มีข่าวเล็กๆ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งผมอยากนำมาบันทึกไว้
เป็นข้อมูลที่ผมเห็นว่า ”สำคัญมาก” ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดในบ้านเรา โดยเฉพาะ 13 จังหวัด “พื้นที่สีแดงเข้ม” ท่ามกลางกระแสการด้อยค่าวัคซีนบางยี่ห้อ โดยเฉพาะ “ซิโนแวค”
ขณะที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเหตุปัจจัยบางอย่างมาจากเรื่องความคิดความเชื่อของพี่น้องปลายด้ามขวานด้วย
ฉะนั้นเมื่อเรื่องของความคิดความเชื่อ มาผนวกรวมกับกระแสด้อยค่าวัคซีน ยิ่งทำให้คนที่เต็มใจ พร้อมใจไปฉีด ยิ่งมีน้อย
เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลจาก ทันตแพทย์สมฤทธิ์ จิโรจน์วณิชชากร ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ซึ่งทำหน้าที่โฆษกศูนย์สื่อสารสถานการณ์โควิดจังหวัดปัตตานี โดยคุณหมอให้ข้อมูลที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า “สำคัญมากๆ”
คุณหมอสมฤทธิ์ บอกว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิดของ จ.ปัตตานี ส่วนใหญ่เป็น "กลุ่มสูงอายุ" มีอายุเฉลี่ย 68 ปี ที่น่าสนใจก็คือ มีกลุ่มอายุ 30, 40 ปีเสียชีวิตด้วย จึงอย่าชะล่าใจว่า โควิดรุนแรงเฉพาะในกลุ่มอาวุโสสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่ากังวล
และเกือบ 100% ของกลุ่มผู้เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน...ตรงนี้ต้องขีดเส้นใต้สองเส้น
คุณหมอสมฤทธิ์ บอกต่อว่า ข้อมูลของปัตตานี อธิบายตามหลักสถิติได้ดังนี้
ใน 74 รายที่เสียชีวิต (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค.64 ปัจจุบันเกินร้อยไปแล้ว) มีกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 48 ราย มีกลุ่มที่เป็นผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 45 ราย (บางรายสูงอายุด้วย และมีโรคเรื้อรังด้วย จึงนับทั้ง 2 กลุ่ม)
ทั้งหมดที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 71 ราย (จากทั้งหมด 74 ราย) แปลว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตของปัตตานี เกินร้อยละ 95 มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว 7 โรค รวมถึงไม่ได้รับวัคซีน
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเช่นเดียวกัน ก็คือ คุณหมอสมฤทธิ์ บอกว่า สายพันธุ์ไวรัสโควิดที่พบในผู้เสียชีวิตของปัตตานี เป็น อัลฟ่า 80% เบต้า 15% และเดลต้า 5% ดังนั้นทุกสายพันธุ์ทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่ยังคงเป็น อัลฟ่า 80-90%
ฉะนั้นขอให้กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รีบเข้ามารับวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด วัคซีนชนิดใดก็ได้ ขอให้เข้ามาฉีดก่อน ถือว่าใส่เกราะกันไว้ก่อน
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลสำคัญที่บอกกับเราว่า...
1.ประเทศไทยไม่ได้มีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าทุกพื้นที่ แต่หลายๆ พื้นที่ยังมีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่าอยู่
2.วัคซีนซิโนแวค ที่บางฝ่ายพยายามด้อยค่านั้น จริงๆ แล้วมีข้อมูลทางวิชาการรองรับชัดเจนว่า มีประสิทธิผลสูงในการป้องกันการแพร่ระบาดสายพันธุ์อัลฟ่า ตลอดจนการลดอัตราเสี่ยงของอาการป่วยหนักและเสียชีวิต
ส่วนไวรัสกลายพันธุ์ ซิโนแวคก็ยังป้องกันได้ แม้ประสิทธิผลจะต่ำกว่าวัคซีนแบบ mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นาก็ตาม
3.เมื่อในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ อย่างเช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าอยู่ ซึ่งวัคซีนซิโนแวครับมือได้ดีแน่นอน ไม่มีใครเถียง ฉะนั้นรัฐบาลก็ควรบริหารจัดการวัคซีน ด้วยการกระจายวัคซีนซิโนแวคมายังพื้นที่เหล่านี้ และระดมฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและอัตราการตาย
เพราะต้องไม่ลืมข้อมูลจากคุณหมอที่ว่า ผู้เสียชีวิตถึง 95% ยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดใดเลย
มีความเห็นที่สามารถนำมายืนยันเรื่องนี้ได้ เป็นความเห็นจาก นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ หรือ “หมอแก้ว” ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่พูดถึงการนำความเห็นทางสาธารณสุขไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง
“เช่น ตอนนี้ใครพูดเชียร์วัคซีนซิโนแวค ก็จะโดนถล่มในโซเชียลฯ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านโดนไปหนักมาก ทั้งที่จริงๆ วัคซีนซิโนแวคไม่ได้แย่ แต่ตอนนี้กลายเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนตัวอื่น ทั้งที่เราสามารถนำวัคซีนซิโนแวคมาฉีดได้ ถือเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นมากจนเกินไป”
ข้อมูลในมุมที่พอจะเป็นเหตุเป็นผลเหล่านี้ เมื่อถูกนำมาพูดถึงในช่วงที่กระแสด้อยค่าและตื่นกลัววัคซีนบางยี่ห้อแพร่ไปไกลแล้ว ก็ยากที่จะดึงกระแสให้ย้อนกลับมาเพื่อรีเซ็ตใหม่ได้ โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียครอบงำชีวิตผู้คน
อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร วิเคราะห์กระแสด้อยค่าวัคซีนโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือว่า การวิจารณ์เรื่องวัคซีนเกิดขึ้นค่อนข้างมากบนโลกออนไลน์ ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์และจากคนทั่วไปที่ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งมีทั้งตำหนิการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน และคุณภาพของวัคซีน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาวิจารณ์เรื่องคุณภาพวัคซีนจากคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องวัคซีนนั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องแปลกและเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อการรับรู้ของผู้คน แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งออกมาให้ความเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนอยู่เกือบทุกวัน ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า...
1.คนกลุ่มหนึ่งไม่ได้มีความรู้ใดๆ เลยเกี่ยวกับวัคซีน แต่ต้องการแสดงภูมิปัญญาเกี่ยวกับปัญหาวัคซีนจากความเข้าใจผสมกับความเห็นที่ตัวเองมีอยู่ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ตระหนักเลยว่า การเผยแพร่สิ่งที่ตนเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับวัคซีนโควิดในทางสื่อสารธารณะโดยไม่ได้อ้างแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ จะส่งผลกระทบแก่บุคคลอื่นที่กำลังต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนเพื่อการป้องกันตนเองยามวิกฤติมากมายขนาดไหน
2.ผู้คนมักไม่ได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนจากแหล่งต้นตอของข้อมูลข่าวสาร และไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับวัคซีน แต่ได้รับข่าวสารที่มีการสร้างขึ้นจากบุคคลอื่นด้วยเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีการส่งต่อ ดัดแปลงแก้ไข หรือแม้แต่ทำขึ้นใหม่ ทำให้ไม่รู้ว่าข้อมูลใดจริง ข้อมูลใดเท็จ และทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนกลายเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อไปแล้ว เพราะความต้านทานต่อความเชื่อต่อข้อมูลของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน รวมทั้งผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม หรือเป็นบุคคลที่ตัวเองเชื่อถือและติดตาม
3.ความมีอคติแต่เดิมต่อวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งของคนบางกลุ่ม หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง โดยไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริง ทำให้มีการด้อยค่าวัคซีน เยาะเย้ยวัคซีนบางยี่ห้อ แต่สนับสนุนวัคซีนบางยี่ห้อ ตามความเชื่อหรือข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ และต้องการแสดงออกให้สาธารณะรับทราบ
4.มีความเป็นไปได้ที่การแสดงความเห็นเกี่ยวกับวัคซีนไม่ได้เกิดจากความต้องการของตัวเองตั้งแต่ต้น แต่แรงกดดันทางสังคมจากคนในกลุ่มหรืออาชีพเดียวกันมีส่วนทำให้คนบางคนต้องแสดงออกในทิศทางเดียวกับกลุ่มของตนเองต้องการ ทั้งๆ ที่ความเชื่อหรือความเห็นของตัวเองไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะต้องแสดงความเห็นเกี่ยวกับวัคซีนบนโลกออนไลน์ด้วยซ้ำไป
5.เกิดการสร้างและส่งต่อข้อมูลจากพวกป่วนเว็บ ซึ่งไม่สนใจว่าผู้ที่จะได้รับข้อมูลจะได้รับผลกระทบเพียงใด ขอให้ตนเองได้รับความสะใจจากความสูญเสียของผู้คนก็ถือว่างานของตัวเองสำเร็จ
การส่งต่อกันของข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนจากคนหนึ่งไปยังคนหลายๆ คน และการโต้ตอบกันไปมาบนโลกโซเชียลฯ (Information Cascading) ทั้งจากบุคคลเองและจากการชี้นำของอัลกอริทึม อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้ผู้คนเกิดความสับสนอย่างน้อยที่สุด 2 ประการ คือ
- การสูญเสียของบริบท(Context collapse)
- ความยากที่จะแยกความจริงออกจากการเหน็บแนม เสียดสี เย้ยหยัน ตามกฎของโพ (Poe’s law)
ปฏิกิริยาทั้งสองสามารถพบเห็นได้ในบางสถานการณ์ และสถานการณ์การส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนคือหนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ และสร้างความสับสนต่อผู้รับข้อมูลข่าวสาร และอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดเกี่ยวกับการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันตัวเอง
โดยอาจนำไปสู่การต่อต้านหรือความลังเลต่อการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจนำมาซึ่งการแพร่กระจายของโรคที่กว้างขวาง ภาวะเจ็บป่วยที่รุนแรง และสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตผู้คนในที่สุด