การไลฟ์สดของ คุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกรโทรทัศน์ชื่อดัง และผู้ก่อตั้งเวทีประกวดมิสแกรนด์ กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่สร้างกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์
พฤติกรรมและการแสดงออกของคุณณวัฒน์ มีประเด็นที่น่าศึกษาต่อยอดไปหลายประเด็น ทั้งการสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์, การเสพติดโซเชียลมีเดีย, การ call out และรวมไปถึงท่าทีของภาครัฐเมื่อถูก call out
พันธศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร วิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
@@ การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์ :
"มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการแสดงออกสิ่งที่อยู่ในใจของตนเองบางเรื่องให้สังคมได้รับรู้อยู่เสมอ และสมองของมนุษย์มีการประมวลผลจากสัญญาณทางสังคมจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียช่วยให้มนุษย์สามารถทำในสิ่งที่ต้องการจะแสดงออกที่ไม่สามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
โซเชียลมีเดียทำให้มนุษย์สามารถแสดงออกถึงความคิดและความเห็นของตัวเอง สามารถรับรู้ความรู้สึกและความคิดของผู้คนรอบข้าง รวมทั้งตอบโต้ต่อสิ่งที่ได้อ่านหรือมองเห็นบนโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องง้อสื่อกระแสหลัก
โซเชียลมีเดียเป็นโลกเสมือนที่มนุษย์เข้าไปหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ กัน ความเป็นโลกเสมือนของโซเชียลมีเดียจึงทำให้ผู้คนแสดงออกอย่างหลากหลาย และมีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะ "สูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์" (Online disinhibition effect) ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย การแสดงออกที่เกินความพอดีจึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยถูกตำหนิจากการแสดงความคิดเห็น ถูกคว่ำบาตร หรือแม้กระทั่งถูกดำเนินคดีจากการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป
การถูกเร่งเร้าด้วยอารมณ์จากเหตุการณ์ความตึงเครียด หรือการปลุกเร้าผ่านโซเชียลมีเดีย อาจเป็นปัจจัยให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจทลายกำแพงแห่งความยับยั้งชั่งใจเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันทางสังคมภายในกลุ่มตนเอง และแสดงออกถึงความเป็นพวกพ้องร่วมแนวความคิดหรือเทรนด์เดียวกัน จนลืมคิดไปว่า "อินเทอร์เน็ต" คือเครื่องถ่ายเอกสารที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลที่สามารถบันทึกอดีตที่ไม่อยากจดจำเอาไว้ได้นานเท่านาน และในวันข้างหน้าอดีตเหล่านี้อาจกลับมาหลอกหลอนผู้กระทำได้เสมอ และมักจะเกิดขึ้นในวันสำคัญที่สุดในชีวิตของบางคน ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว"
@@ เสพติดโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ :
"โลกนี้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียราว 4,480 ล้านคน หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก
Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด และประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่มีบัญชีโซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลก
โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยและคนทั้งโลกที่แทบจะอยู่ไม่ได้หากขาดโซเชียลมีเดีย การที่ผู้คนเสพติดโซเชียลมีเดียจนโงหัวไม่ขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เป็นการออกแบบอย่างแยบยลของนักเทคโนโลยีมาตั้งแต่เริ่มต้น
นักเทคโนโลยีรู้ดีว่า ยิ่งทำให้ผู้คนเสพติดและซึมซับในเทคโนโลยีมากเท่าใด ยิ่งเพิ่มเงินในกระเป๋าของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น ครั้งหนึ่งอดีตผู้บริหารโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งเคยยอมรับว่า เขาหาประโยชน์จาก "ความอ่อนไหว" ทางจิตวิทยาของมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้าง "ความเติบโต ความผูกพัน และผลกำไร" ให้กับบริษัท
เขาเปิดเผยว่า ความลับที่เขาทำให้ผู้คนใช้เวลาและจดจ่ออยู่กับหน้าจอนานที่สุด คือการกระตุ้นให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้รับ "สารโดพามีน" (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ให้มนุษย์รู้สึกได้รับความตื่นเต้นและพึงพอใจ
การกระตุ้นให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีการหลั่ง "สารโดพามีน" เล็กน้อยในสมองด้วยสัญญาณบางอย่างจากโซเชียลมีเดียผ่านโซเชียลมีเดีย คือความรู้สึกถึงการได้รับรางวัล จนทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมต้องหันเข้าหาโทรศัพท์เกือบตลอดเวลาอย่างไร้เหตุผล เพราะมีความคาดหวังจากรางวัลที่โทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียจะมอบให้ในครั้งต่อๆ ไปนั่นเอง
บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงใช้กระบวนการทางจิตวิทยาเพื่อแปรเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์เป็นผลกำไร และชักจูงผู้คนให้เข้าไปสู่วงจรการเสพติดทางพฤติกรรมแทบทั้งสิ้น
การโน้มน้าวโดยการใช้วิทยาการทางคอมพิวเตอร์และจิตวิทยาที่เรียกกันว่า "แคปโตโลยี" (Captology) เพื่อควบคุมปริมาณการหลั่งสารเคมีในสมองของมนุษย์ (Brain hacking) จึงไม่ต่างจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของบรรดาเหล่าแฮกเกอร์ เราจึงเห็นผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนจำนวนหนึ่งในเมืองไทยใช้โซเชียลมีเดียกันแทบจะทุกนาทีเพื่อการแสดงออกด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน เพราะพวกเขาได้รับการกระตุ้นด้วยขั้นตอนทางจิตวิทยาของโซเชียลมีเดียนั่นเอง
นอกจากนี้เรามักจะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลมีเดียนั้น เป็นไปอย่างที่เราคิดหรือกลุ่มของตัวเองคิด เพราะอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียมักจะนำสิ่งที่เราอยากรู้มาให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความจริงถูกเบี่ยงเบนไป เพราะความเชื่อจากการปั่นกระแสของอัลกอริทึม"
@@ การแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย :
"ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนสามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ค่อนข้างเสรี แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งมีฟังก์ชั่นที่ถูกจริตของคนไทยและได้รับความนิยมมาตลอดช่วงหลายปี ในขณะที่โซเชียลมีเดียจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้รับความนิยม และค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย
เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนเข้าไปสัมผัสกับโซเชียลมีเดีย คนเหล่านั้นมักจะแสดงออกถึงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับทฤษฎีทางจิตวิทยาเสมอ ทฤษฎีจิตวิทยาจึงช่วยให้มนุษย์เข้าใจทั้งตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริงและตัวตนในโลกของโซเชียลมีเดีย
เมื่อใดก็ตามที่เราแสดงตัวตนของเราบน Facebook Snapchat หรือ Line เพื่อติดต่อกับคนที่เรารู้จักในโลกแห่งความเป็นจริง แสดงว่าเรากำลังแสดงตัวตนว่าเราอยู่ในส่วนของบุคลิกภาพแบบหนึ่ง การแสดงออกบนพื้นที่ของโซเชียลมีเดียประเภทนี้จึงสะท้อนถึงตัวตนของเราในโลกแห่งความจริงที่มีข้อจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม และรู้ว่าการแสดงออกแบบใดจะได้รับดอกไม้เป็นรางวัล และการแสดงออกแบบใดจะได้รับก้อนอิฐจากสังคม
เมื่อเราเข้าไปอยู่ในโลกของ Instagram Twitter และ Tik Tok ไม่เพียงแต่เราจะพบปะกับผู้ที่เคยรู้จักในโลกแห่งความจริงเท่านั้น แต่เรายังมีโอกาสที่จะพบปะผู้คนทั้งโลกที่เราไม่รู้จักอีกด้วย โลกของโซเชียลมีเดียประเภทนี้จึงเป็นโลกที่เราอาจแสดงตัวตนของเราอย่างที่อยู่ในโลกความจริงกับคนที่เรารู้จัก หรือบางครั้งอาจแสดงออกถึงตัวตนในความฝันหรือในอุดมคติที่เราอยากจะเป็น ด้วยความสามารถของเครื่องมือที่โซเชียลมีเดียจัดให้
เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดียประเภท Reddit Tumblr 4Chan ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียมักตัดตัวเองออกจากโลกแห่งความจริง เท่ากับว่าเรากำลังเข้าไปอยู่ในพื้นที่จำกัดเฉพาะกลุ่มคน เราจึงสามารถแสดงความเห็นในเรื่องต้องห้ามบนแพลตฟอร์มอื่นบนแพลตฟอร์มประเภทนี้ได้ เราจึงมีอิสระในการตั้งคำถามในสิ่งที่อยากรู้อยากเห็น เราอาจค้นหาเรื่องตลกขบขัน ตื่นเต้นเร้าใจที่มักไม่คุยกันในพื้นที่อื่น เราอาจค้นหาเรื่องที่มีคนสนใจร่วมกับเรา ค้นหาสิ่งใหม่ๆ หรือแนวคิดที่แตกต่าง ฯลฯ เราจึงอยู่ในพื้นที่ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ความกระหายต่อความรู้ใหม่ (Epistemic curiosity)ที่อาจไม่สามารถพบได้บนแพลตฟอร์มแบบอื่น
การแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและกฎเกณฑ์ของแพลตฟอร์มนั้น รวมทั้งกฎหมายของแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันว่าการแสดงออกผ่านช่องทางใดๆ ก็ตาม หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย หากเป็นการติชมโดยสุจริตและสร้างสรรค์ การ Call out ต่างๆ ย่อมสามารถกระทำได้ แต่หากมีการโจมตีในลักษณะสร้างความเสียหายแก่บุคคล อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือถูกตำหนิและประณามได้
ดังนั้นการแสดงความเห็นในโลกโซเชียล นอกจากต้องคำนึงถึงกฎหมายแล้ว ความรู้จักกาลเทศะก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หลายต่อหลายเรื่องสามารถตัดสินโดยใช้กฎหมาย และหลายต่อหลายเรื่องบนโลกโซเชียลมีเดียต้องใช้มาตรฐานทางสังคม (Social norm) เป็นเกณฑ์ตัดสิน"
@@ การโต้ตอบจากภาครัฐ :
ในช่วงเวลาวิกฤติ มีข่าวสารมากมายพรั่งพรูออกมาจากทั้งบุคคล กลุ่มคน องค์กร ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ต่อ ขยายความ หรือดัดแปลงจนแทบไม่เหลือเค้าของความจริงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นในโลกออนไลน์ สิ่งที่เราได้เห็น อ่าน หรือได้ยิน อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป หากไม่ได้สืบค้นไปถึงที่มาของข่าวสาร
การปล่อยข่าวบิดเบือน ข่าวเท็จ การโจมตีส่วนบุคคลในช่วงเวลาคับขันบนสื่อโซเชียลฯ หลายต่อหลายเรื่องรัฐสามารถตัดสินโดยใช้กฎหมายที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม การแสดงออกถึงการวิจารณ์การทำงานของรัฐบนโลกโซเชียลมีเดียที่มิได้เข้าเข้าทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง หรือซ้ำเติมวิกฤติของประเทศ อาจต้องใช้เทคนิคการโต้ตอบหรือใช้ "เครื่องมือชนิดเบา" ที่ไม่ทำให้ผู้แสดงความเห็นรู้สึกว่าถูกคุกคามจนเกินไป เช่น การให้ข้อมูลหักล้าง หรือแม้แต่คำเตือนในลักษณะที่ไม่ก้าวร้าวจนเกินไป ฯลฯ เพื่อประคองไม่ให้สถานการณ์ทางการข่าวของประเทศตกอยู่ในภาวะที่เกิดความสับสนมากจนเกินจำเป็น