เคยดูแลครอบครัวนี้มาก่อนแล้ว แต่มีการประโคมข่าวเพราะนักข่าวมีความขัดแย้งส่วนตัวกับผู้นำในพื้นที่จนทำให้เป็นข่าวใหญ่โต จึงถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับการบริโภคข่าวที่เป็นข่าวปลอม หรือข่าวเท็จ
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา “ศูนย์ข่าวอิศรา” และสื่อมวลชนหลายสำนักในพื้นที่ ได้รายงานข่าวช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาแล้วหลายกรณี โดยไม่ได้เลือกพื้นที่ เพราะผู้เดือดร้อนและยากจนอย่างแสนสาหัสมีกระจายอยู่แทบทุกอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างเช่น เมื่อเดือน ส.ค.ปี 63 ก็ได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของ “คุณยายแมะเอียด” ที่ต้องเลี้ยงดูลูกชาย ซึ่งเป็นโรคแขนขาอ่อนแรง และหลานชายในวัยเรียน โดยไม่มีแม้บ้านอยู่ ต้องนอนในเพิงที่กันฝนไม่ได้ ใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยวันที่นักข่าวลงไปรายงานข่าว คุณยายแมะเอียดมีเงินติดตัวแค่ 3 บาท ทำให้เมื่อข่าวออกไปแล้ว คุณยายได้รับการขนานนามว่า “คุณยายสามบาท” หลังจากนั้นก็มีเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และมีหน่วยราชการ ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าไปช่วยเหลือจนคุณภาพชีวิตของคุณยายแมะเอียดดีขึ้นมาก (อ่านประกอบ : "ยายแมะเอียด"กับเงิน 3 บาท และหลานยอดกตัญญู, ธารน้ำใจหลั่งไหลช่วย "คุณยาย 3 บาท”, "คุณยาย 3 บาท" กับบ้านหลังใหม่จากน้ำใจคนไทยทั่วประเทศ)
หรืออย่างเรื่องราวของ ยามรี บากา หนุ่มวัย 26 ปี ที่ต้องหอบผ้าหอบผ่อนย้ายจากมาเลเซียกลับบ้านที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เพราะไม่มีงานให้ทำ เนื่องจากมาตรการปิดเมืองยุคโควิด ปรากฏว่าเมื่อกลับมา ภรรยาขอแยกทาง ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกแฝดเพียงลำพัง โดยที่ตัวเองก็ไม่มีงานทำ ซึ่งเมื่อ “ศูนย์ข่าวอิศรา” นำเสนอข่าวออกไป ก็ทำให้นายยามรี ได้รับความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนลงได้ระดับหนึ่ง (อ่านประกอบ : โควิดไม่ซา เมียหอบผ้าหนี หนุ่มยะลาคนดีรับภาระเลี้ยงลูกแฝด)
สำหรับ “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน ยากจน หรือได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยใช้วิธีทำขนมจีนขาย แล้วนำรายได้หักค่าใช้จ่ายมาใช้เป็นทุนในการช่วยคนในพื้นที่ รวมกับเงินอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับบริจาคจากผู้ใหญ่ใจดีในแวดวงต่างๆ รวมถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานในพื้นที่เอง อย่างเช่น แม่ทัพภาคที่ 4 และเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
มีหลายกรณีที่ “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชาวบ้าน และพบเห็นครอบครัวที่ลำบาก หรือทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัส ก็จะส่งข้อมูลให้สื่อมวลชนช่วยเสนอข่าว หรือส่งต่อเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ให้ช่วยดำเนินการ