ยังคงมีประเด็นต่อเนื่องเกี่ยวกับงบประมาณของกองทัพเรือ ประจำปี 2565 โดยเฉพาะโครงการจัดหา “เรือดำน้ำ” ลำที่ 2 และ 3
เพราะแม้ “ลูกประดู่” จะถอนโครงการออกจากแผนงบประมาณไปแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีงบที่เกี่ยวข้องอีก 11 รายการ รวมงบประมาณอีกเกือบๆ 9 พันล้านบาทที่ยังคงอยู่
ก่อนหน้านี้ “ทีมข่าวอิศรา” รายงานข้อมูลไปบางส่วน โดยดึงเฉพาะโครงการเด่นๆ มา 5 โครงการ แต่จริงๆ แล้วมี 11 โครงการ โดยโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ แม้กองทัพเรือจะถอนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ไปแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยได้ซื้อเรือดำน้ำลำแรกมาเรียบร้อย จ่ายเงินไปน่าจะครบแล้ว ประมาณ 13,000 ล้านบาท จะได้เรือในปี 2567 จึงต้องเตรียมก่อสร้างและจัดซื้อระบบต่างๆ ไว้รองรับ
และนั่นก็คือที่มาของทั้ง 11 โครงการที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำมาแจกแจงให้เห็นกันชัดๆ
1 และ 2 ท่าจอดเรือดำน้ำและอาคารสนับสนุน ที่ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ระยะที่ 1 กับอีกโครงการเป็นระยะที่ 2 งบประมาณ 900 ล้านบาท กับ 950 ล้านบาท
3.โรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ 995 ล้านบาท
4.คลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่มระเบิดสนับสนุน (เพราะเรือดำน้ำ มีอาวุธที่เป็นเขี้ยวเล็บของเรือ คือ อาวุธปล่อยนำวิถี และตอร์ปิโด) งบประมาณ 130 ล้านบาท
5.อาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี งบประมาณ 138 ล้านบาท
6 และ 7 โครงการผลิตแผนที่เรือดำน้ำและระบบแสดงข้อมูลข่าวสารกรองทางอุทกศาสตร์ (เป็นโครงการเกี่ยวกับกระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลง และอื่นๆ) งบ 66.12 ล้าน และ 199 ล้านบาท
8.เรีอลากจูงขนาดกลาง 366.50 ล้านบาท
9.อาคารพักข้าราชการ กองเรือดำน้ำ 294 ล้านบาท
10.เรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบก สนับสนุนเรือดำน้ำ 4,385 ล้านบาท
และ 11.ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท
รวมทั้งหมด 11 รายการ 8,723.62 ล้านบาท
นี่คือโครงการที่ต้องมี เพราะเราซื้อเรือดำน้ำมาแล้ว 1 ลำ ส่วนอีก 2 ลำแม้จะถูกถอนไป หรือเลื่อนออกไปก่อนเพราะโควิด แต่ก็ต้องเดินหน้าทั้ง 11 โครงการต่อไป
ที่สำคัญ งบก้อนนี้ไม่ได้รวมกับงบตัวเรือดำน้ำ ลำแรกที่จ่ายไปแล้ว 12,424 ล้านบาท (ยังไม่แน่ชัดว่าครบหรือยัง เพราะตอนที่มีการประกาศราคากลาง อยู่ที่ 13,500 ล้านบาท) และอีก 2 ลำที่เหลือ งบประมาณ 34,924 ล้านบาท
รวมทั้งหมด ทั้งโครงการ เรือดำน้ำ 3 ลำ และโครงการก่อสร้าง จัดซื้อระบบเพื่อรองรับเรือดำน้ำ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 43,647.62 ล้านบาท
ต้องไม่ลืมว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เป็นการจัดซื้อจากจีน เป็นเรือดำน้ำ “หยวนคลาส” รหัส S26 T โดย T คือไทยแลนด์ ที่กองทัพเรือบอกว่า จีนออกแบบให้เป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย
โครงการนี้ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่แรก เพราะเอกสารโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ต้องการจัดหา 2 ลำเท่านั้น ในกรอบงบประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งก็มี 6 ประเทศเสนอโครงการเข้ามา โดยมีหลายประเทศน่าสนใจ และน่าจะเป็นเรือดำน้ำคุณภาพจากชาติที่เป็นเจ้าแห่งเรือดำน้ำ เช่น สวีเดน เยอรมนี เป็นต้น
แต่สุดท้ายกองทัพเรือไทยเลือก เรือดำน้ำจีน หยวนคลาส S26 T โดยข้อเสนอที่คลุมเครือในลักษณะ ซื้อ 2 แถม 1 เพราะได้ถึง 3 ลำ ภายใต้กรอบงบประมาณเท่าเดิม จุดนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามว่า เอกสารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระบุชัดเจนว่าต้องการ 2 ลำ ไม่ใช่ “อย่างน้อย 2 ลำ” การเสนอเหมา 3 ลำ แบบซื้อ 2 แถม 1 ถือว่าเป็นธรรมกับผู้เสนอราคารายอื่นหรือไม่ และมีความโปร่งใสแค่ไหน
@@ ทร.ย้ำถอนเรือดำน้ำแล้ว แต่โครงการอื่นยังจำเป็น
สำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ และโครงการอื่นๆ ที่เตรียมไว้รองรับอีก 11 รายการ มีคำชี้แจงเหตุผลความจำเป็นจากกองทัพเรือ
พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ อธิบายว่า กองทัพเรือเข้าใจดีว่าประเทศมีภาระด้านงบประมาณที่จะต้องรับมือโควิด จึงได้ขอเลื่อนโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ออกไปก่อน แต่ในส่วนของยุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่เหลือ ยังคงมีความจำเป็น เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้การปฏิบัติงานในทะเล เพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติทางทะเล มีประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายอย่าได้นำการทำหน้าที่และความจำเป็นเหล่านี้ไปสร้างความเข้าใจที่ผิด หรือสร้างความแตกแยกในสังคม เพราะความจำเป็นดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานที่ไม่กระทบต่อภาระจำเป็นที่มีอยู่ หากทุกฝ่ายได้พิจารณารายละเอียดด้วยเหตุและผล มีความเป็นธรรมจากจิตใจ
สำหรับแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์รายการต่างๆ ในภาพรวมของกองทัพเรือ ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยละเอียด ถูกต้อง รอบคอบ เปิดเผย และเป็นไปตามแนวคิดที่มีความจำเป็นตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือในการป้องกันประเทศและอธิปไตยทางทะเล การรักษาความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย
ทั้งนี้ กองทัพเรือต้องรับผิดชอบพื้นที่สองฝั่งทะเล อาณาเขตทางทะเลประมาณ 323,388 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบกที่มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร จึงต้องจัดกำลังทางเรือและอากาศยาน ปฏิบัติการในพื้นที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพื่อลาดตระเวนเฝ้าตรวจ รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนในทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ในทะเล จะทำให้เรือและอากาศยานสามารถปฏิบัติการได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนั้นยังมีการชี้แจงเกี่ยวกับการใช้ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ UAV ที่ถูกฝ่ายการเมืองโจมตีว่าใช้งบซื้อโดรนสำรวจชายฝั่งกว่า 4,000 ล้านบาทด้วย โดยโฆษกกองทัพเรือบอกว่า การจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ ก็เพื่อสนับสนุนภารกิจการลาดตระเวนตรวจการณ์ของเรือรบและอากาศยานที่มีนักบิน ทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถเข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปฏิบัติการบนอากาศได้อย่างยาวนานมากยิ่งขึ้น และช่วยประหยัดงบประมาณ รวมทั้งยังเป็นการใช้บุคลากรที่เป็นนักบิน ช่างเครื่อง และสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่าอากาศยานที่ใช้นักบินด้วย
----------------------------
ภาพประกอบจากเพจ Submarine Squadron (กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ)