ผอ.โรงพยาบาลรามัน เผยในผู้ป่วย 3 คนติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 1 คน พร้อมนำกลุ่มเสี่ยงสูงกักตัวเข้ม เลิกใช้ home quarantine หลังทำแพร่เชื้อในชุมชน ขณะที่ชาวเบตงกว่า 55 % ได้รับวัคซีนโควิด ถือเป็นอันดับ 1 ของ จ.ยะลา ด้านยอดผู้ติดเชื้อสงขลาพุ่ง 353 ราย ปัตตานีดับวันเดียว 8 ราย
วันพุธที่ 4 ส.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจากพบว่า มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.รามัน และ อ.บันนังสตา
ทำให้บรรยากาศการฉีดวัคซีนที่เทศบาลตำบลโกตาบารู ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งมีการฉีดวัคซีนทั้งซิโนแวคและแอสต้าเซนเนก้า มีประชาชนตื่นตัวเข้ารับการฉีดวัคซีนตามระบบเป็นจำนวนมาก หลังจากพบว่า ในพื้นที่ อ.รามัน ที่ล่าสุดพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าและมีแนวโน้มการติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว
นายแพทย์รอซาลี ปัตยะบุตร ผอ.โรงพยาบาลรามัน เปิดเผยว่า สำหรับพันธุ์เดลต้าที่ตรวจพบ ในพื้นที่ อ.รามัน ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่กว่า 30 % นั่นหมายความว่า คนผู้ป่วยโควิด 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก ทำให้ทางโรงพยาบาลรามันได้ปรับระบบการทำงาน โดยการจัดทำเป็นศูนย์กักกันที่โรงเรียนบ้านรามัน ซึ่งเป็นศูนย์กักกันเอาไว้สำหรับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง จะไม่ปล่อยให้มีการตรวจเชื้อในพื้นที่แล้ว
โดยจะนำเอาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด มากักตัวและตรวจหาเชื้อที่โรงเรียนบ้านรามัน หลังจากตรวจหาเชื้อเสร็จแล้ว จะใช้ Rapid test ตรวจเพื่อให้ทราบผลภายใน 20 ถึง 30 นาที ก็จะรู้ตัวแล้วว่า ใครติดเชื้อหรือใครไม่ติดเชื้อ ซึ่งคนที่ติดเชื้อก็จะกักตัวไว้ที่โรงเรียนบ้านรามันและจะไม่ปล่อยให้กลับไป home quarantine เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าคนเหล่านี้เมื่อกลับไป home quarantine แล้วจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนและในครอบครัว สังเกตว่า ตัวเลขหลังๆของ จ.ยะลา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสัมผัสร่วมบ้าน
ผอ.โรงพยาบาลรามัน กล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณนายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ และน้องๆ รพ.สต. ที่ร่วมมือกัน เพื่อจัดทำเป็นศูนย์กักกันผู้ป่วยที่เราสงสัยว่า ติดเชื้อและปรับตัวให้มากักตัวที่โรงเรียนบ้านรามันแห่งนี้ ซึ่งระบบนี้จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้อย่างมาก เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้า เป็นเชื้อที่มีการแพร่กระจายเชื้อที่รวดเร็ว และมีอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง อย่างน่ากังวลมาก ก็คงต้องให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังตัว และปฏิบัติตัวตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากไม่จำเป็นในช่วงนี้ออกจากบ้านให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น
ตอนนี้ อ.รามัน มีพื้นที่เป็นสีแดงเข้มทั้งหมดทุกตำบล ไม่มีตำบลไหนที่เสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมาก เพราะในแง่ของการปฎิบัติงาน ทุกคนที่มาจาก อ.รามัน ทุกคนจะเป็นผู้เสี่ยงสูงทั้งหมด ตัวเลขที่พบเชื้อเดลต้า ล่าสุดจากการสุ่มตรวจ 15 ราย พบติดเชื้อมี 3 คน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดและมีแนวโน้ม ที่จะระบาดในอำเภอรามันเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ด้านนายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.ยะลา ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด -19 สายพันธุ์เดลต้าเข้ามาแล้วใน 2 อำเภอ คือ อำเภอรามัน และบันนังสตา (ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิดที่กลับมาจากกรุงเทพมหานคร) คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งโควิดสายพันธุ์เดลต้าจะมีการติดเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าและสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนปัจจัยที่ยังคงทำให้เกิดการแพร่กระจายของโควิด-19 ยังคงขึ้นอยู่กับวินัยส่วนบุคคลและการปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์อย่างเคร่งครัด แต่สิ่งที่ต้องคุมเข้มคือการจัดการปัจจัยในครอบครัว เพื่อลดการแพร่กระจายในครอบครัว
@@ชาวเบตงรับวัคซีนไปแล้ว 55% เป็นอันดับ 1 ของ จ.ยะลา
ส่วนที่มัสยิดสามัคคีธรรม กม.32 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตงพร้อมนายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง นำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เคลื่อนที่ให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในพื้นที่ ลดการติดเชื้อ ลดการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิตและเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ซึ่งตลอดทั้งวันมีประชาชนกลุ่มเป้าหมายหลัก ให้ความสนใจเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 (AstraZeneca) กันอย่างคึกคัก
นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง กล่าวว่า โรงพยาบาลเบตงและสาธารณสุขอำเภอเบตงได้ดำเนินการให้บริการฉีดวัคซีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด ทำให้ขณะนี้ประชาชนใน อ.เบตง เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 55.38 % เป็นอันดับ 1 ของ จ.ยะลา โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 78.48% กลุ่ม อสม.ฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 70.17 % และกลุ่มอายุ 18-59 ฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 48.18%
โดยเมื่อวานนี้ มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเบตง จำนวน 1,626 คน ส่วนวันนี้ได้ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุก ตามหมู่บ้านนำร่องในพื้นที่ ต. อัยเยอร์เวง โดยเตรียมวัคซีนไว้บริการฉีดให้กับประชาชน จำนวน 600 โดส โดยแบ่งการฉีดวัคซีนในช่วงเช้า 300 คน และช่วงบ่าย อีก 200 คน
@@โรงพยาบาลนราฯ เตียงยังติดลบอีก 27 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 16.00 น. ของวันที่ 4 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,048 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 786 เตียง คงเหลือ 262 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,553 เตียง ใช้ไป 2,726 เตียง คงเหลือ 827 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:195
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 933 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 718 เตียง คงเหลือ 215 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,715 เตียง ใช้ไป 1,316 เตียง คงเหลือ 399 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:14
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 560 เตียง คงเหลือ 231 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 657 เตียง คงเหลือ 431 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:93
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 613 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 640 เตียง คงเหลือ -27 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,730 เตียง ใช้ไป 996 เตียง คงเหลือ 734 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:199
@@ สงขลาติดเชื้อใหม่ 353 ราย ปัตตานีวันเดียวเสียชีวิต 8 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพุธที่ 4 ส.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 228 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 10,511 ราย รักษาหายแล้ว 6,967 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 8 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 143 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 146 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 718 ราย โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 99 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,034 ราย โรงพยาบาลชุมชน 487 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 10 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 38 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 150 ราย Home Isolation 102 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 610 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 7 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 3,680 ราย, อ.หนองจิก 1,318 ราย, อ.โคกโพธิ์ 546 ราย, อ.ยะหริ่ง 1,095 ราย, อ.สายบุรี 516 ราย, อ.ไม้แก่น 141 ราย, อ.แม่ลาน 209 ราย, อ.ยะรัง 1,138 ราย, อ.ปะนาเระ 498 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 233 ราย, อ.มายอ 902 ราย และ อ.กะพ้อ 126 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 7,777 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,909 ราย รักษาหายแล้ว 5,801 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 67 ราย อยู่ระหว่างรอผล 1,210 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 2,994 ราย, อ.กรงปินัง 641 ราย, อ.เบตง 398 ราย, อ.รามัน 719 ราย, อ.บันนังสตา 1,414 ราย, อ.กาบัง 251 ราย อ.ธารโต 656 ราย และ อ.ยะหา 704 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,909 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 150 ราย โรงพยาบาลเบตง 52 ราย รพช.6 แห่ง 358 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 9 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 641 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 16 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 234 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 120 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.ยะหา 85 ราย โรงพยาบาลสนามธารโต 4 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศอ.12 ยะลา 6 ราย Bubble & Seal 4 ราย รักษาตัวที่บ้าน 4 ราย ปฏิเสธการรักษา 11 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 215 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 248 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 54 ราย, อ.ตากใบ 19 ราย, อ.ยี่งอ 61 ราย, อ.จะแนะ 4 ราย, อ.แว้ง 8 ราย, อ.รือเสาะ 10 ราย, อ.บาเจาะ 18 ราย , อ.ระแงะ 26 ราย, อ.ศรีสาคร 5 ราย, อ.เจาะไอร้อง 14 ราย, อ.สุไหงปาดี 15 รายและ อ.สุไหงโก-ลก 14 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 7,106 ราย รักษาหายสะสม 5,154 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 76 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,594 ราย, อ.ระแงะ 833 ราย, อ.รือเสาะ 372 ราย, อ.บาเจาะ 504 ราย, อ.จะแนะ 397 ราย, อ.ยี่งอ 431 ราย, อ.ตากใบ 884 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 415 ราย, อ.สุไหงปาดี 415 ราย, อ.ศรีสาคร 312 ราย, อ.แว้ง 395 ราย, อ.สุคิริน 209 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 346 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 353 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 257 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 95 ราย และผู้ติดเชื้อจากโครงการคนสงขลาไม่ทิ้งกัน 1 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 13,137 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 13,114 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,156 ราย รักษาหายแล้ว 9,909 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 72 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,001 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 3,465 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,130 ราย, อ.จะนะ 1,474 ราย, อ.สิงหนคร 1,178 ราย, อ.เทพา 788 ราย, อ.สะเดา 770 ราย, อ.สะบ้าย้อย 558 ราย, สทิงพระ 316 ราย, อ.บางกล่ำ 280 ราย, อ.รัตภูมิ 275 ราย, อ.นาทวี 211 ราย, อ.นาหม่อม 221 ราย, อ.ระโนด 92 ราย, ควนเนียง 84 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 62 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,101 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 97 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย