การเฝ้าระวังการลักลอบข้ามแดน ต้องยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะประเทศไทยมีชายแดนทางบกเป็นเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทุกด้าน
โดยเฉพาะชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีระยะทางถึง 2,202 กิโลเมตร จึงไม่แปลกที่จะมีรูรั่วให้ลักลอบข้ามแดนได้ แม้จะยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นขนาดไหนก็ตาม (ไม่นับขบวนการนำพาที่อาจจะมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง)
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ปรากฏกรณีจับกุม 10 สาวไทย ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และเจ้าตัวรับสารภาพว่าไปทำงานในบ่อนคาสิโนฝั่งเม่ียนมา สะท้อนปัญหาซับซ้อนของการ “ซีลชายแดน” เพราะนอกจากความยากที่ชายแดนมีระยะทางยาว และไม่มีรั้วกั้นแล้ว ยังมีแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนทั้งสองประเทศลักลอบข้ามไป-มา
โดยคนไทยก็เข้าไปทำงานตามสถานบันเทิงและคาสิโน ส่วนคนเมียนมา หรือคนพม่า ก็ข้ามมาฝั่งไทยเพื่อหางานทำ เพราะสถานการณ์ในเมียนมา วิกฤติทั้งโรคระบาดและการเมืองภายใน
สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับชายแดนไทยทุกด้าน ทั้งด้านที่ติดต่อกับประเทศลาว และกัมพูชา ไม่เว้นแม้แต่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่มีการสร้างรั้วชายแดนหลายจุด หลายช่วง แต่ก็ยังมีรูรั่ว
เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค.64 มีข่าวจาก ศบค.(ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) ว่ามีคนข้ามแดนมาตามช่องทางธรรมชาติ และพบติดโควิด แต่ระบุตัวเลขแค่ 4 คน ถือว่ายังน้อยกว่าชายแดนด้านอื่นๆ นี่จึงอาจจะเป็นประโยชน์ของ “รั้วชายแดน”
สำหรับแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย มีความยาวของเส้นเขตแดนประมาณ 647 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ จ.สตูล 56 กิโลเมตร สงขลา 150 กิโลเมตร ยะลา 267 กิโลเมตร และนราธิวาส 174 กิโลเมตร
ชายแดนไทย-มาเลเซีย มีรั้วชายแดนที่ก่อสร้างแล้ว 2 ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง รั้วชายแดนที่ก่อสร้างร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซีย อยู่ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา มีลักษณะเป็นกำแพงคอนกรีตเสริมลวดหนาม สูง 3 เมตร ระยะทางยาว 5.3 กิโลเมตร แต่แม้จะมีรั้วชายแดน ก็มีความพยายามเจาะรั้วเพื่อลักลอบเข้า-ออก และส่งสินค้าหนีภาษี
ประเภทที่สอง รั้วชายแดนที่สร้างโดยรัฐบาลมาเลเซียฝ่ายเดียว ในพื้นที่ของมาเลเซีย มีอยู่ 9 ช่วง รวมความยาว 105 กิโลเมตรเศษ มีลักษณะเป็นทั้งรั้วคอนกรีต, รั้วคอนกรีตเสริมลวดหนาม, รั้วลวดหนาม และรั้วตาข่าย กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ดังนี้
1.จากหลักเขตแดนที่ 1 เขาผายาว บ้านคลองกุ้ง ต.ปูยู อ.เมือง จ.สตูล ถึงหลักเขตแดนที่ B/4 คลองขุด ต.ปูยู เป็นแนวชายทะเล ลักษณะเป็นรั้วคอนกรีต ความยาวประมาณ 692 เมตร
2.บริเวณหลักเขตแดนที่ 8 ก. บ้านวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล ถึงหลักเขตแดนที่ 8ข/2 ด่านวังประจัน บ้านวังประจัน ลักษณะเป็นรั้วคอนกรีตเสริมลวดหนาม ยาวประมาณ 2.1 กิโลเมตร
3.หลักเขตแดนที่ 8D/5 บ้านตาโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ถึงหลักเขตแดนที่ 10/4 บ้านตาโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ลักษณะเป็นกำแพงคอนกรีตนทึบสูง 3 เมตร
4.หลักเขตแดนที่ 10/21 บ้านตาโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จงสงขลา ถึงหลักเขตแดนที่ 10A/4/1 บ้านตาโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ลักษณะเป็นรั้วกำแพงคอนกรีตทึบสูง 3 เมตร
5.หลักเขตแดนที่ 10A/4/3 บ้านตาโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ถึงหลักเขตแดนที่ 13/16 บ้านชายควน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร ลักษณะเป็นรั้วกำแพงคอนกรีตทึบสูง 3 เมตร
6.หลักเขตแดนที่ 15C บ้านต้นพยอม ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ถึงหลักเขตแดนที่ 26/109 บ้านห้วยตืองะ ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 56.3 กิโลเมตร ลักษณะเป็นรั้วลวดหนามเสาเหล็ก 2 ขั้น สูง 3 เมตร
7.หลักเขตแดนที่ 26/109 บ้านห้วยตืองะ ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ถึงหลักเขตแดนที่ 27/84 บ้านห้วยตืองะ ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร ลักษณะเป็นรั้วกำแพงปูนซีเมนต์ทึบสูง 3 เมตร
8.หลักเขตแดนที่ 29/105 บ้านใหม่ ต.ประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ถึงหลักเขตแดนที่ 31/16 บ้านประกอบตก ต.ประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร ลักษณะเป็นรั้วลวดตาข่าย
9.หลักเขตแดนที่ 50/120- 54/183 ด้าน อ.เบตง จ.ยะลา ลักษณะเป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กระยะทาง 14.6 กิโลเมตร สลับกับกำแพงรั้วลวดหนามแบบตาข่าย 2 ชั้น ระยะทาง 8 กิโลเมตร รวมระยะทาง 22.6 กิโลเมตร และได้ทำประตูเหล็กสำหรับผ่านเข้า- ออก จำนวน 10 ประตู เปิดได้เฉพาะทางฝั่งมาเลเซีย
รวมระยะทางของรั้วชายแดนทั้ง 10 ช่วง 110.992 กิโลเมตร
อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า แม้จะมีรั้วชายแดน แต่ก็ยังมีความพยายาม “เจาะรั้ว” เพื่อลักลอบเข้าเมืองและส่งสินค้าหนีภาษีจนได้ ขณะที่ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้าน ได้หยิบยกประเด็น “รั้วชายแดน” ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอก่อสร้างบริเวณ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ใช้งบประมาณราวๆ 600 ล้านบาท มาคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วย และขู่จะตัดงบในส่วนนี้ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยอ้างเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ของพี่น้องมลายูสองประเทศ และการค้าชายแดน
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่า ชายแดนด้านนี้มีการลักลอบข้ามฝั่งมาจำนวนมาก ทั้งหนีโควิด และลำเลียงยุทโธปกรณ์เข้ามาก่อเหตุรุนแรง
จึงถือเป็นโจทย์ข้อยากที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันชั่งน้ำหนักและตัดสินใจ!